“จันอับ” ขนมตั้งแต่ยุคอยุธยา ฮิตจนยุครัตนโกสินทร์ถึงขั้นเก็บภาษี

ขนมจันอับ หรือ เครื่องจันอับ
ขนมจันอับ ทั้ง 5 ชนิด (ภาพ วิภา จิรภาไพศาล)

ขนมจันอับ หรือ เครื่องจันอับ เป็นขนมของจีนที่เรียกพ้องเสียงมาจาก “จังอั๊บ” (ในภาษาแต้จิ๋วยังเรียกว่า แต้เลี้ยว, จับกิ้ม และ มึงเต้าเขี่ย) จันอับเสมือนหนึ่งขนมสารพัดนึกของคนจีน ที่สามารถใช้ได้ในงานหลายประเภทหลายเทศกาล เช่น ใช้ไหว้เจ้า ในงานแต่งงาน, ไหว้บรรพชนในเทศกาลต่างๆ (โดยเฉพาะตรุษจีน), ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กในงานศพ ฯลฯ

ขนมจันอับ ขนมยอดฮิตเทศกาลจีน   

ขนมจันอับ เป็นการรวมตัวของขนม 5 อย่างคือ ถั่วตัด (เต้าปัง) งาตัด (อิ้วมั่วปัง) ข้าวพอง (บีปัง) ถั่วลิสงเคลือบน้ำตาลสีขาว-แดง (ซกซา) และ ฟักเชื่อม (ตังกวยแฉะ) โดยบัญชีหมวดขนมต่างๆ ของจีน ที่นำมาแสดงในงานฉลองพระนครครบ 100 ปี ณ ท้องสนามหลวง ระบุถึงขนมจันอับว่า

“…รวม 58 สิ่งนี้ จีนเรียกว่าแต้เหลี้ยว ไทยเรียกว่าเครื่องจันอับเปนขนมสำหรับจีนไหว้เจ้า เมื่อเทศการตรุษจีน ศาจจีน ไม่ว่าตรุษศาจอันใด ต้องมีเครื่องแต้เหลี้ยวนี้กำกับทุกตรุษ ทุกศาจ โดยที่สุดแต่วันชิวอิดจับเหงา ก็ต้องมีเครื่องแต้เหลี้ยวไหว้เจ้าทุกวันๆ แลเครื่องแต้เหลี้ยวนี้เปนของรับประทานกับน้ำร้อนน้ำชาด้วย

อนึ่ง ไทยจีนจะทำการวิวาหะมงคล ฤๅทำการบุญต่างๆ ก็มักใช้เครื่องแต้เหลี้ยวเปนของขันหมาก แลใส่ปากระจาดก็มาก เครื่องแต้เหลี้ยวนี้ จีนทำขายที่ตำบลสำเพง ราคาซื้อขายที่โรงผู้ทำต้องชั่งน้ำหนักระคนปนกันทุกสิ่ง หนักห้าชั่งจีนต่อบาท ราคาซื้อขายตามตลาดเครื่องแต้เหลี้ยวห่อหนึ่งหนักเจ็ดตำลึงจีนบ้าง แปดตำลึงจีนบ้าง ราคาห่อละเฟื้อง ที่เปนชิ้นเปนอันก็ขายกันอันละเฟื้อง อันละ 4 อัฐ อันละ 2 อัฐ อันละ 1 อัฐ ก็มี” 

ขนมจันอับ ทั้ง 58 ชนิดข้างต้นนั้น ได้แก่

1. เต้าปัง 2. อิ้วมั่วปัว 3. บีปัง 4. โซถึง 5. ตังกวยแชะ 6. อิ้วจ๊อ 7. เม่งถึง 8. เต้ายุ่น 9. นึ้งโก 10. แชะโก 11. เซียงเต้าทึง 12. ซกซา 13. กิมจี้เปีย 14. กิมเก๊กโซ 15. กิมโซเปีย 16. ฮองหงันเปีย 17. บีปังภู่อิ่ว 18. เต้าเปีย 19. บะเปีย 20. โซเกี้ยว 21. เบเตยโซ 22. กุ่ยซือเปีย 23. กึงกังเปีย 24. ฮุนเพียงโก 25. เกียมโก 26. จือถึงโก 27. กังเหล็กเต้าโก 28. เบ๋เต้ยโก 29. เงกตั่วโก 30. มี่เปา 31. ฮวนกัวะโซ 32. เล่าฮวย 33. ซะผ่า 34. ฬ่อใจ 35. เก๊กฮวยโก 36. แปะจือมั่วโก 37. โอจือมั่วโก 38. ทึ่งปัง 39. ทึ่งกวย 40. กิมหัม 41. ฮำคักโซ 42. เต้ายินไซ 43. บียุ่น 44. เกยปะโก 45. เปียโถ 46. มี่เต๊ก 47. เล่งมึ่งเปีย 48. เง่าฮุนปัง 49. กาเปีย 50. มั่วโซ 51. เตเปีย 52. บ้วยกี 53. เกียมกิดโซ 54. เฮงยิ่นโช 55. กวยจี้โก 56. ตือถึงโก 57. เปากวน 58. ลาเลกเต้าโก

