ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองละแวก บดขยี้ราชธานีเขมร เมื่อ พ.ศ. 2136
“ละแวก” เป็นราชธานีของอาณาจักรเขมรสมัยหลังพระนครอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2070 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พระองค์จันท์) ใช้เวลา 3 ปี จึงแล้วเสร็จ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา
เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พระองค์จันท์) สวรรคต พระราชโอรสขึ้นปกครองแทน คือ สมเด็จพระราชโองการ พระบรมราชารามาธิบดี (พระบาทบรมราชาที่ 4) ซึ่งในรัชกาลนี้ กองทัพเขมรได้เข้าโจมตีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาในสมเด็จพระนเรศวร
รัชกาลต่อมาคือ สมเด็จพระราชโองการ พระบรมรามาธิราชธิบดี พระสัตถา (พระบาทสัตถาที่ 1 หรือพระบรมราชาที่ 5) พระราชโอรสในพระบาทบรมราชาที่ 4 ก็ปกครองเขมรที่เมืองละแวกสืบต่อ
กระทั่งราว พ.ศ. 2127 พระสัตถาทรงสถาปนาพระราชโอรส 2 พระองค์ ซึ่งมีพระชันษาเพียง 11 พรรษา และ 9 พรรษา เป็นกษัตริย์ครองราชย์พร้อมกัน พระราชโอรส 2 พระองค์นั้นได้แก่ สมเด็จพระราชโองการชัยเชฏฐาธิราชรามาธิบดี (พระบาทชัยเชษฐาที่ 1) และสมเด็จพระราชโองการ พระบรมราชาธิราชรามาธิบดี (พระบาทบรมราชาที่ 5)
และกาลอวสานของเมืองละแวกก็มาถึงใน พ.ศ. 2136 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพโจมตีราชธานีเขมร

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่า สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองละแวก 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. 2129 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2136
สาเหตุที่ตีเมืองละแวกนั้น สันนิษฐานว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพไปปราบปราม เนื่องจากเขมรมักยกกองทัพมารุกรานอยุธยาหลายครั้ง เมื่อมีโอกาสพระองค์จึงยกกองทัพไปตีบ้าง ดังความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า
“…ความแค้นของเราดังว่าเสี้ยนยอกอยู่ในพระอุระมิหายเลย และครั้งนี้ แผ่นดินเป็นของเราแล้ว เราจะยกไปแก้แค้นเอาโลหิตพระยาละแวกล้างบาทาเสียให้จงได้…”
และ
“…สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า เมืองตะนาวศรี เมืองมะริต เมืองทวาย เมืองเชียงใหม่นั้นเป็นของเราอยู่แล้ว เห็นศึกหงสาวดีจะห่างลง จำจะยกไปแก้แค้นพระยาละแวกให้ได้…”
ขณะที่เอกสารของเขมรเล่าถึงสงครามในครั้งนั้นว่า สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพตีเมืองละแวก 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. 2127 แต่ไม่สามารถยึดเมืองได้ ทว่าทำให้ทราบว่าเขมรมีอารักษ์ 13 ตน คอยคุ้มครองเมืองอยู่ สมเด็จพระนเรศวรจึงให้มหาดเล็กไปทำลายศรีเมือง
อีกตำนานกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองละแวกไม่ได้ เพราะเมืองมีป่าไผ่ล้อมรอบจึงยากแก่การโจมตี พระองค์จึงโปรดให้ทหารยิงปืนใหญ่โดยใช้เหรียญเงินเป็นกระสุนยิงเข้าไปในป่าไผ่นั้น แล้วยกทัพกลับ แต่ด้วยความโลภของชาวเมืองละแวกจึงพากันตัดป่าไผ่เพื่อเก็บเอาเหรียญเงิน ต่อมา สมเด็จพระนเรศวรจึงยึดเมืองละแวกได้โดยง่าย
ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2136 สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพไป 3 ทาง ส่วนกองทัพเขมรมีสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณนำทัพมารบ แต่พ่ายแพ้ ในที่สุดอยุธยาก็ยึดเมืองละแวกได้ พระสัตถาพร้อมพระราชโอรส และพระมเหสี ก็หลบหนีออกจากเมืองไป

รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เขมร วิเคราะห์ว่า นอกจากเรื่องความขัดแย้งระหว่างสองอาณาจักรแล้ว ยังมีเหตุผลการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กล่าวคือ เอกสารของสเปนหลายฉบับให้ข้อมูลว่า พระสัตถาได้ขอกำลังทหารและอาวุธจากสเปนเพื่อโจมตีอยุธยา แต่สเปนยังไม่ทันได้ตอบรับ สมเด็จพระนเรศวรก็ตีเมืองละแวกได้สำเร็จเสียก่อน
การตีเมืองละแวกในครั้งนี้ก็เพื่อกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินกลับอยุธยา หลังจากเผชิญการสูญเสียครั้งใหญ่คราวสงครามการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2112 อีกทางหนึ่งยังทำให้เขมรอ่อนแอทรุดโทรมลงจนไม่อาจแข่งขันอำนาจกับอยุธยาได้อีกต่อไป
นอกจากนี้ รศ. ดร. ศานติ ยังวิเคราะห์อีกว่า การทำลายเมืองละแวกเสมือนเป็นการทำลายศูนย์กลางการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำโขง เพราะแม่น้ำโขงสามารถใช้เป็นเส้นทางลำเลียงของป่ามาจากทางตอนในของทวีป สงครามครั้งนี้จึงเป็นการทำลายคู่แข่งด้านการค้าที่น่ากลัวของอยุธยาไปในตัว
อยุธยาบดขยี้เขมรจนเมืองละแวกไม่อาจฟื้นคืนกลับมาได้อีก ปิดฉากราชธานีเขมรไว้เพียง 66 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- ทิ้งเมืองพระนคร ตั้งเมืองหลวงใหม่ หลังสงครามกับอยุธยาปี 1974
- พระนเรศวร ตีละแวกแล้วทำ “พิธีปฐมกรรม”…นำ “เลือดศัตรูล้างพระบาท” จริงหรือ?
- พระนเรศวรตีละแวก เอี่ยวการเมืองกัมพูชา-สเปน นำเลือดศัตรูล้างพระบาทจริงหรือ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศานติ ภักดีคำ. “เขมรสมัยหลังพระนคร”. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2568