“โซเมีย” คืออะไร? หลักใหญ่ใจความในวรรณกรรมวิชาการของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

โซเมียคืออะไร นิธิ เอียวศรีวงศ์
ซ้าย - พื้นที่โซเมีย (ภาพจาก หนังสือ The Art of Not Being Governed ของ James C. Scott) ขวา - นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน - สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

โซเมียคืออะไร? สำรวจหัวใจหลักวรรณกรรมวิชาการของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

โซเมีย (Zomia) เป็นคำที่ วิลเลม ฟาน สเคนเดิล (Willem van Schendel) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม เป็นผู้ริเริ่มการใช้ สำหรับเรียก “ที่สูงแห่งเอเชีย” มาจากคำ Zomi ในภาษาทิเบต-พม่า แปลว่า ประชากรบนที่สูง 

โซเมียหรือที่สูงแห่งเอเชีย เป็นอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ที่ทอดยาวตั้งแต่ตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีในจีน ลากไปทางตะวันตกถึงที่ราบสูงทิเบต เทือกเขาหิมาลัย และลงใต้สู่เทือกเขาทางตะวันตกของเวียดนาม ลาว และตอนเหนือของไทยกับพม่า เป็นพื้นที่มากกว่า 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งอยู่ในระดับความสูงตั้งแต่ 300 เมตรเหนือน้ำทะเล

แผนที่ บริเวณโซเมีย ที่สูงแห่งเอเชีย
แผนที่แสดงบริเวณโซเมียหรือที่สูงแห่งเอเชีย และพื้นที่โดยรวมทางใต้ของจีนอันเป็นหลักแห่งของคนพื้นเมือง “ไม่จีนไม่ฮั่น” ซึ่งไท-ไต รวมอยู่ด้วย (ปรับปรุงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ตามคำแนะนำและตรวจทานโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในเอกสารประกอบรายการ “ทอดน่องท่องเที่ยว” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2563

ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ล่วงลับ คือนักวิชาการไทยที่ศึกษาเรื่องโซเมียอย่างจริงจัง ร่วมกับการอธิบายถึงกลุ่มชนไท-ไต บรรพชนสาขาหนึ่งของคนไทย ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มสำคัญของโซเมีย ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือ รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ โซเมีย, ไท-ไต ใน “นิธิ เอียวศรีวงศ์” (มติชน : 2568) ความว่า

“ถ้าไม่นับไทยสยามในภาคกลางและคาบสมุทรมลายูแล้ว กลุ่มคนที่ในภายหลังเรียกตนเองว่า ไทหรือไตล้วนอยู่บนโซเมีย”

หนังสือ รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ โซเมีย, ไท–ไต ใน “นิธิ เอียวศรีวงศ์” สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ
หนังสือ รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ โซเมีย, ไท–ไต ใน “นิธิ เอียวศรีวงศ์” สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ

นิธิ ชี้ว่า คนไตยวน ไตลื้อ ไตเขิน ไตโหลง ไตแข่ ไตอะหม ไทดำ ไทขาว ไทแดง ตลอดไปถึงไทลาย คนญัย ไทที่ถูกเรียกว่าโท้หรือโถ่/ถู่ ที่อยู่ในตอนเหนือของเวียดนาม และบางส่วนของกวางสี จ้วง รวมถึงคนไท-ไตอีกมากที่อยู่ปะปนกับคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในหลายชุมชนทางตอนใต้ของจีน ล้วนมีชีวิตอยู่บนโซเมีย

“แม้แต่รัฐสุโขทัยก็ตั้งอยู่ชายขอบของโซเมีย เทวดาพระขพุงซึ่งเป็นที่นับถือของชนชั้นปกครองก็อยู่บนเขาสูงอันตั้งอยู่ส่วนปลายของโซเมีย รัฐที่ใช้ภาษาไทยในที่ราบสูงอีสานล้วนตั้งอยู่บนส่วนหนึ่งของโซเมีย เพราะที่จริงแล้วที่ราบสูงอีสานเป็นที่ราบผืนใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ส่วนปลาย ๆ ของโซเมีย…”

