“นายคนัง มหาดเล็ก” จาก “ก็อย” อาศัยในป่า สู่มหาดเล็กตัวน้อยในร.5 ราชสำนักฮือฮา

คนัง ก็อย
(ซ้าย) นายคนัง มหาดเล็กแต่งเต็มยศ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, มกราคม 2527)

คนัง คือชื่อของมหาดเล็กซึ่งมีพื้นเพเดิมจากชาติพันธุ์ที่อาศัยในป่า คนไทยเคยเรียกกันว่า “เงาะ” แต่พวกเขาเรียกกันเองในถิ่นว่า “ก็อย” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับรายละเอียดด้านรูปพรรณสัณฐานในละครเรื่องเงาะป่า จะมีเพียงแต่เรื่องราวของนายคนัง ในช่วงที่เข้ามาเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 5 ที่บางท่านอาจยังไม่ทราบ ข้อมูลในส่วนนี้ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 ได้เรียบเรียงไว้เมื่อ พ.ศ. 2513

งานเขียนของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 ที่จะนำมาเผยแพร่นี้ บทความเดิมใช้ชื่อว่า “เรื่องของนายคนัง มหาดเล็ก” เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2527 เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่ – กองบก.ออนไลน์)


 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เคยเสด็จพระราชดําเนินประพาสเมืองพัทลุงครั้งหนึ่ง เมื่อ ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2432) ครั้งนั้นเสด็จฯ ขึ้นไปถึงถ้ำพระวัดคูหาสวรรค์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.” ไว้ที่เพิงหินหน้าถ้ำ

การเสด็จพระราชดําเนินครั้งนั้น จะได้ทอดพระเนตรเห็นพวกเงาะป่าบ้าง หรือไม่ ไม่มีหลักฐานอะไรจะยืนยันได้ ต่อมาได้เสด็จพระราชดําเนินประพาสหัวเมืองต่าง ๆ ในมณฑลปักษ์ใต้อีกหลายคราว คือในปี ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441) ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) และ ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ทั้ง 3 คราวนี้ตามจดหมายเหตุไม่ปรากฏว่า ได้เสด็จฯ พัทลุง เสด็จฯแต่นครศรีธรรมราชและสงขลา และก็เห็นจะเป็นในคราวเสด็จฯ เมืองนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 3 ถึง 8 กรกฎาคม ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) นั้นเอง ทางบ้านเมืองได้นําพวกเงาะทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ชายหญิงไว้หลายรูป แต่ภาพฝีพระหัตถ์ที่ถ่ายภาพพวกเงาะครั้งนั้น ไม่มีภาพนายคนังรวมอยู่ด้วย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงสังเกตรูปพรรณสัณฐาน และบุคลิกลักษณะของพวกเงาะป่าอย่างถี่ถ้วนด้วยความสนพระราชหฤทัย ทรงพระราชดําริใคร่ที่จะลองเลี้ยงเงาะป่าดูบ้าง ดังนั้น เมื่อเสด็จพระราชดําเนินกลับพระนครแล้ว จึงมีกระแสพระราชดํารัสสั่งให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต สมุหเทศาภิบาลสําเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ให้หาลูกเงาะป่าส่งเข้าไปถวายสักคนหนึ่ง ไม่ได้ทรงเจาะจงว่าจะต้องเป็นเด็กชายหรือหญิง ต้องพระราชประสงค์แต่เพียงให้ได้เด็กอ่อนเท่านั้น แต่ก็ได้ทรงกำชับไปว่ามิให้คณะเกณฑ์เกาะกุมให้เป็นที่ตกอกตกใจจนพากันเตลิดเปิดเปิงไป ให้ใช้วิธีเกลี้ยกล่อมให้ผู้ใหญ่ยินยอมมอบเด็กให้ เจ้าพระยายมราชจึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงให้ดำเนินการสนองพระราชประสงค์

“คนัง” เป็นผู้มีบุญได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ปุรพชาติ จึงดลบันดาลใจให้ผู้ว่าราชการเมืองเลือกสรรเจาะจงเอาตัวส่งเข้ามาถวาย การนำตัวมานั้นทำกันเป็นระยะ ๆ ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงนำส่งให้ท่านสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช อยู่กับท่านสมุหเทศาภิบาลเป็นแรมเดือน ทั้งท่านเจ้าคุณและคุณหญิงช่วยปลอบโยนเอาใจให้หายเหงา

