ผู้เขียน | กมลวรรณ ยุทธศิลป์, บัณฑิตา คงสิน และสัตตบงกช เยาวโยธิน |
---|---|
เผยแพร่ |
สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เชื่อมสัมพันธ์มิตรไมตรีและการค้าไทย-พม่า
สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา บริเวณแม่น้ำเมย เส้นทางสำคัญที่ข้ามจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประเทศไทย ไปสู่ เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือประเทศพม่า และยังเป็นช่องทางหลักในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งสะพานเชื่อมสัมพันธ์ไทย-เมียนมานี้ มีถึง 2 แห่งด้วยกัน
แห่งแรก ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย และตำบลท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศพม่า บริเวณด่านชายแดนท่าขี้เหล็ก-แม่สาย เป็นสะพานสร้างข้ามแม่น้ำเมยกับเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า
วัตถุประสงค์หลักในการสร้างสะพานคือ เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีอันดีของประชาชนไทยกับพม่า เสริมสร้างเศรษฐกิจ-การค้าขายบริเวณชายแดนของสองประเทศ และเพื่อสนองตอบนโยบายขององค์การสหประชาชาติที่มุ่งหวังเชื่อมโยงเส้นทางส่วนที่ยังขาดอยู่ของทางหลวงเอเชีย
เมื่อมีการเปิดใช้สะพาน ในปี 2480 ผู้คนให้ความนิยมใช้เส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้ช่องทางสัญจรไม่เพียงพอ รัฐบาลไทย-พม่าจึงเห็นสมควรว่าจะสร้างสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2

สำหรับ แห่งที่ 2 มีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 105 ข้ามแม่น้ำเมย (แม่น้ำตองยิน) ณ บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เข้าสู่บ้านเยปู หมู่ที่ 5 เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง จังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า มีจุดสิ้นสุดบรรจบถนนหมายเลข 85 สายเมียวดี-กอกะเร็ก
สะพานนี้มีความยาว 420 เมตร กว้าง 13 เมตร เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2537 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 18 เดือน และได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540
เพื่อฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจทั้งสองประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว การลงทุนในภาคเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม และช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณด่านชายแดนท่าขี้เหล็ก-แม่สาย หรือ สะพานมิตรภาพฯ แห่งแรกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 สะพานที่เชื่อมประเทศไทย-ประเทศพม่า ณ เมียวดีและท่าขี้เหล็ก ได้แปรเปลี่ยนพื้นที่แถบนั้นจากย่านการค้าธุรกิจข้ามแดน กลับกลายเป็นแหล่งธุรกิจสีเทาขนาดใหญ่ของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์
กระทั่งเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 รัฐบาลไทยมีมติให้ตัดไฟ ตัดอินเตอร์เน็ต ตัดน้ำมัน เพื่อสกัดการดำเนินการของขบวนดังกล่าว ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เป็น 2 ใน 5 จุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่อยู่ในพื้นที่ตัดไฟฟ้า ร่วมกับอีก 3 จุด ได้แก่ 1. บริเวณบ้านเจดีย์สามองค์ – เมืองพญาตองชู รัฐมอญ 2. บริเวณบ้านเหมืองแดง – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 3. บริเวณบ้านห้วยม่วง – อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง

อ่านเพิ่มเติม :
- “สะพานพระราม” ทั้ง 9 อยู่ที่ไหน เชื่อมจุดใดกับจุดใดบ้าง?
- เปิดเมนูเด็ด 5 ชาติพันธุ์ในพม่า “กะเหรี่ยง คะฉิ่น ทวาย ไทใหญ่ มอญ” เหมือนหรือต่างจากไทย?
- “สุดบรรทัด-เจนจบทิศ” สู่ “ถนนมิตรภาพ” ช่วยย่นเวลาเดินทางกทม.-โคราชจาก 10 เหลือ 3 ชม.
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). สะพานมิตรภาพไทย-พม่า. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 268. (ออนไลน์)
https://www.benarnews.org/thai/news/th-ss-myanmar-border-bridge-02282024152807.html
https://www.prachachat.net/property/news-385576
https://www.doh.go.th/content/page/page/194149
https://www.matichon.co.th/politics/news_5033983
https://siamrath.co.th/n/105052
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2568