“เสด็จประพาสหัวเมือง” พระราชกิจใหม่ที่รัชกาลที่ 4 ทรงฟื้นขึ้นเพราะอะไร

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบ สกุลบุนนาค ประกอบ ประธานาธิบดี เสด็จประพาสหัวเมือง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

“เสด็จประพาสหัวเมือง” คือ หนึ่งในพระราชกิจใหม่ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงฟื้นขึ้น เมื่อทรงขึ้นครองราชย์จึงทรงปรับแก้พระราชานุกิจหรือระเบียบเวลาที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ ตามขนบธรรมเนียมเดิม

ปรับ “พระราชานุกิจ”

ตามพระราชประเพณีเดิม พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ เป็นระเบียบตามกำหนดเวลาที่แน่นอนเสมอ เช่น การเสด็จออกขุนนางวันละ 3 ครั้ง คือ เวลา 10.00 น. เสด็จออกพิพากษาคดี, เวลา 14.00 น. เสด็จออกที่เฝ้ารโหฐาน และเวลา 20.00 น. เสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน ข้าราชการมีหน้าที่ในราชกิจใดก็มาเข้าเฝ้าตามกำหนดเวลาทรงปฏิบัติราชกิจนั้นๆ โดยไม่ต้องนัดหมาย

แต่พระราชานุกิจมีเพียงระเบียบเวลาขณะประทับในพระนคร ไม่ได้ครอบคลุมถึงการเสด็จประพาสไปยังหัวเมืองต่าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะหลังรัชกาลที่ 1 พระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีกิจที่ต้องเสด็จไปศึกสงคราม พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ประทับอยู่ในพระนครเป็นหลัก ทำให้มิได้ทอดพระเนตรความเป็นไปของหัวเมืองต่างๆ และห่างเหินประชาชน

เสด็จประพาสหัวเมือง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ เกยหน้าพลับพลาที่ประทับ โปรดให้ฉายพระรูปกับคณะแขกเมือง ณ ค่ายหลวงบ้านหว้ากอ

เสด็จฯ หัวเมือง

เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงขึ้นครองราชย์ จึงมีพระราชดำริให้แก้ไขพระราชานุกิจบางหัวข้อ หรือโปรดให้เจ้านายพระองค์อื่นทรงงานบางอย่างแทน เพื่อที่พระองค์จะทรงมีเวลาเสด็จประพาสพระนครให้ประชาชนได้เฝ้าหรือถวายฎีกา รวมถึงทรงฟื้นประเพณีเสด็จประพาสหัวเมืองอย่างพระมหากษัตริย์บางพระองค์สมัยอยุธยา

พระองค์เสด็จไปยังหัวเมืองต่างๆ จำนวนมาก ทิศเหนือเสด็จไปถึงเมืองพิษณุโลก ทิศตะวันออกเสด็จไปถึงเมืองปราจีน กับทั้งหัวเมืองชายทะเลจนถึงเมืองตราด ทิศใต้เสด็จไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชและสงขลา ทิศตะวันตกเสด็จไปถึงเมืองนครชัยศรี เมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี และเมืองเพชรบุรี

เสด็จประพาสหัวเมือง
พระที่นั่งวโรภาษพิมานพระราชวังบางปะอิน

บรรดาหัวเมืองที่เสด็จประพาสนั้น โปรดฯ ให้สร้างที่ประทับขึ้นใหม่ในวังที่พระมหากษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยาเคยประทับหลายแห่ง เช่น วังบางปะอินของพระเจ้าปราสาททอง, วังจันทรเกษมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, วังเชิงเขาพระพุทธบาทของพระเจ้าทรงธรรม ฯลฯ

การเสด็จประพาสไปยังหัวเมืองต่างๆ ของรัชกาลที่ 4 จากพระราชกิจใหม่ ก็กลายเป็นประเพณีในรัชกาลอื่นๆ ต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ. ความทรงจำ, สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2505.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2568.