จนกระทั่ง “เมื่อราบกว่าแต่ก่อนหย่อนตื่นเต้น” ดังกลอนพระราชนิพนธ์แล้วจึงพาเข้ากรุงเตรียมนำเข้าถวายตัว มีผู้เปรียบว่า การนำคนังเข้ากรุงเพื่อถวายตัวเป็นมหาดเล็กนี้เสมือนหนึ่งนำพระยาช้างเผือกมาส่งกรุงทีเดียว

ก่อนที่จะส่งตัว คนัง เข้าไปถวายที่ในพระบรมมหาราชวังนั้น เจ้าพระยายมราชได้ส่งรูปคนังที่ท่านถ่ายไว้ พร้อมทั้งได้มีหนังสือกราบบังคมทูลชี้แจงว่า จะให้ท่านผู้หญิงเป็นผู้นำตัวเข้าเฝ้าฯ ขอให้หาของเล่นสีแดง ๆ ไว้ล่อ และขอให้เตรียมข้าวสุกกับกล้วยน้ำว้าไว้ให้กิน ทั้งยังจำเป็นที่จะต้องมีพี่เลี้ยงเพราะยังเด็กอยู่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบความในหนังสือกราบบังคมทูล ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็น พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ทรงรับเลี้ยง

พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

ที่จริงเมื่อ พ.ศ. 2448 นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้นแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ พระที่นั่งอัมพรสถานที่เริ่มสร้างแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2445 ก็ยังไม่เสร็จ พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นแต่เตรียมการ ยังไม่ได้ลงมือสร้าง เวลาเสด็จประทับที่พระราชวังดุสิตก็ประทับพระที่นั่งวิมานเมฆ บางครั้งบางคราวก็เสด็จเข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวัง ตอนที่เจ้าพระยายมราชส่งคนังเข้าถวายตัวนั้น ประทับในพระบรมมหาราชวัง

ทางฝ่ายพระวิมาดาเธอฯ ได้ทรงเตรียมรับรองนายคนังเต็มที่ทีเดียว ทรงจัดสิ่งของเครื่องใช้สำหรับนายคนังไว้สารพัด ซึ่งจะได้กล่าวในภายหลัง และได้ทรงจัดให้สตรีวัยกลางคนซึ่งมีนามว่า “พวง” เป็นพี่เลี้ยง แม่พวงนี้เคยเป็นข้าหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาล กรมขุนพิจิตรเจษฐ์จันทร์ มีหน้าที่ชักพัดในเวลาเสวย

เมื่อพูดถึงคำว่า “ชักพัด” คนสมัยนี้คงไม่เคยเห็น เพราะใช้พัดลมไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศกันบ้าง ดังนั้นพัดที่ใช้แรงคนชักจึงไม่เหลือให้เห็นในพระนคร แต่ตามวัดบ้านนอกยังมีอยู่บ้าง ที่วัดเขาบางทราย จังหวัดชลบุรี ก็มี เพราะข้าพเจ้าเองเป็นผู้ติดถวายไว้

พัดชนิดนี้ทําโครงด้วยไม้สัก รูปร่างคล้ายบานหน้าต่าง ขนาดกว้างยาวตามความต้องการของเจ้าของ โครงนี้จะประดิษฐ์ให้งดงาม เช่นจะสลักเสลา หรือจะขัดเกลี้ยงหรือจะปิดทองล่องชาด ก็สุดแต่จะคิดทํา ต่อจากตัวโครงด้านยาวติดระบายแพรหนา ๆ หรือผ้า หรือสักหลาดอะไรก็ได้ เหนือโครงด้านตรงข้ามกับที่ติดผ้าระบาย ติดห่วงสําหรับแขวนพัดห้อยกับฝ้าเพดานในลักษณะที่ให้โยนตัวแกว่งไกวอย่างเปลได้ ผูกเชือกเส้นใหญ่พอควรกับโครงพัดสําหรับเป็นสายชัก เชือกสายชักนี้ยิ่งยาวยิ่งดี เขามักหุ้มเชือกสายชักด้วยผ้า กันผงเชือกร่วง และกันเจ็บมือคนชัก โดยมากเขานิยมซ่อนคนชัก จึงล่ามสายชักออกไปให้ห่างไกลบางแห่งก็เจาะฝาออกไปชักอีกห้องหนึ่ง บางแห่งก็เจาะพื้นให้คนชักลงไปชักอยู่ใต้ถุนบ้าน ในสมัยก่อนในห้องรับแขก ห้องอาหาร และห้องนอน ตามบ้านขุนนางผู้ใหญ่ ๆ หรือตามวังเจ้านาย ติดพัดชักทั้งนั้น

