สุวรรณภูมิ แผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ ชุมทางการค้า ไม่อาณาจักร

สุวรรณภูมิเป็นชุมทางการค้าระยะไกลถึงกรีก-โรมัน จึงพบเหรียญโรมันที่เมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี (ด้านหน้า) มีรูปพระพักตร์ด้านข้างของจักรพรรดิซีซาร์ วิคโตรินุส (กษัตริย์โรมัน ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 812-814) สวมมงกุฎยอดแหลมเป็นแฉก มีตัวอักษรล้อมรอบอยู่ริมขอบของเหรียญ IMP C VICTORINUS PF AUG ซึ่งเป็นคำย่อของ Imperator Caesar Victorinus Pius Felix Auguste แปลว่า จักรพรรดิซีซาร์ วิคโตรินุส ศรัทธา ความสุข เป็นสง่า (ด้านหลัง) ของเหรียญเป็นรูปเทพีอาธีนา (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือของกรศิลปากร)

สุวรรณภูมิ เรียกเป็นที่รู้กันตั้งแต่สมัยเริ่มแรก ราว 2,500 ปีมาแล้ว โดยนักเดินทางเสี่ยงโชคการค้าทางไกลจากอินเดีย มีความเป็นมาเบื้องต้นอย่างรวมๆ กว้างๆ ดังนี้

(1.) สุวรรณภูมิไม่เป็นอาณาจักร, ไม่เป็นรัฐ, ไม่เป็นอาณานิคมอินเดีย

(2.) ไม่ใช่ชื่อพื้นเมืองหรือท้องถิ่นเพราะเป็นชื่อถูกเรียกจากคนภายนอก ส่วนคนพื้นเมืองไม่เรียกพื้นที่ตนเองด้วยชื่อสุวรรณภูมิ ดังนั้นคำว่าสุวรรณภูมิไม่มีในเอกสารท้องถิ่นอุษาคเนย์

(3.) สุวรรณภูมิไม่น่าจะมีขอบเขตแน่นอนในภูมิภาคอุษาคเนย์ เพราะในเอกสารและหลักฐานแวดล้อมมิได้ระบุตำแหน่งที่ตั้งอย่างจำเพาะเจาะจงตรงไปตรงมาแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่เบาะแสคำว่าสุวรรณภูมิส่อไปในทางหมายถึงบริเวณแผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีป เพราะหมู่เกาะมีคำเฉพาะต่างหากว่าสุวรรณทวีป

(4.) เอกสารอินเดีย, กรีก, และจีน ระบุในทำนองเดียวกันถึงคำว่าสุวรรณภูมิแปลว่าดินแดนทอง หมายถึงดินแดนมีทองแดงซึ่งไม่ใช่ทองคำ และมีเทคโนโลยีก้าวหน้าในการถลุงและหล่อแร่ธาตุเรียกทองสำริด ส่งผลให้นักเดินทางเสี่ยงโชคมีความมั่งคั่งจากการค้าทองแดงและทองสำริดเหล่านั้น

(5.) ความเป็นมาเริ่มแรกของชื่อสุวรรณภูมิไม่เกี่ยวกับกิจกรรมการเผยแผ่ศาสนาไม่ว่าพุทธหรือพราหมณ์ แต่มีขึ้นจากการค้าระยะไกลทางทะเลของนักเสี่ยงโชคทางการค้าจากอินเดียแล้วขยายไปจีน ซึ่งเป็นพลังกระตุ้นต่อไปให้มีการค้าโลก

(6.) ส่วนการเผยแผ่ศาสนาพุทธสู่สุวรรณภูมิเป็นผลพลอยได้สมัยหลังที่พุทธศาสนาถูกใช้ทางการเมืองเพื่อการค้าทางไกลสมัยนั้น

(7.) บ้านเมืองเก่าแก่ในประเทศไทยที่นับถือศาสนาพุทธนิกายจากลังกา ยกย่องนับถือสุวรรณภูมิเป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ จึงอยู่ในความทรงจำสืบเนื่องในชื่อสมัยต่อมาว่า “สุพรรณภูมิ” และ “สุพรรณบุรี”

ไม่อาณาจักร

(1.) สุวรรณภูมิเป็นชื่อถูกเรียกจนเป็นที่รู้กันโดยนักเดินทางเสี่ยงโชคการค้าทางไกลจากอินเดีย ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ. 1

(2.) นักเดินทางเสี่ยงโชคการค้าทางไกลจากอินเดียบอกว่าสุวรรณภูมิอยู่บริเวณแผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์ (ไม่หมู่เกาะ) โดยไม่ระบุตำแหน่งจำเพาะเจาะจงแห่งใดแห่งหนึ่ง ดังนั้นสุวรรณภูมิไม่มีขอบเขตแน่นอน (หรือไม่มีเส้นกั้นอาณาเขตเหมือนรัฐชาติสมัยหลัง)

(3.) ด้วยพยานหลักฐานดังกล่าว สุวรรณภูมิจึงไม่เป็นอาณาจักร, ไม่เป็นรัฐ, ไม่เป็นอาณานิคมอินเดียตามที่มีนักค้นคว้าและนักวิชาการกล่าวอ้างบ่อยๆ

แผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์

แผนที่แสดงดินแดนสุวรรณภูมิบนแผ่นดินใหญ่หรือภาคพื้นทวีป ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางภูมิภาคอุษาคเนย์ มีคาบสมุทรยื่นยาวลงทางใต้ ขนาบด้วยทะเลจีนใต้ทางตะวันออกกับทะเลอันดามันทางตะวันตก (ซ้าย) เส้นทางจากอินเดีย (ขวา) เส้นทางจากจีน

สุวรรณภูมิเป็นชื่อดินแดนแผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว โดยไม่ระบุจำเพาะเจาะจงที่ใดที่หนึ่ง แต่เป็นชื่อรวมๆ กว้างๆ ทั้งหมดของบริเวณที่ปัจจุบันเป็นประเทศต่างๆ ได้แก่ มาเลเซีย, ไทย, พม่า, กัมพูชา, เวียดนาม, ลาว

ส่วนในทางวัฒนธรรมโบราณหลายพันปีมาแล้ว สุวรรณภูมิเป็นดินแดนกว้างไกลถึงทางใต้ของจีน คือ มณฑลยูนนาน, กวางสี, กวางตุ้ง บางทีรวมอัสสัมของอินเดีย (พื้นที่เหล่านี้นักวิชาการนานาชาติปัจจุบันสมมุติเรียกบริเวณ “โซเมีย” หรือที่สูงแห่งเอเชีย)

ทั้งหมดนี้ไม่รวมหมู่เกาะซึ่งมีชื่อเรียกจำเพาะ ได้แก่ หมู่เกาะสุมาตรา เรียกสุวรรณทวีป (เกาะทอง), หมู่เกาะชวา เรียกยวทวีป (หรือ ยะวาทวีป), หมู่เกาะมลายู เรียกมาลัยทวีป เป็นต้น (จากหนังสือสุวัณณภูมิ ของ ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510)

คาบสมุทร สุวรรณภูมิเป็นดินแดนมีคาบสมุทรยื่นยาวลงทางทิศใต้ สมัยโบราณเรียก “แหลมทอง” ขนาบด้วยทะเลอันดามันทางฝั่งตะวันตกและทะเลจีนใต้ทางฝั่งตะวันออก อยู่กึ่งทางระหว่างอินเดียกับจีน

ลมมรสุม มีลมมรสุม 2 ทิศทาง ซึ่งเอื้อต่อการเดินเรือทะเลสมุทร ได้แก่

(1.) ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากมหาสมุทรอินเดีย ขึ้นฝั่งภาคพื้นทวีป เอื้ออำนวยต่อการเดินทางจากอินเดีย, ลังกา เข้าถึงคาบสมุทร และ

(2.) ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดจากทะเลจีน มหาสมุทรแปซิฟิก ขึ้นฝั่งภาคพื้นทวีป เอื้ออำนวยต่อการเดินทางจากจีนลงไปคาบสมุทรมลายู

สถานีการค้า ดังนั้นจึงมีสถานีการค้าหรือเมืองท่าชายฝั่ง ซึ่งพบหลักฐานเป็นโบราณวัตถุหลากหลาย จากบ้านเมืองทางตะวันตก-ตะวันออก อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว พบตามชายฝั่งทะเลบริเวณคาบสมุทรทั้งฟากอ่าวเมาะตะมะ หรืออ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเขาสามแก้ว (ต. นาชะอัง อ. เมืองฯ) จ. ชุมพร ซึ่งเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องราวทางการค้าของสุวรรณภูมิ [จากบทความเรื่อง “อู่ทองถึงเขาสามแก้ว : เมืองท่าสุวรรณภูมิฟากฝั่งทะเลจีน” ของ ศรีศักร วัลลิโภดม ในวารสาร เมืองโบราณ (ปีที่ 46 ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2563 หน้า 28-33]

เรือและการเดินเรือ สมัยนั้นเมื่อหลายพันปีมาแล้ว เทคโนโลยีเกี่ยวกับเรือและการเดินเรือทะเลสมุทร มีข้อจำกัดมากจึงแล่นตัดมหาสมุทรไม่สะดวก และมีอันตรายมากในการแล่นอ้อมช่องแคบมะละกา นักเดินเรือจึงเลือกเดินทางเลียบชายฝั่งผ่านดินแดนคาบสมุทรแล้วขนถ่ายสิ่งของสินค้าข้ามคาบสมุทรไปแลกเปลี่ยนซื้อขายซึ่งกันและกัน ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้ามากขึ้น จึงมีการเดินเรือแล่นตัดข้ามมหาสมุทร

คนหลายชาติพันธุ์ ชาวสุวรรณภูมิเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” นับไม่ถ้วน (มีบอกในเอกสารจีนชื่อ “หมานซู” แต่งเมื่อราว พ.ศ. 1400)

นับถือศาสนาผี (คำว่า ผี หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ) เชื่อเรื่องขวัญ คนตาย ขวัญไม่ตาย มีพิธีศพครั้งที่ 2 (ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีโลกหน้า ไม่มีนรกสวรรค์) ยกย่องหญิงมีสถานภาพสูงกว่าชาย [เช่น เป็นใหญ่ในพิธีกรรมและเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์, พิธีแต่งงานหญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว (ขี้ข้า) ของหญิง เป็นต้น]

