ขนมเทียน : การผสมผสานทางวัฒนธรรมผ่านเทศกาลตรุษจีน

ขนมเทียน ขนมเทียน ขนมมงคล
ขนมเทียน

ขนมเทียน ขนมมงคลประจำเทศกาลตรุษจีน ที่รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์ในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน

ตรุษจีนเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดของชาวจีนทุกหมู่เหล่า เป็นเทศกาลใหญ่ที่กินเวลายาวนาน ในประเทศไทยก็มีการจัดเทศกาลนี้เช่นกัน แต่ขั้นตอนจะรวบรัดกว่าในเมืองจีนมาก ช่วงเทศกาลจะมี 3 วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันถือหรือวันเที่ยว นอกจากนี้คนไทยที่ไม่มีเชื้อสายบางกลุ่มก็รับวัฒนธรรมนี้ไปด้วย 

ของไหว้ประจำเทศกาลตรุษจีนนั้นแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ หมู ไก่ เป็ด และขนมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ขนมเข่ง หรือขนมเทียน 

แม้แต่ในพระราชสำนักก็ยังมีงานพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสิบสองเดือนอีกด้วย

ขนมเทียนถือเป็นขนมมงคลที่นิยมมากไม่เพียงแต่ตรุษจีนเท่านั้น ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ก็นำขนมชนิดนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน โดยสื่อความหมายถึงการมีชีวิตที่ราบรื่น เพราะเป็นขนมที่มียอดแหลมคล้ายกับยอดเจดีย์

สันนิษฐานว่าขนมเทียนเป็นขนมที่ชาวไทยเชื้อสายจีนคิดมาเอง เป็นขนมที่มีต้นกำเนิดมาจากเหนียนเกาหรือขนมเข่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงเคยกล่าวถึงขนมชนิดนี้ ในพระราชนิพนธ์เรื่อง กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทหนึ่งว่า

“รสรักยักลำนำ   ประดิษฐ์ทำขนมเทียน

คำนึงนิ้วนางเจียน   เทียนหล่อเหลาเกลากลึงกลม”

ขนมเทียนจึงได้กลายมาเป็นขนมประจำเทศกาลตรุษจีนอีกหนึ่งอย่างคู่กับขนมเข่ง

ขนมเทียนในหม้อที่กำลังจะนำไปนึ่ง
ขนมเทียนในหม้อที่กำลังจะนำไปนึ่ง

ขนมเทียนทำมาจากแป้งข้าวเหนียว หรือแป้งข้าวเจ้า กวนกับน้ำตาล แล้วนำไปนึ่ง มีไส้ ห่อด้วยใบตองเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ไส้เค็มทำจากถั่วทองนึ่ง ผัดให้เข้ากันกับพริกไทย เกลือ และน้ำตาลทราย ส่วนไส้หวานทำจากมะพร้าวขูดฝอย ผัดให้เข้ากันกับน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย คล้ายกับไส้ของขนมใส่ไส้ สื่อถึงความหวานชื่น ราบรื่น และสมบูรณ์พูลผลนั่นเอง

เหตุที่ได้ชื่อว่าขนมเทียน เพราะเนื้อแป้งมีลักษณะเนียนคล้ายกับเนื้อเทียน ในภาษาจีนกลางไม่มีคำเรียกขนมเทียน ส่วนในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกด้วยคำในภาษาไทยว่า หนุมเทียน 

นอกจากจะใช้ขนมเทียนในเทศกาลตรุษจีนแล้ว สำหรับคนในภาคเหนือก็นำเอาขนมเทียนหรือที่เรียกว่า “หนมจ็อก” มาใช้ในงานปี๋ใหม่เมือง หรือสงกรานต์ของชาวล้านนาด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ขนมเทียนจึงถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ของคนไทยเชื้อสายจีน โดยไม่เพียงแค่เป็นขนมที่มีรสชาติอร่อย แต่ยังเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และการรักษาเอกลักษณ์ผ่านขนมที่มีความหมายทางวัฒนธรรม

การกวนแป้งขนมเทียนเพื่อนำไปห่อไส้
การกวนแป้งขนมเทียนเพื่อนำไปห่อไส้
ขนมเทียนที่นึ่งจนสุก และพร้อมมทาน
ขนมเทียนที่นึ่งจนสุก และพร้อมมทาน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ถาวร สิขโกศล. (2557). เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. กรุงเทพมหานคร : มติชน.

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ขนมเทียน. 4 มีนาคม 2555. (ออนไลน์)

https://www.silpa-mag.com/history/article_44570

https://www.thansettakij.com/lifestyle/travel-shopping/511416

http://mdc.library.mju.ac.th/article/90984/334743/182179.pdf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2568