วันแรกที่ “คนัง” เข้าวังหลวง เอะอะ เกรียวกราวกันมากพอถึงห้องรับแขกที่ตําหนักพระวิมาดาเธอฯ ผู้คนก็เข้านั่งล้อมดูกันแน่น ฝ่ายนายคนังนั่งมองหน้าคนที่ห้อมล้อม เฉยอยู่สักครู่หนึ่งก็ล้มตัวนอนหงายลงกับพื้น ทําตีนหุ้มกํามือแน่น ต่างคนต่างตกใจคิดว่าเป็นลม พระวิมาดาเธอฯ ท่านจะทรงทราบเล่ห์เหลี่ยมอย่างใดของนายคนังก็ไม่ทราบ รับสั่งให้เอาของกินที่เตรียมไว้มาตั้งให้ พอแกเห็นกล้วยเป็นหวีก็ลุกขึ้นกินทันที เป็นอันได้รู้ว่าที่นอนทําตีนหุ้มกํามือแน่นนั้นแกล้งทํา นับว่าเป็นเด็กที่มีมารยามากพอดู

ขณะที่เข้าอยู่ในวังตอนแรกนั้นจะอายุเท่าใดไม่มีใครทราบ เพราะพวกเงาะไม่รู้จักนับเดือน นับปี แต่ถ้าจะดูตามรูปร่างก็ขนาดเด็ก 2 ขวบเรานี่เอง กิริยาที่เปิบข้าวเข้าปากเหมือนพวกแขกยามที่เห็นกันอยู่ในกรุงเทพฯ คือกําใส่ฝ่ามือแล้วแบมือ ส่งอาหารเข้าปาก ไม่ใช้ปลายนิ้วส่งอาหารเข้าปากอย่างไทยเรา

ในระยะแรกที่เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังดูออกจะหงอยเหงาเพราะความแปลกหน้าแปลกถิ่น เลี้ยงดูปลอบโยนกันอยู่ที่ตําหนักพระวิมาดาเธอฯ อีกหลายวันจึงค่อยคุ้นกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมแล้วก็ค่อย ๆ คลายความหงอยเหงาลงเป็นลําดับ

เมื่อเห็นว่าหายเหงาดีแล้ว พระวิมาดาเธอฯ จึงนําขึ้นเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

แม้จะเป็นเด็กชาวป่า ชาวดอย รูปชั่วตัวดําผมหยิก แต่ก็เป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดช่างประจบ จึงเป็นที่โปรดปรานมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอยู่เนือง ๆ พระวิมาดาเธอฯ ก็รักและเอ็นดูเด็กคนังคนนี้มาก ได้ทรงเอาพระทัยใส่ฟูมฟักเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด หาได้ปล่อยให้พี่เลี้ยงดูแต่ลําพังไม่ ทรงจัดให้นอนในห้องข้างห้องบรรทมทีเดียว

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอัมพรสถานใน พ.ศ. 2449 แล้ว คนังก็ได้มาอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรกับพระวิมาดาเธอฯ ที่มุขขวาง (ต่อมาเรียกกันว่าพระที่นั่งปราจีนภาค เป็นส่วนหนึ่งของพระที่นั่งอัมพรสถานทางด้านตะวันตก) ทรงจัดห้องให้อยู่โดยเฉพาะ เป็นห้องข้างห้องบรรทมพระวิมาดาเธอฯ เช่นเคย เครื่องตกแต่งห้องหรูกว่าที่เคยอยู่วังหลวงและพระที่นั่งวิมานเมฆมาก มีเตียงนอนเด็กชนิดมีลูกกรงกันตก มุ้งผ้าโปร่งเม็ดพริกไทยเหมือนกับพระวิสูตรเจ้านายอย่างไรอย่างนั้น