ภาษาไทย คนหลากหลายชาติพันธุ์ในสุวรรณภูมิ ซึ่งจีนเรียกอย่างรวมๆ ว่า “เยว่” อยู่บริเวณ “โซเมีย” พูดภาษาตระกูลแตกต่างกัน ในจำนวนนั้นมีตระกูลภาษาไท-ไต (ต้นตอภาษาไทย) รวมอยู่ด้วย ซึ่งต่อไปข้างหน้าจะมีบทบาทสำคัญเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายในภาคพื้นทวีป (แล้วกระตุ้นให้มีคนไทยครั้งแรกบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในรัฐอยุธยา)

ภาษามลายู ภาษามลายูเป็นภาษากลางทางการค้าเลียบชายฝั่งทั้งบริเวณคาบสมุทรและระหว่างหมู่เกาะ

ดินแดนทอง

แผนที่แสดงบริเวณ “ดินแดนทอง” อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ที่มีแหลมยื่นลงไปทางใต้ระหว่างมหาสมุทรทางตะวันตก-ตะวันออก ตรงกับปัจจุบันเป็นดินแดนพม่า, ไทย, มาเลเซีย (ไม่เกี่ยวข้องหมู่เกาะ) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2083 (ราว 500 ปีมาแล้ว ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น) อยู่ในตำราภูมิศาสตร์ Cosmographia ของ เซบาสเตียน มึนสเตอร์ (นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมัน) จำลองจากบันทึกของโตเลมี (นักภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวกรีก) ราว 1,800 ปีมาแล้ว (ตรงกับสมัยการค้าทางไกลเริ่มแรกในสุวรรณภูมิ ระหว่าง พ.ศ. 670-693) ส่วนฉบับพิมพ์ครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2171 ระบุชัดเจนว่า “ในราชอาณาจักรสยามเป็นที่ตั้งของแผ่นดินทอง ซึ่งเป็นแผ่นดินทองของปโตเลมี…ถัดลงมาคือแหลมทองซึ่งมีภูมิลักษณะเป็นคอคอดยาว” (แผนที่และคำอธิบายบางส่วนได้จาก ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

สุวรรณภูมิเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าดินแดนทอง ซึ่งได้จากบริเวณที่มีบ้านเมืองระดับรัฐเริ่มแรกของผู้คนมากความรู้และประสบการณ์ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับทองสำริดเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ขณะเดียวกันก็มีแหล่งแร่ทองแดงและดีบุกเป็นทรัพยากรในดินตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำโขง

คำว่าทอง หมายถึง ธาตุโลหะมีค่าชนิดหนึ่ง มีสีเหลือง และหลอมละลายได้ด้วยความร้อน ได้แก่ ทองคำ, ทองแดง สำหรับชื่อสุวรรณภูมิเมื่อหลายพันปีมาแล้วน่าจะหมายถึงทองแดงมากกว่าทองคำ เพราะพบแหล่งทองแดงกว้างขวางตั้งแต่ดินแดนไทยและลาวต่อเนื่องขึ้นไปถึงมณฑลยูนนานในจีน ส่วนทองคำพบบ้างไม่มากนักและเท่าที่พบเป็นเกล็ดผงน้อยๆ ปนกับกรวดทรายซึ่งได้จากการร่อนตามฝั่งแม่น้ำ เช่น แม่น้ำโขง เป็นต้น

ชุมทางการค้าระยะไกล

สุวรรณภูมิเป็นชุมทางการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทรระหว่างอินเดียกับจีน ที่สร้างความมั่งคั่งให้ผู้เสี่ยงภัยเดินทางไปค้าขายสิ่งของมีค่า เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 1 จึงพบชื่อสุวรรณภูมิในเอกสารโบราณของกรีก-โรมัน, อินเดีย, ลังกา, และจีน (จากหนังสือ สุวัณณภูมิ โดย ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากรพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510 และ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก : กรณีศึกษาลุ่มแม่น้ำจรเข้สามพัน โดย สืบแสง พรหมบุญ และคณะ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต พ.ศ. 2552)

นักแสวงโชคในอินเดียสมัยโบราณนับพันปีมาแล้ว เดินทางเสี่ยงภัยในทะเลสมุทรไปสุวรรณภูมิเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองเมื่อรอดตาย ด้วยกิจกรรมสำคัญเกี่ยวกับการค้าทางไกล 2 อย่าง ได้แก่ ค้าทองแดงกับทองสำริด และค้ากับจีน ทั้งนี้โดยไม่เกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาไม่ว่าพราหมณ์หรือพุทธ แต่หลังจากนี้อีกนานจึงมีการอาศัยเรือพ่อค้าไปเผยแผ่ศาสนา

[1.] ค้าทองแดงกับทองสำริด ทองแดงกับทองสำริดเป็นโลหะขายได้ราคาดีในอินเดียและเครือข่ายถึงกรีก-โรมัน จึงดึงดูดนักเดินทางเสี่ยงภัยไปซื้อหาทองแดงถึงแหล่งแผ่นดินใหญ่

เหรียญทองแดง พบที่ อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ด้านหนึ่งเป็นรูปอาคารมีหลังคา อีกด้านหนึ่งทำเป็นรูปเสา 6 ต้น (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือของกรมศิลปากร)

