
ผู้เขียน | กมลวรรณ ยุทธศิลป์ |
---|---|
เผยแพร่ |
รัชกาลที่ 4 และเจ้านายไทย ผู้สนใจวิชาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตก
สมัยรัชกาลที่ 3 นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สยามได้สัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากอิทธิพลของตะวันตกที่เริ่มแผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สยามต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีกลุ่มเจ้านายไทยมากมายที่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีและวิชาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตก นั่นคือ กลุ่มก้าวหน้า ที่เป็นขั้วตรงข้ามของกลุ่มอนุรักษนิยม
ภิกษุเจ้าฟ้าชายมงกุฎ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ทรงสนพระราชหฤทัยวิชาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตกในด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ตลอดจนประวัติศาสตร์ตะวันตก

ภิกษุเจ้าฟ้าชายมงกุฎทรงผนวชมาตั้งแต่ พ.ศ. 2367 ด้วยเหตุผลทางการเมือง การเป็นพระภิกษุเปิดโอกาสในการศึกษาวิชาการสาขาต่าง ๆ นอกจากเรื่องศาสนา ซึ่งในปลาย พ.ศ. 2378 พระองค์มักจะทรงตั้งคำถามกับมิชชันนารีเกี่ยวกับดาราศาสตร์อยู่เสมอ
ทั้งใน พ.ศ. 2390 พระองค์ทรงสะสมสิ่งของจากโลกตะวันตกไว้ที่พระตำหนักที่วัดบวรนิเวศน์ เช่น คัมภีร์ไบเบิลจากอเมริกา พจนานุกรมเว็บสเตอร์ ตำราอุทุกศาสตร์-การเดินเรือ แผนผังเกี่ยวกับสุริยคราส และสำเนาแผนที่สมัยใหม่ของตะวันตก
นอกจากนี้ยังทรงมีห้องพิมพ์หนังสือ มีทั้งแท่นพิมพ์ภาษาไทยและบาลี ซึ่งพระองค์ออกแบบขึ้นเอง และทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกในเอเชียที่จัดซื้อแท่นพิมพ์มาจากประเทศอังกฤษ
ครั้นขึ้นครองราชย์ พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ประการหนึ่งคือ ทรงคำนวณเอาไว้ว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411
โดยจะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนและเต็มดวงที่สุด ณ หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณ เกาะจาน ขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงเมืองชุมพร

พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ว่าจะทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง เพื่อพิสูจน์ผลการคำนวณของพระองค์ที่ทรงคำนวณล่วงหน้าเอาไว้ 2 ปี
พระองค์โปรดให้ จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุญนาค) (ยศในขณะนั้น) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ พร้อมกับเชิญคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์
เมื่อถึงวันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ตามเวลาที่พระองค์คำนวณไว้ ก็ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงขึ้น ตรงกับที่ทรงคำนวณไว้ทุกประการ
เจ้านายไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงแสดงความสามารถในการเรียนรู้วิชาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตกได้อย่างรวดเร็ว คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครั้นยังทรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าจุฑามณี) ทรงเป็นเจ้านายไทยพระองค์แรกที่พูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ทรงรับธรรมเนียมตะวันตกบางประการมาใช้ และโปรดฯ ให้มีการฝึกหัดทหารตามแบบยุโรปโดยให้ทหารแต่งเครื่องแบบอย่างฝรั่งด้วย
พระองค์ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ใช้บริการทางการแพทย์สมัยใหม่จากมิชชันนารี โดยทรงเชิญให้หมอบรัดเลย์ไปถวายการรักษาพระราชมารดา พระโอรส พระธิดา พระสนม ทั้งทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ให้พระธิดาปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ และทรงแสดงพระประสงค์ที่จะให้หญิงไทยเลิกการอยู่ไฟภายหลังคลอด

(ขวา) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ “สมเด็จองค์น้อย” น้องชายร่วมสายเลือดของสมเด็จองค์ใหญ่ ไต่เต้าจากตำแหน่งจมื่นเด็กชาในสมัยรัชกาลที่ 3 จนกระทั่งมีอำนาจทางการเมืองไม่ด้อยกว่าพี่ชาย
นอกจากนี้ยังมี ขุนนางตระกูลบุนนาคที่แสดงความกระตือรือร้นต่อวิชาการตะวันตกเป็นอย่างมาก อย่าง เจ้าพระยาคลัง (ดิศ บุนนาค) (ยศในขณะนั้น) ท่านมีความสนิทสนมกับมิชชันนารีรุ่นแรก ๆ ที่เข้ามาทำงานในสยาม โดยเฉพาะหมอบรัดเลย์ ท่านยังเป็นบุคคลสำคัญในการเจรจาและทำสัญญากับชาติตะวันตก ที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 โดยตลอด
บริเวณบ้านของเจ้าพระยาคลัง หรือละแวกวัดประยูรวงศาวาส ก็ยังใช้รับแขกรัฐบาลโดยเฉพาะชาวต่างชาติ เช่น พ.ศ. 2361 กาละลด มันแวนด์ ทูตโปรตุเกสจากมาเก๊า และ พ.ศ. 2365 ยอน กะระฝัด ทูตอังกฤษ และในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน ก็มีชาวตะวันตกมาอาศัยอยู่บริเวณบ้านของเจ้าพระยาคลังอีกหลายคน ทำให้ท่านได้คลุกคลีกับชาวต่างชาติเป็นพิเศษ
อีกทั้งบุตรชายคนใหญ่ของเจ้าพระยาคลัง คือ จมื่นไวยวรนาถ ก็พูดภาษาอังกฤษได้บ้างแล้ว ทั้งมีความสามารถสูงในการต่อเรือสำเภารบแบบฝรั่ง สามารถต่อเรือรบขนาดใหญ่ได้หลายลำ โดยอาศัยการสังเกตดูเรือฝรั่งที่เข้ามาเมืองไทยเท่านั้น
สยามประเทศในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีความศิวิไลซ์ขึ้นมาก เพราะการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา แต่ก็ไม่ได้เสียความเป็นเอกลักษณ์ไทยไปจนสิ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- 18 สิงหาคม 2411 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง รัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณล่วงหน้าได้แม่นยำ
- “เทาเซนด์ แฮรีส” ทูตอเมริกัน บันทึกถึงขุนนางตระกูลบุนนาค ชมบ้านเรือน-ทิวทัศน์ในไทยงดงาม
- รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งใจเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ แต่มีเหตุสุดวิสัยให้ไม่ได้ไป
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 4. เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทูตต่างประเทศ ยุคก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 พำนักอยู่บริเวณไหนในกรุงเทพ?. https://www.silpa-mag.com/history/article_54459
ผู้นำไทย สมัยรัชกาลที่ 3 กับการรับวัฒนธรรมตะวันตก โดย วิไลเลขา ถาวรธรสาร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2530
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2568