ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กูปรี สัตว์ป่าหายากของไทย สูญพันธุ์ไปแล้วหลายสิบปี สาเหตุเพราะอะไร?
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนสารคดีระดับแนวหน้าของไทย เล่าในหนังสือ “The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก กั้นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น กระทิง เสือลายเมฆ ฯลฯ
รวมทั้ง กูปรี สัตว์ป่าหายาก ซึ่งมีอีกชื่อว่า “โคไพร”

กูปรี (Kouprey) เป็นสัตว์กีบคู่ มีขนาดตัวโต โคนขาใหญ่ มีความสูงราว 1.71-1.90 เมตร ขนาดลำตัววัดได้ราว 2.10-2.22 เมตร มีน้ำหนักตัวราว 680-910 กิโลกรัม ตัวผู้มีขนสีดำ เขาของตัวผู้จะโค้งเป็นวงกว้างแล้วตีวงโค้งไปข้างหน้า ปลายเขาแตกออกเป็นพู่คล้ายเส้นไม้กวาดแข็ง ส่วนตัวเมียมีขนสีเทา มีเขาตีวงแคบแล้วม้วนขึ้นด้านบน ไม่มีพู่ที่ปลายเขา
กูปรีเป็นสัตว์ป่าที่มีถิ่นกำเนิดอยู่เฉพาะในประเทศกัมพูชา ไทย ลาว และเวียดนาม คาดว่าเมื่อ 100 กว่าปีก่อน มีจำนวนกูปรีอยู่ราว 2,000 ตัว ในไทยพบกูปรีบริเวณชายแดนไทย กัมพูชา และลาว ซึ่งกูปรีมักเดินหากินในป่าที่มีอาณาเขตติดต่อกันตามป่าโปร่งที่มีทุ่งหญ้าสลับป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง

นพ.บุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ธรรมชาติ บันทึกว่าเมื่อ พ.ศ. 2488 เคยพบฝูงกูปรีในพื้นที่แถบเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยระบุว่า
“ในภาคอีสานเคยมีกูปรีมาแล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เมื่อสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทางทิศใต้ของขุขันธ์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ก็ยังมีฝูงกูปรีเป็นฝูงๆ ฝูงสุดท้ายที่จะหมดสิ้นแผ่นดินไทยก็คือฝูงที่ป่าดงอีจาน อำเภอนางรอง ในปี พ.ศ. 2491 อีก 6 ตัว”
วันชัยเล่าในหนังสืออีกว่า เมื่อมีโอกาสเดินป่ากับชาวบ้านซำหวาย อำเภอน้ำยืน เขาได้สอบถามชาวบ้านว่าเคยมีใครได้ยินเรื่องราวของกูปรีในพื้นที่บ้างหรือไม่ ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า เมื่อครั้งยังเด็กเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านเล่าให้ฟังว่า เวลาเข้าป่าบนเทือกเขาพนมดงรักเคยเห็นตัวกูปรี แต่พรานเหล่านี้เสียชีวิตไปนานแล้ว
แม้กูปรีจะไม่ค่อยออกมาให้ใครได้พบเห็น แต่ใน พ.ศ. 2525 มีข่าวพรานท้องถิ่นพบฝูงกูปรีเข้ามาหากินในผืนป่าพนมดงรัก เมื่อสอบถามถึงลักษณะรูปร่าง พบว่าตรงตามลักษณะของกูปรี กรมป่าไม้จึงร่วมทำแผนติดตาม ยิงยาสลบ และประสานทหารเตรียมขนย้ายกูปรีด้วยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์
ทว่าภารกิจกลับไม่สำเร็จ เนื่องจากคณะติดตามเหยียบกับระเบิดที่ชายแดน ทำให้ระหว่างนั้นฝูงกูปรีได้กลับลงไปฝั่งกัมพูชา
“ต่อมา เกิดสงครามในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีการตัดถนน ล่าสัตว์ และวางกับระเบิดจำนวนนับล้านๆ ลูกฝังอยู่บริเวณชายแดน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กูปรีก็ค่อยๆ หายไปจนไม่มีผู้พบเห็นเป็นหลักฐานยืนยันอีกเลย” วันชัยบอก แล้วให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
ปัจจุบัน นอกจากกูปรีจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากป่าของไทย ในรายงานของ The International Union for Conservation of Nature (IUCN) หรือองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ยังระบุว่า กูปรีสูญพันธุ์ไปแล้วในเวียดนาม ส่วนลาวและกัมพูชาที่เคยระบุว่า เมื่อ 50 ปีก่อนเคยมีกูปรีอยู่ราว 50 ตัว ก็คาดการณ์กันว่าพวกมันอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว หลงเหลือเป็นแค่สัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติกัมพูชาเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “สมัน” สูญพันธุ์จากโลก เหตุเพราะขุด “คลองรังสิต” กินพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่
- ทำไมต้องโยนไม้ขีดไฟให้เสือสมิง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2568.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2568