ที่นอน ผ้าปูที่นอน หมอนปลอกหมอนเย็บเป็นพิเศษด้วยผ้าแดงล้วน ผ้าห่มนอนมีทั้งแพรเพลาะแดง ผ้าดอกแดงและผ้าบลังเก็ทแดง นอกจากนี้ก็มีโต๊ะเครื่องแป้ง โต๊ะล้างหน้า ตู้เสื้อผ้าชนิดมีกระจกเงา มีแม้แต่กระทั่งหม้อถ่ายปัสสาวะกระเบื้องอย่างหรูเช่นเดียวกับที่เจ้านายทรงใช้ ตั้งไว้ให้ในตู้ข้างเตียงนอน รวมความว่า เครื่องใช้ไม้สอยสมบูรณ์บริบูรณ์เกือบจะว่าได้ว่าแทบไม่มีอะไรผิดกว่าของเจ้านายในสมัยนั้น

ชีวิตความเป็นอยู่ของ คนัง เมื่อจากป่ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร ภายใต้การอุปการะเลี้ยงดูของพระวิมาดาเธอฯ นั้น นับได้ว่าแสนบรมสุข เมื่อเข้านอนพี่เลี้ยงจะเฝ้าดูแลอยู่ เมื่อหลับแล้วพี่เลี้ยงจึงจะลงไปยังที่อยู่ของตัวได้

ส่วนบนพระที่นั่งมีข้าหลวงเวรกลางคืนสำหรับปฏิบัติการส่วนพระองค์พระวิมาดา 4 คน คนหนึ่งอ่านหนังสือถวาย คนหนึ่งถวายอยู่งานนวด คนหนึ่งเป็นหัวหน้ารับผิดชอบเวรกลางคืน เมื่อทรงเลี้ยงนายคนัง ข้าหลวงเวรกลางคืนนี้คนใดคนหนึ่งจะต้องคอยดูแลนายคนังด้วย ใครมีหน้าที่ดูแลนายคนังตอนกลางคืน ก็ต้องเที่ยวเข้าออกห้องนายคนังอยู่เป็นระยะ ๆ ตลอดคืน

นายคนังตื่นนอนเวลาราว ๆ 08.00 น. เมื่อตื่นแล้วจะต้องลงไปเล่นน้ำในคลองหลังพระที่นั่งอัมพร เลิกเล่นน้ำแล้วอาบน้ำสะอาด แต่งตัวรับประทานอาหารเช้า เสร็จแล้วเข้าเฝ้าฯ เสด็จหญิงพระองค์เล็ก (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ประสูติแต่พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา พระเชษฐภคินีของพระวิมาดาเธอฯ)

พระราชธิดาชั้นเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5 ประทับจากซ้าย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ประทับยืน สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (ภาพจาก “ราชพัสตราภรณ์”)

สมเด็จหญิงพระองค์เล็ก ประทับที่มุขขวางพระที่นั่งอัมพรสถานชั้นล่าง เหตุที่ลงมาประทับชั้นล่างนี้ก็เพราะพระอนามัยไม่ค่อยแข็งแรง ท่านไม่อยากขึ้นลงอัฒจันทร์ก็ขอพระราชทานประทับชั้นล่าง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ต้องพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ท่านขอ แต่ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดที่ประทับพระราชทานอย่างที่จะให้ประทับอยู่อย่างทรงพระสำราญที่สุด มีพร้อมทั้งห้องรับแขก ห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องเก็บของ และห้องพักข้าหลวงแต่ละห้องกว้างขวาง เป็นที่ประทับที่น่าสบายกว่าที่ประทับของพระพี่นางน้องนางของท่านทุกพระองค์

ความที่สมเด็จหญิงพระองค์เล็กไม่ค่อยจะทรงแข็งแรง จึงทำให้พระสิริรูปผอมบาง จนกระทั่งนายคนังเรียกท่านว่า “คุณพี่ผอม”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดทรงงานในเวลากลางคืน กว่าจะได้เข้าที่บรรทมก็จวนรุ่ง บางวันก็เข้าที่พระบรรทมในเวลาราวบ่ายโมง พอได้เวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตื่นพระบรรทม นายคนังก็ต้องขึ้นไปที่ห้องของตนบนพระที่นั่ง เพื่อแต่งตัวขึ้นเฝ้าฯ ในเวลาเสวยพระกระยาหาร ตอนเสวยกลางวันนี้โดยปรกติประทับเสวยกับพื้น เจ้านายชั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกเธอร่วมโต๊ะเสวยด้วย พระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าที่ทรงชุบเลี้ยงใกล้ชิดเฝ้าปฏิบัติรับใช้