สำหรับทองแดงใช้หลอมเข้ากับแร่ธาตุอื่น เช่น ดีบุกและตะกั่ว ได้ผลเป็นโลหะผสมซึ่งมีชื่อเรียกเป็นที่รู้กว้างขวางว่าสำริด หรือทองสำริด ทำเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องรางประดับร่างกาย แต่ที่มีขนาดใหญ่ลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษ คือ กลองทอง ใช้ประโคมตีในพิธีกรรมเกี่ยวกับศาสนาผี พบแหล่งผลิตอยู่มณฑลยูนนานกับมณฑลกวางสี ทางใต้ของจีน, เมืองดองซอน ทางเหนือของเวียดนาม, และ จ. มุกดาหาร ใกล้แม่น้ำโขงทางภาคอีสานในไทย [จากหนังสือ โนนหนองหอ แหล่งผลิตกลองมโหระทึกในประเทศไทย ข้อมูลจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ ต. นาอุดม อ. นิคมคำสร้อย จ. มุกดาหาร ระหว่าง พ.ศ. 2551-2553 พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (ไม่บอกปีที่พิมพ์) หน้า 208-210]

คำว่ากลองทองเป็นชื่อเรียกตามภาษาของชาวจ้วงในกวางสีและบางชาติพันธุ์ที่อยู่ใกล้เคียง ฝ่ายลาวเรียกฆ้องบั้ง และไทยเรียกกลองมโหระทึก [คำที่พบในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนต้นว่า “มโหระทึก” ต่อมาเมื่อตรวจสอบหลักฐานแล้วพบว่า หมายถึงเครื่องหนังชนิดหนึ่งเนื่องในเครื่องตีและเป่ารวม 5 สิ่ง เรียกปัญจตุริยะของพราหมณ์อินเดีย ใช้ประโคมประกอบการละเล่นศักดิ์สิทธิ์มีเสียงดังอึกทึกกึกก้องตึงตังโครมคราม ดังนั้นชื่อมโหระทึกจึงไม่ใช่กลองสำริดที่มีเสียงกังวาน แต่ไม่ดังอึกทึกกึกก้องตึงตังโครมคราม]

เทคโนโลยีก้าวหน้าชั้นสูงของสุวรรณภูมิเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ได้แก่ ทองแดงที่หลอมรวมเข้ากับดีบุก เมื่อใช้ดีบุกเป็นส่วนผสมสูงกว่าปกติจะให้สำริดที่หล่อเป็นรูปร่างมีผิวสีทองแวววาวสุกปลั่งดั่งทองคำ จึงเรียกทองสำริด (ซึ่งคนทั่วไปดูแล้วอาจเข้าใจว่าทองคำ หรือถูกทำให้เชื่อว่าเป็นทองคำก็มี) ด้วยเหตุนี้ทั้งโลหะทองแดงและเทคโนโลยีเกี่ยวกับทองสำริด เป็นที่ต้องการของสังคมชนชั้นนำในอินเดียและเครือข่ายการค้ากว้างไกลถึงโรมัน ทำให้การค้าคับคั่งอย่างยิ่งเกี่ยวกับทองสำริดในสุวรรณภูมิ [ข้อมูลได้จากบทความเรื่อง Early Maritime Contacts Between South and Southeast Asia โดย หิมันศุ ประภา เรย์ (Himanshu Prabha Ray) พิมพ์ใน Journal of Southeast Asian Studies ฉบับเดือนมีนาคม (Vol. 20 No. 1) March 1989 (2532) หน้า 42-54 (แปลอย่างสรุปโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ) นอกจากนั้นมีบทแปลอย่างยาวโดย ยงยุทธ ชูแว่น (อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) พิมพ์ในวารสาร อักษรศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2536) หน้า 97-110 และบทความเรื่อง “โบราณวิทยาเรื่องโลหะสำริดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย” โดย สุรพล นาถะพินธุ รศ. ประจำภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ในวารสารดำรงวิชาการ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มิ.ย. 2557) หน้า 107-132]

[2.] ค้ากับจีน สุวรรณภูมิเป็นแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคอุษาคเนย์ ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางทะเลสมุทร เกือบกึ่งกลางระหว่างอินเดียกับจีน โดยมีคาบสมุทรยื่นยาวลงทางใต้ ขนาบด้วยทะเลจีนใต้ทางตะวันออก กับทะเลอันดามันทางตะวันตก

เครื่องรางอย่างเครื่องประดับ ราว 2,000 ปีมาแล้ว ทำจากหินหยกสีเขียว พบทั้งที่เมืองอู่ทองลงไปถึงภาคใต้ของไทย แล้วยังพบอยู่ในบรรดาชุมชนใกล้ทะเลตั้งแต่ไต้หวันลงไปถึงภูมิภาคอุษาคเนย์ แสดงว่า ช่วงเวลานี้มีการเดินทางเลียบชายฝั่ง ไปมาหาสู่ติดต่อแลกเปลี่ยนซื้อขายกับดินแดนใกล้และไกลอย่างกว้างขวางมากขึ้น
(ซ้าย) ลิง ลิง-โอ (Ling Ling-O) เครื่องรางต่างหู 3 ปุ่ม อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว ทำจากหินหยกสีเขียว รูปห่วงกลม ที่ขอบห่วงมีปุ่มยื่น 3 แห่ง พบที่เมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี (ภาพจากหนังสือ โบราณคดีสีคราม กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2531 หน้า 41)
(ขวา) เครื่องรางต่างหู 2 หัว อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว ทำจากหินหยกสีเขียว เป็นแท่งยาว มี 2 หัวคล้ายรูปสัตว์ ข้างบนแท่งทำคล้ายตะขอแขวน พบที่เมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี

นักเดินทางเรือเสี่ยงภัยจากอินเดียพากันพบปะคนกลางจากจีน แล้วแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ่งของซึ่งกันและกัน เพราะสมัยนั้นจีนไม่ออกค้าทางทะเลสมุทรด้วยตนเอง แต่มีกลุ่มชำนาญการเดินเรือทะเลสมุทรทำหน้าที่คนกลาง คือ “ชาวน้ำ” หรือชาวมลายู รวบรวมสิ่งของมีค่าจากจีนไปแลกเปลี่ยนซื้อขายกับนักแสวงโชคที่สุวรรณภูมิ (ข้อมูลได้จากหนังสือ ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย ของ ธิดา สาระยา พิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ. 2554)

ไม่อาณานิคมอินเดีย

บริเวณที่เป็นหมู่บ้านกระจัดกระจายบนเส้นทางคมนาคมชุมทางการค้าทางไกลทางทะเลสมุทรสมัยแรกเริ่ม ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก คืออินเดียกับจีน ครั้นนานไปได้รับประโยชน์จนมีความมั่งคั่งจากการค้า ทำให้หมู่บ้านขยายตัวเติบโตเป็นชุมชนเมืองใหญ่ระดับรัฐ เพราะมีคนหลากหลายชาติพันธุ์จากหลายทิศทางพากันเคลื่อนไหวโยกย้ายเข้าไปตั้งหลักแหล่งเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งนั้น

ชุมชนเมืองใหญ่ระดับรัฐพบในไทย มีศูนย์กลางอยู่ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง (ต่อมาเรียกเมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี) พื้นที่ตอนบนของคาบสมุทรบริเวณฟากตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ทะเลจีนใต้เหนืออ่าวไทย และใกล้ทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล พบคูน้ำคันดินอยู่บนตะกอนที่เกิดจากทางน้ำล้อมรอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ขณะนั้นยังไม่พบการเผยแผ่ศาสนาจากอินเดีย ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 500 [หลักฐานวิทยาศาสตร์อยู่ในเอกสาร “รายงานการศึกษาดินตะกอนน้ำพารูปพัด (Alluvial fan) พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” ของสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 (ปทุมธานี) กรมทรัพยากรธรณี พ.ศ. 2559]

เมืองใหญ่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มีการปกครองเป็นแบบแผนด้วยการยกย่องหญิงเป็นผู้นำทางศาสนาผี มีอำนาจเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (Chiefdom) ควบคุมการค้าทางไกลกับบ้านเมืองห่างไกลทางทะเลและทางบก ต่อมาได้ว่าจ้างชาวอินเดียซึ่งเป็นผู้รู้ผู้ชำนาญกิจการต่างๆ ทั้งด้านการค้าและศาสนา-การเมือง โดยคัดเลือกจากกลุ่มนักเดินทางที่ไปติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายสิ่งของมีค่าเหล่านั้นให้เป็นที่ปรึกษาเพื่อเลือกสรรเทคโนโลยีก้าวหน้าใช้ในกิจการบ้านเมือง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับข้อมูลความรู้ทางศิลปวิทยาการจากอินเดีย ได้แก่ ศาสนา, อักษรศาสตร์, พิธีกรรมต่างๆ ซึ่งบรรดาที่ปรึกษาชาวอินเดียเหล่านั้นไม่มีอำนาจครอบงำและสั่งการใดๆ ดังพบว่าหลังจากนั้นความเชื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับศาสนาผีมีเหนือศาสนาใหม่จากอินเดีย

หลักฐานสำคัญต่างๆ ดังกล่าวมาทั้งหมด ล้วนตรงข้ามถึงขนาดหักล้างแนวคิดดั้งเดิมของ ศ. ยอร์ช เซเดส์ (นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส) เสนอว่าตำนานกำเนิดรัฐฟูนันสะท้อนให้เห็นอินเดียเป็นผู้เจริญกว่าได้เข้าไปปราบปรามคนพื้นเมืองอุษาคเนย์และตั้งตัวเป็นใหญ่ แล้วนำอารยธรรมอินเดียเข้ามาสร้างให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่คนพื้นเมือง เท่ากับสร้างอาณานิคมของอินเดียในอุษาคเนย์ หรืออุษาคเนย์เป็นอาณานิคมอินเดีย อันเป็นที่รู้ทั่วโลกในชื่อหนังสือของเซเดส์ว่า Indianized States of Southeast Asia แล้วยังเชื่อถือจนทุกวันนี้จากทางการไทย [สรุปจากหนังสือ เหล็ก “โลหปฏิวัติ” เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548 หน้า 11-12]

