“ตรุษจีน” เลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ของจีน ดูการแปรเปลี่ยนพิธีเลี้ยงพระตรุษจีนในราชสำนัก

จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเชิงท่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ตรุษจีน ที่มีเลี้ยง ขนมจีน ไม่ใช่ของจีน ย้อนดูการแปรเปลี่ยนพิธีเลี้ยงพระตรุษจีน ในราชสำนัก

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งที่ทรงกำกับกรมท่าในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงแต่งสำเภาทั้งของเจ้านาย ขุนนาง และพ่อค้าชาวจีนบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายในประเทศจีนและต่างประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องพระคลังเป็นอันมาก แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 (พระราชบิดา) ทรงเรียกว่า “เจ้าสัว”

เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคตมิได้ตรัสมอบราชสมบัติแก่ผู้ใด ขุนนางและพระราชวงศ์ต่างมีความเห็นว่าพระองค์ (ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์) ขณะนั้นมีพระชนมายุ 37 พรรษา ทรงรอบรู้กิจการบ้านเมืองดี ทรงปราดเปรื่องในทางกฎหมาย การค้าและการปกครอง จึงพร้อมใจกันอัญเชิญครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3

ครั้นถึงในเดือน 3 ซึ่งมีการพระราชพิธีสำคัญซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นโดยมีพระราชปรารภปรากฏในพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า “ของที่พวกชาวจีนนำมาถวายในตรุษจีนเป็นของสดสุกรเป็ดไก่พร้อมกันหลายๆ คน มากๆ จนเหลือเฟือย ก็ควรที่จะให้เป็นไปในพระราชกุศล จึงได้โปรดให้มีเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยขึ้นทั้งสามวัน แต่ไม่มีสวดมนต์ พระสงฆ์ฉันวันละ 10 รูปเปลี่ยนทุกวัน ตามคณะกลาง คณะเหนือ คณะใต้”

นอกจากนี้แล้วยังพระกรุณาโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และท้าวนางข้างในได้มีส่วนในพระราชพิธีการพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน ดังความว่า “โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และท้าวนางข้างในจัดเรือขนมจีนมาจอดที่หน้าตำหนักแพ” บรรดาภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่ต่างก็จัดเรือขนมจีนมาถวายผลัดเปลี่ยนเวรกันไปทั้งสามวัน

ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามบันทึกในพระราชพิธีสิบสองเดือนนั้นมีรับสั่งว่า “การที่ทำบุญตรุษจีนเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ของจีนเป็นแต่สักว่าชื่อเป็นจีน” จึงโปรดให้มีการเปลี่ยนจาก “ขนมจีน” เป็น “เกาเหลา” ตามบันทึกกล่าวว่า “ให้ทำเกาเหลาที่โรงเรือยกเข้ามาเลี้ยงพระสงฆ์แทนขนมจีนเป็นของหัวป่าชาวเครื่องทำ”

ครั้นมาถึงสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ทูลพระกรุณาขอให้มีเรือขนมจีนขึ้นอย่างสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นอย่างเก่า และทูลพระกรุณาขอให้ภรรยาของท่านและเจ้าพระยาทิพากรวงศ์จัดขนมจีนมาถวายและมาเฝ้าเหมือนอย่างแต่ก่อนด้วย

การพระราชพิธีการพระราชกุศลตรุษจีนจึงเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาเจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่เป็นอันมาก ส่วนเรื่องเกาเหลาเลี้ยงพระนั้นกล่าวว่า “แล้วผู้ทำก็ล้มตายหายจาก กร่อยๆ ลงก็เลยละหายไปเอง คงอยู่แต่เรือขนมจีนทุกวันนี้”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานเพลิงพระศพ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ณ พระเมรุวัดเบญจมบพิตร วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2496, http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book/cl52_0037/mobile/index.html เข้าถึงเมื่อ 25 มกราคม 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2563