นายคนังมหาดเล็กก็เฝ้าปฏิบัติรับใช้ใกล้ชิดขนาดพระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าเหมือนกัน โดยปรกติจะรับสั่งให้เข้าไปนั่งชิดพระยี่ภู่ที่ประทับ ทรงซักถามถึงเรื่องต่าง ๆ เช่นเรื่องความเป็นอยู่ของพวกเงาะป่าที่พัทลุงเป็นต้น และที่จะต้องมีพระราชดำรัสถามอยู่เป็นประจําก็คือถามว่า “เมื่อเช้านี้กินข้าวกับอะไรบ้าง”

ในตอนที่เข้าไปอยู่ใหม่ ๆ อาหารคือข้าวสุกกับกล้วยน้ำว้า ต่อมาพระวิมาดาเธอฯ ท่านก็หัดให้กินอาหาร อย่างอื่น ๆ ด้วยก็รู้สึกว่ากินได้ทุกอย่าง แต่ของหวานที่ต้องมีเป็นประจําเพราะชอบเหลือเกินก็คือ ข้าวเม่าคลุก กับกล้วยน้ำว้าหรือกล้วยไข่

วันไหนมีอาหารอะไรแปลก กินแล้วก็ถามชื่อไว้ ตอนแรก ๆ ไม่มีใครทราบว่าแกถามทําไม ภายหลังจึงทราบว่าต้องการรู้จักจะได้กราบบังคมทูลตอบได้ ยิ่งอยู่นานเข้าก็เป็นที่ประจักษ์ว่าคนังเป็นเด็กฉลาดมากที่สุด มีไหวพริบทันคน และรู้จักประจบประแจงเก่งที่สุด ทําตัวให้เป็นที่ตลกขบขันได้ต่าง ๆ โวหารปฏิภาณดีโต้ตอบใครไม่มีจนแต้ม

ความจําแม่นยํา สังเกตจิปาถะ แม้กิริยาท่าทางของคนคนังก็สังเกตจดจําทําท่าได้เหมือนหมด การเรียกใครว่าอย่างไรก็ไม่มีใครสอน คิดเรียกเองทั้งนั้น จากคําที่แกเรียกใครต่อใคร ทําให้เห็นว่าเข้าใจประจบ เข้าใจคิดเรียก และเรียกอย่างมีเหตุผลอยู่ไม่น้อย

แกเรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า “คุณพ่อหลวง” เรียกพระวิมาดาเธอฯ ว่า “คุณแม่” เรียกเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงว่า “คุณพ่อ คุณแม่ที่บ้าน” เรียกสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ว่า “คุณพี่เผือก” เรียกสมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญาว่า “คุณพี่ขาว” เรียกสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารีว่า “คุณพี่ดํา” เพราะพระฉวี ท่านคล้ำกว่าพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีที่กล่าวพระนามมาแล้ว

(ซ้าย) สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา (ขวา) สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

เป็นที่น่าประหลาดใจเหลือเกินที่เฉพาะเจาะจงเรียกคุณพี่แต่พระโอรสพระธิดาในพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งเขาเรียกว่าคุณแม่ กับพระธิดาในพระอัครชายาเธอ ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีของพระวิมาดาเธอฯเท่านั้น เจ้านายพระองค์อื่นไม่เรียกคุณพี่สักพระองค์เดียว แล้วยังซ้ำเรียกว่าอ้ายไม่ว่าใครเสียด้วย เช่นเรียก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ” ว่า “อ้ายตาขยิบ”

เรียก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า “อ้ายนอนนะนิล” เรียก กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยว่า “อ้ายนินนะหับ” เรียก กรมพระกําแพงเพชรอัครโยธินว่า “อ้ายกาแพงหัก” เรียก เจ้ากรมเอี่ยมว่า “อ้ายหมอนวด” เพราะท่านมีหน้าที่ถวายอยู่งานนวด เรียก หม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์ (ม.ร.ว.ฉาย – ฉาน ศิริวงศ์) ว่า “อ้ายอา”…

ผู้ที่คนังไม่เรียกอ้ายก็มีเหมือนกัน เช่น เรียกสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตว่า “ตุ๊กกระหม่อมชาย” เข้าใจว่า คงจะได้ยินคนอื่นเขาเรียกท่านว่าทูลกระหม่อมชาย คิดไม่ออกว่าจะตั้งฉายาท่านว่ากระไรก็เลยตามเขา เรียกกรมหลวงสรรสาตรศุภกิจ พระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า “ตุ๊ก” เรียกเจ้าจอมจรวยว่า “นางรวย” เรียกเจ้าจอมมารดาวาดว่า “ปลาไหล” 