รับวัฒนธรรมก้าวหน้า คำบอกเล่าเก่าแก่พบในเอกสารจีน แล้วถูกใช้อธิบายสุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์เป็นอาณานิคมอินเดีย มีโดยสรุปว่าพ่อค้าทางทะเลสมุทรได้สมสู่กับหญิงผู้นำพื้นเมืองชื่อลิวเย่ หรือนางใบมะพร้าว ผู้มีร่างเปลือยเปล่าเพราะไม่มีผ้านุ่งห่ม ดังนั้นพ่อค้าจึงมอบของมีค่าให้เป็นผ้าผ่อนท่อนแพร

ความทรงจำเรื่องนี้บอกให้รู้เกี่ยวกับการรับวัฒนธรรมอินเดียที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยไม่เกี่ยวกับการเป็นอาณานิคม ทั้งนี้ เหตุที่ผู้นำพื้นเมืองร่างเปลือยเปล่าก็เพราะไม่รู้จักทอผ้าหรือเครื่องมือทอผ้าไม่ก้าวหน้า ส่วนพ่อค้ามอบผ้าผ่อนท่อนแพรคือสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมทอผ้าด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้าที่ถ่ายทอดให้สุวรรณภูมิ

ร่างเปลือยเปล่า (ของคนพื้นเมือง) ถูกเรียกอย่างดูถูกจากคนอินเดียว่า “นาค” เป็นคำในตระกูลภาษาอินโด-ยุโรป แปลว่า เปลือย เป็นต้นทางเรียกผู้นำพื้นเมืองเพศหญิงว่านางนาค, เรียกประเพณีบวชคนพื้นเมืองเพศชายว่าบวชนาค ฯลฯ

ศาสนาพุทธไปสุวรรณภูมิ

สุวรรณภูมิคือดินแดนทอง ซึ่งผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์เคลื่อนไหวโยกย้ายเข้าไปตั้งหลักแหล่งอยู่รวมกันเป็นบ้านเมืองระดับรัฐแรกเริ่ม และมีเครือข่ายกว้างขวางตามลุ่มน้ำสำคัญ สืบเนื่องจากการเป็นชุมทางการค้าทางไกลระหว่างอินเดียกับจีน (โดยไม่เป็นอาณานิคมของอินเดีย) ดึงดูดนักแสวงความมั่งคั่งเดินทางเสี่ยงภัยไปค้าขายสม่ำเสมอเป็นที่รู้ทั่วกัน

ภิกษุสาวก 3 รูป ครองจีวร ถือบาตร ทำท่าบิณฑบาต ประติมากรรมดินเผา หลัง พ.ศ. 1000 เป็นหลักฐานเก่าสุดที่แสดงว่ามีพระสงฆ์ในดินแดนสุวรรณภูมิ (พบที่เมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ภาพจากหนังสือ สุวัณณภูมิ โดย ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2510)

ความเป็นมาสมัยเริ่มแรกของสุวรรณภูมิไม่เกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาไม่ว่าศาสนาพุทธหรือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะแรกสุดเป็นเรื่องการค้าทางไกลระหว่างอินเดียกับจีน ส่วนการเผยแผ่ศาสนาเป็นผลพลอยได้ตามไปทีหลังเมื่อกลุ่มผู้นำทางการเมืองในอินเดียและรวมถึงลังกาใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการค้า เนื่องเพราะศาสนาพุทธสนองกิจกรรมการค้าและใกล้ชิดเศรษฐีผู้มั่งคั่งจากการค้า จึงส่งพระสงฆ์อาศัยเรือพ่อค้าไปเผยแผ่ศาสนาพุทธในบ้านเมืองสุวรรณภูมิเพื่อขยายอำนาจไปควบคุมเส้นทางการค้าทางไกลและชุมทางการค้ากับจีนและเครือข่าย

ศาสนาพุทธถูกเผยแผ่จากอินเดียถึงสุวรรณภูมิตั้งแต่เมื่อไหร่? ไม่พบหลักฐานบอกตรงไปตรงมา ทำให้ต้องคาดคะเนว่าน่าจะมีลักษณะเริ่มแรกทยอยตามสถานการณ์สังคมการค้าครั้งนั้น แล้วเข้มข้นขึ้นสมัยหลังเมื่อได้รับสนับสนุนเป็นทางการจากอำนาจรัฐที่หนุนศาสนาพุทธซึ่งย้ายจากอินเดียไปอยู่ลังกา

พระเจ้าอโศกส่งพระสงฆ์ไปสุวรรณภูมิ ในไทยเป็นที่รู้สืบเนื่องยาวนานว่าพระเจ้าอโศกส่งพระสงฆ์ไปเผยแผ่ศาสนาพุทธถึงนานาประเทศหลายทิศทาง (เมื่อราว พ.ศ. 235) ในจำนวนนั้นมีพระโสณะกับพระอุตตระไปสุวรรณภูมิ แต่ต่อมาเมื่อตรวจสอบหลักฐานต่างๆ แล้วพบดังนี้

(1.) การเผยแผ่ศาสนาพุทธของพระเจ้าอโศก มีจารึกพระเจ้าอโศกระบุชื่อไว้ว่าไปถึงบ้านเมืองใดบ้าง แต่ไม่พบชื่อสุวรรณภูมิในจารึกพระเจ้าอโศก

