สำเภาพระไตรปิฎกจากชมพูทวีป สู่แดนรามัญสุวรรณภูมิ

สำเภา พระไตรปิฎก
วัดบางปลา ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

สำเภา “พระไตรปิฎก” จาก “ชมพูทวีป” สู่แดนรามัญ “สุวรรณภูมิ”

น่าเชื่อได้ว่า ชนชาติมอญ เป็นผู้ถึงพระพุทธศาสนาก่อนใครในสุวรรณภูมิ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตำนานมอญระบุว่า ภายหลัง ตะเป๊า ตะปอ (ตปุสสะ ภัลลิกะ) พ่อค้าวาณิชมอญสองพี่น้อง ได้เข้าเฝ้าถวายข้าวสัตตุแด่องค์พระสัมมาหลังตรัสรู้ ตะเป๊า ตะปอจึงนับเป็นอุบาสกคู่แรกของโลก

หลังจากพระพุทธเจ้าเสวยข้าวสัตตุนั้นแล้ว ได้ลูบพระเศียรซึ่งมีพระเกศาติดพระหัตถ์มาด้วย 8 เส้น ทรงประทานพระเกศานั้นแด่สองพี่น้องเป็นสิ่งแทนพระองค์ เพื่อน้อมนำถึงพระธรรมคำสอนของพุทธองค์อันเป็นมงคลชีวิต สองพี่น้องได้นำกลับมาถวายกษัตริย์แห่งรามัญประเทศนาม พระเจ้าเอิกกะลาปะ พระองค์โปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์เละเกิ่ง (ชเวดากอง) ประดิษฐานไว้ยังรามัญเทศะสืบมา

สำเภา พระไตรปิฎก
วัดตาลปากลัด ตำบลคุ้งพยอม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ส่วนในทางประวัติศาสตร์ คัมภีร์ทางพุทธศาสนา อันได้แก่ “สมันตปาสาทิกา” โดยพระพุทธโฆษาจารย์ (มีชีวิตอยู่เมื่อ พ.ศ. 927-973) และ “มหาวงศ์” ในรัชสมัยพระเจ้ามหานามะ (ครองราชย์ พ.ศ. 955-977)

คัมภีร์ทั้งสองแต่งในลังการาวปลายพุทธศตวรรษที่ 10 ระบุว่า ในราวปี พ.ศ. 235 พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย (ครองราชย์ พ.ศ. 270- 311) ได้อาราธนาพระสมณทูต อัญเชิญพระไตรปิฎกออกเผยแผ่ไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งสิ้น 9 สาย หนึ่งในนั้นคือ ดินแดนสุวรรณภูมิ ที่นำโดยพระมหาเถระสำคัญทั้งสอง คือ พระโสณะ และพระอุตตระ ได้อัญเชิญพระไตรปิฎกลงเรือสำเภาจากดินแดนพุทธภูมิสู่รามัญประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการประดิษฐานพุทธศาสนายังสุวรรณภูมิอย่างมั่นคง

สำเภา พระไตรปิฎก
วัดฉิมพลี ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

จารึกกัลยาณีโดยพระเจ้าธรรมเจดีย์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2015-2035) กษัตริย์มอญแห่งหงสาวดี รับสั่งให้จารึกศิลา 10 หลัก เมื่อปี พ.ศ. 2022 อันเป็นแหล่งอ้างอิงประวัติพุทธศาสนาที่สำคัญของชาติต่างๆ ระบุว่าสุวรรณภูมิสถานที่ซึ่งสมณทูตของพระเจ้าอโศกทั้งสองได้นำพระไตรปิฎกมาถึงนั้นมีชื่อเรียกว่ารามัญประเทศหรือ ประเทศของชาวมอญปัจจุบันคือดินแดนทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา

 

วัดสามัคคิยาราม ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

การอภิปรายในแวดวงวิชาการจากหลักฐานเท่าที่พบ พอจะสรุปได้ว่า สุวรรณภูมิคือดินแดนทางตะวันออกของอินเดีย ส่วนที่เป็นแผ่นดิน มีความเป็นไปได้ว่า น่าจะเป็นประเทศเมียนมา ไทย ลาว และกัมพูชา ส่วนที่เป็นเกาะน่าจะได้แก่ ชวา สุมาตรา (อินโดนีเซีย) และฟิลิปปินส์ และเมื่อพิจารณาหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พบว่า เมืองสะเทิม เมืองอู่ทอง และเมืองนครปฐม สมัยทวารวดี มีอายุเก่าแก่ที่สุดและร่วมสมัยกัน คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 11

 

สำเภา พระไตรปิฎก
วัดกลาง ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

อย่างไรก็ตาม ตำนานการอัญเชิญ “พระไตรปิฎก” โดยสำเภาจากชมพูทวีปสู่สุวรรณภูมิยังคงเป็นสัญลักษณ์ทางจิตใจให้โน้มน้าวถึงวาระสำคัญแห่งการมาถึงของพระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ แสดงถึงความมั่นคงในศรัทธาของชาวมอญ กระทั่งสืบทอดความเชื่อตามคติมอญมาจวบจนปัจจุบัน อันนับเป็นเอกลักษณ์วัดมอญอย่างหนึ่งที่มักจะขาดเสียไม่ได้ นั่นคือ พระเจดีย์สามองค์ (แทนพระไตรปิฎก) ตั้งอยู่บนเรือสำเภา

สำเภา พระไตรปิฎก
วัดลาดกระบัง แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ
สำเภา พระไตรปิฎก
วัดร้างระหว่างทางไปเมืองจยฺ้าจก์คะมอย (ไจ์คามี) รัฐมอญ ประเทศเมียนมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


[ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ: รามัญคดี – MON Studies]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2561