นอกจากที่ราบขนาดใหญ่อย่างภาคอีสานแล้ว ตอนในของโซเมียยังมีที่ราบหุบเขากระจายอยู่ทั่วไป ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก เป็นที่ตั้งของชุมชนเมืองที่ตลอดประวัติศาสตร์อาจเป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่ บ้างเป็นรัฐอิสระ หรือแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่ในทางทฤษฎี แต่ทางปฏิบัติยังมีอิสระในการปกครองและดำเนินนโยบายกับเพื่อนบ้านด้วยตนเอง

ในอดีต กลุ่มชนไท-ไต บนโซเมียต่างจากประชากรกลุ่มอื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้ทำมาหากินบนที่สูง พวกเขาจับจองพื้นที่ตามหุบเขาเพื่อทำนาดำ นวัตกรรมการเกษตรที่สร้างอำนาจทางเศรษฐกิจอันเข้มแข็ง และสถาปนาการเครือข่ายทางการเมืองระดับสูงกว่าชุมชนทั่ว ๆ ไป นั่นคือ “เมือง”

นอกจากนี้ การสร้างระบบชลประทานเพื่อกระจายน้ำเปิดที่นาทั่วหุบเขาของคนไท-ไต ยังต้องใช้แรงงานจำนวนมาก พวกเขาจึงสถาปนาอำนาจทางการเมืองเหนือคนบนที่สูงซึ่งอยู่มาก่อน ดังจะเห็นว่า ตำนานไท-ไต มักเล่าว่ากษัตริย์จะส่งลูก ๆ ไปตั้งเมืองใหม่ และได้คนพื้นเมืองมาเป็นแรงงาน ไม่ว่าจะในรูปแบบของการตีข่า (ทาส) เป็นข้าในอุปถัมภ์ (ไพร่) หรือการสมรส (เขย-สะใภ้) ฯลฯ

เป็นการเคลื่อนย้ายแบบ “จัดตั้ง” ไม่ใช่ลักษณะของการหอบเสื่อผืนหมอนใบไปเที่ยวหาที่ทำกิน

เมืองตามที่ราบหุบเขาจึงมีประชากรหนาแน่น และกลืนคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่ในชาติพันธุ์เดียวกัน จนกลายเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้า

แต่เดิมเรื่องราวเกี่ยวกับที่สูงแห่งเอเชียมีชื่อเสียงขึ้นจากงานศึกษาของ เจมส์ ซี. สก็อตต์ (James C. Scott) ในเรื่อง “ศิลปะของการไม่ถูกปกครอง” เล่าถึงคนบนที่สูงผู้ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ (ของคนในที่ลุ่ม) และเรียกพื้นที่ของประชากรกลุ่มนี้ว่า Zomia แต่นิธิเห็นว่า เราไม่อาจแยกคนบนโซเมียออกจากกันด้วยระดับความสูง เพราะไม่ว่าคนบนที่สูงหรือคนตามหุบเขา-ที่ลุ่ม ล้วนมีความสัมพันธ์และต้องพึ่งพาอาศัยกันตลอดประวัติศาสตร์ ดังที่กล่าวว่า

“พวกที่จีนเรียกว่าเยว่ รวมทั้งพวกไท-ไต ต่างเป็นประชากรบนที่สูงหรือโซเมียนี้ (เราเป็นชาวเขาอีกประเภทหนึ่งเกือบตลอดประวัติศาสตร์ของเรา)

รัฐที่ตั้งอยู่ใต้พื้นที่สูงตั้งแต่สุโขทัยลงไปถึงนครศรีธรรมราชล้วนตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่แปลกปลอมสำหรับคนไท-ไต หากไม่มี ‘ครู’ อันได้แก่ แขก มอญ เขมร มลายู พม่า จีน ฯลฯ พวกไท-ไตไม่น่าจะมีอำนาจขึ้นมาในดินแดนอันเป็นที่ราบตรงนี้ได้เลย ถึงมีก็ไม่น่าจะรักษาต่อมาได้เป็นเวลานาน ๆ”

ดังนั้น การศึกษาเรื่องโซเมียจึงสำคัญและจำเป็นต่อการขยายความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ไทย ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประวัติศาสตร์ราชธานีหรือรัฐจารีตอำนาจรวมศูนย์ในดินแดนไทยครั้งอดีต

กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง
กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง (ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1873)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

นิธิ เอียวศรีวงศ์, สุจิตต์ วงศ์เทศ บรรณาธิการ. (2568). รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ โซเมีย, ไท-ไต ใน “นิธิ เอียวศรีวงศ์”. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2568