(2.) พระเจ้าอโศกส่งพระโสณะกับพระอุตตระไปเผยแผ่ศาสนาพุทธถึงสุวรรณภูมิ พบระบุไว้ในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา (แต่งหลัง พ.ศ. 1000)

ผี ปะทะ พราหมณ์-พุทธ ก่อนผสมปนเปกัน

ผี, พราหมณ์,พุทธ น่าจะเริ่มประสมปนเปกันหลังพราหมณ์กับพุทธถูกเผยแผ่จากอินเดียถึงสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์ พบหลักฐานจากความทรงจำเก่าแก่ว่าก่อนมีการประสมปนเปกันได้มีปัญหาต้องปะทะขัดแย้งระหว่างผีกับพราหมณ์-พุทธในระยะเวลาหนึ่งซึ่งน่าจะนานไม่น้อย

หลังรับศาสนาจากอินเดีย ทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ แต่ยังนับถือศาสนาผี ดังพบประติมากรรมคนจูงลิง ดินเผา ราวหลัง พ.ศ. 1000 พบที่เมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี
  1. พราหมณ์กับพุทธเหยียดผีด้วยการเรียกคนพื้นเมืองนับถือผีว่า “นาค” เป็นตระกูลภาษาอินโด-ยุโรป แปลว่าเปลือยหรือคนเปลือย เพราะคนพื้นเมืองทั้งหญิงชายมีผ้าผืนน้อยหน้าแคบผืนเดียวหรือเปลือกไม้ชิ้นเดียวผูกรัดอวัยวะเพศไว้เท่านั้น นอกนั้นปล่อยร่างเปลือยเปล่า ซึ่งไม่นุ่งหุ่มผ้าผ่อนแบบอินเดีย
  2. ผีปะทะพุทธเมื่อผีไม่ยอมอ่อนน้อมต่อคำสอนของพุทธ จึงทำให้พุทธต้องปราบผี แต่เรียก “ปราบนาค” (นาคคือสัญลักษณ์ความเชื่อศาสนาผี) ซึ่งมีบอกในคัมภีร์มหาวงศ์ (พงศาวดารลังกา) และในหนังสืออุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม)
  3. ผี, พราหมณ์,พุทธ ประนีประนอมเข้าประสมปนเปกันเมื่อพราหมณ์กับพุทธปราบผีไม่สำเร็จ จึงมีการปรับตัวโน้มเข้าหากัน (โดยสรุปจากบทความเรื่อง “ศาสนาผี” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ มี 2 ตอน พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2554) ดังนี้ (1.) ศาสนาผีเป็นฐานรากแข็งแกร่ง (2.) เลือกรับสิ่งละอันพันละน้อยของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กับศาสนาพุทธ ส่วนที่ไม่ขัดกับหลักผีเข้ามาประดับศาสนาผี จึงทำให้ศาสนาผีดูดีมีสง่าราศีทันสมัย น่าเลื่อมใสขึ้นจากการประดับประดาห่อหุ้มคลุมด้วยศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาพุทธ (3.) ศาสนาผีรักษากฎเกณฑ์ทางสังคม ส่วนศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาพุทธรักษากฎเกณฑ์ทางจิตวิญญาณของบุคคล

ต่อมาคนพื้นเมืองยอมรับคำว่านาค ดังนั้นเมื่อทำพิธีบวชคนพื้นเมืองเพศชายให้เป็นพระสงฆ์ไม่เรียกบวชคน แต่เรียกบวชนาค หมายถึงบวชคนเปลือยซึ่งมีน้ำเสียงเหยียดคนพื้นเมือง แต่ขณะเดียวกันฝ่ายพุทธยกย่องอำนาจผีด้วยการยอมรับพิธีทำขวัญนาคตามความเชื่อดั้งเดิมของผีก่อนเข้าพิธีบวชเป็นพระสงฆ์ แล้วยอมให้มีการแห่นาคก่อนเข้าพิธีบรรพชาซึ่งไม่พบในพุทธบัญญัติ

ศาสนาผีเป็นฐานรากแข็งแกร่งยังพบในพระพุทธรูปทั้งหลายถูกเรียกหลวงพ่อ เพราะมีผีทรงอานุภาพยิ่งใหญ่เป็นผู้พิทักษ์โดยสิงสถิตในพระพุทธรูปนั้น ทำให้พระพุทธรูปมีทั้งความเป็นพระและผีรวมอยู่ด้วยกัน นอกจากนั้นตามโบถส์วิหารการเปรียญมีผีคุ้มครองแข็งแรงในลักษณะของนาค (คืองู) เป็นผู้พิทักษ์แข็งขันอยู่หลังคาเครื่องบนอาคาร แต่ถูกกลบเกลื่อนความจริงด้วยชื่อเรียกสมมุติขึ้นใหม่ว่าช่อฟ้าและหางหงส์ เป็นต้น

หญิงในศาสนาผีมีสถานภาพสูงกว่าชาย ได้แก่ เป็นใหญ่ในพิธีกรรม (เข้าทรงผีฟ้า) และเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์, สำหรับพิธีแต่งงานหญิงเป็นนายชายเป็นบ่าว (ขี้ข้า) ของหญิง เสร็จพิธีแล้วชายเป็นเขยต้องไปอยู่รับใช้ในเรือนของหญิง

