“พระสัมพุทธพรรณี” พระพุทธรูปองค์แรกของธรรมยุติกนิกาย ร.4 ต่างจากมหานิกายอย่างไร

พระสัมพุทธพรรณี
พระสัมพุทธพรรณี เมื่อครั้งประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊คพิกุลบรรณาศาลา www.facebook.com/Pikullibrary)

พระสัมพุทธพรรณี เป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาธรรมยุติกนิกายใน พ.ศ. 2373 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดํารงพระสมณศักดิ์เป็นวชิรญาณภิกขุ เจ้าอาวาสวัดสมอราย (วัดราชาธิวาสวิหาร) 

ที่มาพระพุทธรูป

การสร้างพระพุทธรูปนี้ เลียนแบบมาจากพระพุทธปฏิมาของลังกาที่นิยมสร้างประทับขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ แต่ต่างกันตรงที่ไม่มีพระเมาลี (ผมมวย) ไม่มีอุษณีษะ (กะโหลกที่นูนขึ้นมา) ไม่มีพระเกตุมาลา (พระรัศมีที่เปล่งประกายเหนือพระเศียร)

เรื่องนี้ปรากฏใน “สาส์นสมเด็จ” ตอนหนึ่งที่ว่าเหตุใดจึงไม่มีพระเกตุมาลาว่า “…ไม่โปรดจะให้มีพระเกตุมาลาด้วยพระอรรถกถาจารย์หรืออะไรอธิบายไว้ว่า พระเกตุมาลานั้นเกิดขึ้นด้วยอำนาจทรงสมาธิ อาจจะกลั้นหายใจลมจึงดันขึ้นเบื้องบนทำให้มีพระเกตุมาลา ทูลกระหม่อมตรัสว่าหัวเป็นปุ่มก็ไปเข้ากับลักษณะบุรุษโทษ…”

พระสัมพุทธพรรณี
ทรงพระรัศมีแก้วสีน้ำเงินสำหรับฤดูฝน (ที่มา.ฐานข้อมูลศิลปกรรมในประเทศไทย ผู้ถ่ายภาพ : ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ภาพจาก เพจเฟซบุ๊คพิกุลบรรณาศาลา www.facebook.com/Pikullibrary)

ส่วนที่เห็นในปัจจุบันนั้น รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ แปลงเสียใหม่ แล้วทำพระรัศมีขึ้น 4 องค์ ทำด้วยทอง, นาก, แก้วสีขาว และแก้วสีน้ำเงิน สำหรับเปลี่ยนตามฤดูกาล เช่นเดียวกับพระแก้วมรกต คือรัศมีทองสำหรับฤดูร้อน, นากหรือแก้วสีขาวสำหรับฤดูหนาว และแก้วสีน้ำเงินสำหรับฤดูฝน

องค์จริง-องค์จำลอง

พระพุทธรูปองค์นี้มีการหล่อจำลองขึ้นภายหลัง แล้วองค์จริงกับองค์จำลองมีส่วนใดที่เชื่อมโยงกันหรือต่างกันบ้าง

“องค์จริง” บรรจุ “ดวงพระชนม์พรรษา” และ “พระสุพรรณบัตร” ของรัชกาลที่ 4 ไว้ในพระพุทธรูป ดังความตอนหนึ่งใน “หมายกำหนดการพระราชพิธีหล่อจำลองพระสัมพุทธพรรณี พระราชกุศลอภิลักขิตสมัยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานกฐินวัดราชาธิวาศ รัตนโกสินทรศก 127 เดือนตุลาคม” ว่า

“…[รัชกาลที่ 5] ทรงรำพึงถึงพระสัมพุทธพรรณี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างที่วัดราชาธิวาศ เมื่อยังทรงผนวชอยู่ ได้บรรจุดวงพระชนม์พรรษาและพระสุพรรณบัตร…”

พระสัมพุทธพรรณี
(ซ้าย) องค์จริง (ขวา) องค์จำลอง (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊คพิกุลบรรณาศาลา www.facebook.com/Pikullibrary)

ส่วน “องค์จำลอง” ที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างนั้น ทรงกำหนดให้ประกอบพระราชพิธีที่วัดราชาธิวาส ที่รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งผนวชทรงเคยจำพรรษาอยู่ กำหนดเททองพระพุทธองค์จำลองในวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 4 และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายรัชกาลที่ 4, ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันออกพรรษา และพระราชทานกฐินวัดราชาธิวาส

พระพุทธรูปธรรมยุติกนิกาย

ความเคร่งครัดในทางวัตรปฏิบัติ ส่งผลให้พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในธรรมยุติกนิกายเป็นไปตามวัตรปฏิบัติของพระภิกษุธรรมยุติกนิกาย เช่น การครองจีวรห่มคลุม และครองจีวรห่มดอง พาดสังฆาฏิ รวมทั้งการถือบาตร

ภายในพระอุโบสถ วัดราชาธิวาสวิหาร (ภาพโดย : วรวิทย์ พานิชนันท์)

เมื่อรัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้นตั้งแต่ยังผนวช พระพุทธรูปนี้เดิมจึงประดิษฐานที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เมื่อเสด็จมาจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศฯ ก็ทรงอัญเชิญมาไว้ที่พระตำหนัก วัดบวรนิเวศฯ 

ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานบนฐานชุกชีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศ. ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. “พระพุทธรูปในประเทศไทย” ใน, www.finearts.go.th

รศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์. ลักษณะไทย พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์โอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2550.

เพจเฟซบุ๊คพิกุลบรรณาศาลา www.facebook.com/Pikullibrary


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2568