เหตุที่คนังเรียกเจ้าจอมมารดาวาดว่าปลาไหล ก็เพราะท่านมีหน้าที่แต่งพระภูษาประจำวันถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง คือพอจะทรงเครื่องเสด็จออกข้างหน้า ท่านก็จะเชิญพระภูษาเข้าไปแต่งถวาย เวลาแต่งพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็จะมีกระแสพระราชดำรัสกับท่าน บางทีท่่านก็กราบบังคมทูลเรื่องราวต่าง ๆ

วันหนึ่งทรงพระภูษาต่อหน้าคนัง เผอิญวันนั้นท่านเจ้าจอมมารดากราบบังคมทูลถึงเรื่องแกงปลาไหล กราบบังคมทูลพลางแต่งพระภูษาไปพลาง นายคนังเลยคิดว่าการแต่งพระภูษา (โจงกระเบน) นั้นเรียกว่าปลาไหล เลยตั้งชื่อเจ้าจอมผู้มีหน้าที่แต่งภูษาว่า “ปลาไหล” ส่วนเจ้าจอมสมบูรณ์ คนังเรียกว่า “ท่านบุญอาคุณ” ดูเต็มยศเต็มอย่างกว่าใคร ๆ หมด ทั้งนี้ไม่ใช่อะไร เป็นความฉลาดช่างประจบประแจงของเขาเอง

เจ้าจอมสมบูรณ์ท่านเป็นหลานเจ๊สัวร่ำรวยมาก ทั้งยังเป็นคนใจใหญ่ใจกว้างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ท่านจึงเป็นเจ้าบุญนายคุณของคนมาก นายคนังอยากได้อะไร พี่เลี้ยงสอนให้ไปประจบขอเอาจากท่าน นายคนังก็เข้าไปประจบแล้วก็ได้อะไรต่ออะไรที่อยากได้เสมอ และเห็นทีแกจะได้ยินใคร ๆ พูดว่า ท่านเป็นเจ้าบุญนายคุณเป็นแน่ จึงเลยเรียก “ท่านบุญอาคุณ”

สำหรับตัวข้าพเจ้าเองคนังเรียกว่า “ดาบ” ไม่มีอ้ายไม่มีท่าน ผู้หญิงก็เรียก “อ้าย” แต่ถ้าเขาเล่าเรื่องของพวกเขา เขาจึงจะใช้ “อี” เช่นเรียก “ลำหับ” ว่า “อีลำหับ” ที่เป็นเช่นนี้จะมีเหตุผลอย่างไรก็ไม่ทราบ…

ไม่ว่าคนังจะเล่นจะพูดจาอะไรกับใครว่าอย่างไร ก็ไม่มีใครถือสา ยกให้เสียว่าเป็นคนป่าที่ไม่รู้จักขนบธรรมเนียม กิริยาท่าทางของแกดูจะเป็นครึ่งลิงครึ่งคน แต่ก็ค่อนมากทางคนมากหน่อย ดังนั้นไม่ว่าจะทำอะไรคนก็เอ็นดูขบขันไปหมด ผมของแกไม่เหมือนของคนเราชาวกรุงมันขมวดม้วนไปหมด เวลาพี่เลี้ยงล้างผมจะเห็นยาวสักคืบกว่า ๆ แต่พอเช็ดแห้งแล้วก็ไม่ต้องหวีเพียงใช้มือตบ ๆ ก็จะม้วนขมวดกลมเข้ารูปกะโหลกศีรษะได้เองอย่างเรียบร้อยดูลักษณะของผมที่หยิกขมวด

ใคร ๆ ก็ลงความเห็นว่าน่าจะเป็นที่เก็บเหา แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นเหา แม้แต่ร่องรอยว่าเคยเป็นเหาเมื่ออยู่ป่ามาบ้างก็ไม่มี เพราะผมอย่างนี้ถ้าเคยเป็นเหามาแล้ว ใครจะรูดไข่ออกอย่างไรก็ไม่หมดเกลี้ยงได้ คงต้องเหลือให้เห็นบ้าง และที่น่าแปลกอย่างมากก็คือกลิ่นตัวกลิ่นหัวไม่มี ไม่เหม็นสาบเหม็นสางเลย เพราะอย่างนี้พระวิมาดาเธอฯ ท่านถึงได้กอดด้วยความเมตตาปรานีอย่างหลานได้