ชายในศาสนาพราหมณ์, พุทธ มีสภาพสูงกว่าหญิง ครั้นหลังรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาพุทธก็เปลี่ยนไปยกย่องชายมีสถานภาพสูงกว่าหญิง ได้แก่ ชายเป็นใหญ่ในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาพุทธ ส่วนหญิงถูกลดสถานภาพต่ำกว่าชายไม่มีสิทธิ์ในพิธีกรรมพราหมณ์-พุทธ แต่ยังเป็นใหญ่ในพิธีกรรมทางศาสนาผี (เพราะผีฟ้าไม่ลงทรงผู้ชาย)

การค้าโลก และอาณานิคม

การค้าทางไกลระหว่างอินเดียกับจีนผ่านชุมทางสุวรรณภูมิ เป็นพลังกระตุ้นการค้าโลกขยายตัวกว้างขวางต่อไปข้างหน้า ทำให้มีพ่อค้าจากแดนไกลจำนวนมากขึ้นที่เดินทางเข้าสู่ภูมิภาคอุษาคเนย์ นานไปกลายเป็นเส้นทางการค้าโลกสายสำคัญสืบเนื่องถึงสมัยหลังกระทั่งปัจจุบัน

บทบาทสำคัญของภูมิภาคนี้ในการค้าโลกก็คือ (1.) เป็นศูนย์การค้าที่สินค้าจากจีนและอินเดียไปจนถึงตะวันออกกลางเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน (2.) เป็นแหล่งกำเนิดและส่งเข้าสู่ตลาดซึ่งสินค้าพื้นเมืองที่สำคัญ คือ ของป่า, ดีบุก, ตะกั่ว, ทองแดง, เครื่องเทศ และอาหารไม่สู้มากนักสำหรับตลาดภายในภูมิภาค ดังนั้น การขยายตัวของการค้าดังกล่าวทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันของการค้าภายในระหว่างรัฐต่างๆ จึงมีการกระจายของวัฒนธรรมไปกว้างขวางกว่าอำนาจทางการเมืองของรัฐ ในขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐมีกำลังทั้งทางโภคทรัพย์และกำลังคนเพิ่มขึ้น จนทิ้งสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ให้เห็นได้สืบมาจนถึงทุกวันนี้ (สรุปจาก ข้อเสนอสังเขปประวัติศาสตร์แห่งชาติ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549) สุวรรณภูมิ แปลว่า ดินแดนทอง พบในเอกสารโบราณของอินเดีย, กรีก-โรมัน และลังกา หมายถึงดินแดนแผ่นดินใหญ่หรือภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์โดยไม่ระบุตำแหน่งแห่งหนชัดเจน ทั้งนี้สุวรรณภูมิเป็นชื่อถูกเรียกสมัยแรกเริ่มโดยนักเดินทางเสี่ยงภัยจากอินเดีย ครั้นหลังจากนั้นมีการบอกต่อจนเป็นที่รับรู้ทั่วกันราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 500

ความสำคัญของการค้าโลกกระตุ้นให้มีแผนที่เส้นทางผ่านทะเลสมุทร เหตุจาก พ.ศ. 2083 (ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น) มีผู้ทำแผนที่ตามหลักฐานเอกสารดั้งเดิมของนักสำรวจชาวกรีกทำไว้เมื่อ พ.ศ. 670-693 พบว่าสุวรรณภูมิคือดินแดนทองอยู่เหนือแหลมมลายูซึ่งตรงกับบริเวณที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน เข้ากับหลักฐานโบราณคดีพบที่เมืองอู่ทอง (อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี) ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง กระทั่งพบภายหลังว่าพื้นที่ตรงนี้มีชื่อในจารึกว่า “สุพรรณภูมิ” ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “สุวรรณภูมิ” (ว แผลงเป็น พ) แสดงว่าคนลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองสมัยนั้นมีความทรงจำชื่อสุวรรณภูมิจากพระสงฆ์และนักปราชญ์ราชบัณฑิตรุ่นก่อนๆ บอกเล่าตกทอดสืบต่อกันมา

หลังจากนั้นสุพรรณภูมิเปลี่ยนชื่อเป็น “สุพรรณบุรี” สืบจนปัจจุบันซึ่งอาจลำดับความเป็นมาอย่างกว้างๆ ง่ายๆ ดังนี้

(1.) สุวรรณภูมิ ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 500

(2.) สุพรรณภูมิ ราว 800 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1700

(3.) สุพรรณบุรี ราว 500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 2000

เส้นทางล่าอาณานิคม มีขึ้นเมื่อเรือน พ.ศ. 2300  (ตรงกับช่วงเวลารัฐอยุธยาตอนปลาย) อินเดียและลังกาถูกยึดครองเป็นเมืองขึ้น จากนั้นขยายการล่าอาณานิคมถึงภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเริ่มแผ่เข้าดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นแรงบันดาลใจของสุนทรภู่ “มหากวีกระฎุมพี” แต่งวรรณกรรมคำกลอนการเมืองเรื่องพระอภัยมณีเพื่อต่อต้านการล่าเมืองขึ้นของยุโรปครั้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 สิงหาคม 2564