นิสัยที่น่าเกลียดก็ตอนเล่นน้ำนี่แหละ เล่นน้ำทีไรเป็นดำน้ำแล้วถ่ายอุจจาระออกมาในขณะที่ตัวเองดำอยู่ใต้ผิวน้ำ เมื่อถ่ายออกมาอุจจาระก็จะลอยขึ้นผิวน้ำตรงหัว แต่ไม่ปรากฏว่าแกโผล่ขึ้นมาให้อุจจาระกองอยู่บนหัวแกสักที แกดำหนีไปเสียไกลจนพ้นแล้วจึงโผล่ พอโผล่ขึ้นมาแล้วก็ไปนั่งเอาก้นไถไปไถมากับเชือกผูกเรือ อาการอย่างนี้ใกล้ทางสัตว์มากกว่าคน เรื่องอุจจาระในน้ำนี้ห้ามกันอย่างไรก็ไม่ฟัง เวลาที่แกอยู่ในพระราชวัง ต้องนั่งถ่ายในหม้อ พอถ่ายเสร็จจะให้ล้างน้ำเป็นไม่ยอม เช็ดด้วยกระดาษก็ไม่ยอมอีกเหมือนกันต้องใช้ไม้เช็ด

ข้อที่น่าแปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเข้ามาเป็นมหาดเล็กนั้นตัวนิดเดียว ไม่มีใครคิดว่าว่ายน้ำเป็น และก็ยังไม่เคยคิดที่จะหัดให้ว่ายน้ำ ทั้งตัวคนังเองก็ไม่เคยบอกเล่าว่าว่ายน้ำได้ แต่พอเห็นแม่น้ำเข้าเท่านั้น แกกระโดดลงไปดำผุดดำว่ายอย่างคนที่ว่ายน้ำแข็งมาก

คนัง เป็นเด็กที่ไม่มีความอาย ความเก้อเขิน แต่มีความเสียใจความเศร้าโศกเหมือนเรา ๆ โลภมาก แต่อารมณ์เย็นมาก ไม่เคยแสดงกิริยาโมโหโทโสเลย ชอบเย้าแหย่หยอกล้อคนมากทีเดียว วาจาที่เย้าแหย่ก็ค่อนข้างคมคาย เช่นพูดล้อหม่อมเจ้าชายทองต่อทองแถมว่า “ตาต่อ ถึงลูกข้าวเม่า” ทีแรก คนฟังก็ไหวไม่ทันว่าแกหมายความว่าอย่างไร ต่อเมื่อแกพูดต่อของแกว่า “ข้าวเม่า-ข้าวเม้า” จึงเข้าใจ เพราะหม่อมมารดาของท่านทองต่อฯ ท่านมีนามว่า “หม่อมเม้า” คล้ายชื่อ “ข้าวเม่า” ที่แกชอบกินเป็นที่สุดก็เลยเรียกท่านทองต่อฯ ว่า “ลูกข้าวเม่า”

คนังเป็นเด็กที่สังเกตกิริยาอาการของผู้อื่น แล้วจดจําเอามาทําท่าล้อเลียนได้เหมือนเสียจริง ๆ ทําได้เหมือนทุก ๆ คน และทุกอิริยาบถเสียด้วย บุคคลที่คนังชอบจําอิริยาบถมาทําท่าล้อเลียนก็คือ พระองค์เจ้าคํารบ พระบิดาของ ม.ร.ว. เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นี่แหละ ทําได้เหมือนเสียจนพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงขัน และทรงรับรองว่าเหมือนจริง ๆ สมัยนั้นพระองค์เจ้าคํารบท่านเป็นผู้บัญชาการทหารอยู่จังหวัดนครสวรรค์ แต่มีราชการที่จะต้องเข้าเฝ้าฯ อยู่เนือง ๆ

คนังจึงสังเกตกิริยาของท่านอย่างละเอียดลออ แล้วเอามาทำท่าล้อท่าน ซ้ำยังเรียกท่านว่า “อ้ายทหารห้องหัก” สันนิษฐานกันว่าที่เรียกอย่างนั้นเพราะเห็นท่านทรงเครื่องแบบทหารม้าเข้าเฝ้าฯ เสมอนั่นเอง…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มีนาคม 2564