ฮิตจนต้องเก็บภาษี-จับปรับ

ความนิยมขนมจันอับที่มีมาก ทำให้ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการเก็บภาษีจาก เครื่องจันอับ โดยกรมพระคลังสินค้า พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการออก “พระราชบัญญัติ อากรเครื่องจันอับ รัตนโกสินทร์ศก 111” ซึ่งกำหนดให้การผลิต, การจำหน่ายเครื่องจันอับ ต้องได้รับการอนุญาตก่อน พร้อมทั้งกำหนดลงโทษ ในมาตรา 3 และมาตรา 8 ดังนี้

เรื่องห้ามมิให้ทำซื้อขายเครื่องจันอับ มาตรา 3 ห้ามมิให้บุคคลผู้ใด ตั้งทำของเครื่องจันอับ 6 หมวด คือ 1. น้ำตาลกรวด 2. ฟัก ถั่วก้อน ถั่วตัด งาตัด โซถึง ขนมปั้นล่ำ ขนมก้านบัว ขิงเขี้ยวน้ำตาลทราย ขนมเปีย เข้าพอง ตังเม ถั่วงา ขนมโก๋ทำด้วยแป้งเข้าแป้งถั่ว  สรรพจันอับ 3. วุ้นแท่ง ตังเมหลอด น้ำตาลทรายเขี้ยว หล่อแหลมเปนรูปต่างๆ 4. ขนมกะลา เปาทำด้วยแป้งเข้าสาลีอันใหญ่อันเล็ก 5. ไพ่กระดาษจีน แล 6 เทียนไขเนื้อ นอกจากได้รับอาชญาบัตรจากราชาธิปตัย แลห้ามมิให้บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งขายฤาซื้อของเครื่องจันอับ 6 หมวดดังกล่าวแล้วข้างต้น นอกจากเครื่องจันอับใน 6 หมวดข้างต้นนั้นได้ทำโดยผู้ซึ่งได้รับอาชญาบัตรจากราชาธิปตัย  ฤาได้เรียกภาษีขาเข้าแล้ว 

การปรับโทษ มาตรา 8 “ผู้บังอาจทำเครื่องจันอับผิดพระราชบัญญัตินี้ต้องปรับไหม ครั้งหนึ่งไม่เกิน 300 บาท ผู้ขายเครื่องจันอับผิดพระราชบัญญัตินี้ ต้องปรับไหมครั้งหนึ่งไม่เกิน 100 บาท แลผู้ซื้อเครื่องจันอับผิดพระราชบัญญัตินี้ ต้องปรับไหมไม่เกิน 50 บาท ของที่ทำแลซื้อขายผิดต้องริบเปนของผู้รับอาชญาบัตรตำบลนั้น แลเงินค่าปรับเปนของผู้ได้รับอาชญาบัตรกึ่งหนึ่งเปนของพิไนยหลวงกึ่งหนึ่ง”

อัตราเทียบปรับข้างต้นที่ปรับทั้งผู้ผลิต, ผู้ขาย และผู้ซื้อ ที่ค่อนข้างสูง น่าจะเป็นไปได้ว่า “ขนมจันอับ” เป็นที่นิยม มีการซื้อขายบริโภคกันอย่างกว้างขวาง จึงมีการลักลอบผลิตแบบผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ถ้าดูประวัติความเป็นมาของขนมจันอับ พบว่าชาวสยามรู้จักขนมชนิดนี้มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เห็นได้จาก “เอกสารจากหอหลวง” หรือ คำให้การหลวงประดู่ในทรงธรรม (เจ้าฟ้าอุทุมพร ในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) ระบุว่า มีตลาดหลายแห่งขายจันอับ เช่น

ตลาดขนมจีน ถนนย่านขนมจีน มีร้านโรงขึ้น ทําขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋ เครื่องจันอับ ขนมจีนแห้ง

ตลาดน้อย ถนนย่านสามม้า ตั้งแต่เชิงสะพานในไก่ตะวันออกไปถึงมุมพระนครที่ชื่อตําบลหัวสาระภา บริเวณประตูช่องกุดท่าเรือจ้างข้ามไปวัดพนัญเชิง มีพวกขึ้นตั้งโรงทำเครื่องจันอับ และขนมแห้งขึ้นต่างๆ หลายชนิดหลายอย่าง มีช่างจีนทำ โต๊ะ เตียง ตู้เก้าอี้น้อยใหญ่ต่างๆ ขาย มีช่างอื่นทําถังไม้ใส่ปลอกไม้ และปลอกเหล็ก ถังใหญ่น้อยหลายชนิดขาย พวกชาวพระนครรับซื้อไปใช้ ต่างนางเลิ้ง คือตุ่มน้ำหรือโอ่งน้ำ ทําสรรพเครื่องเหล็กต่างๆ ขาย และรับจ้างเหล็กรูปพรรณตามใจชาวเมือง มาข้าง มีตลาดสดเช้า-เย็น

นับว่า ขนมจันอับ เดินทางอยู่ในสังคมไทยยาวนานมิใช่น้อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

เสี่ยวจิว. ตัวตน คน ‘แต้จิ๋ว’, สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งแรก. กันยายน พ.ศ. 2554

สูจิบัตรงานนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทย ในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. 2425. สำนักพิมพ์ต้นฉบับ. พิมพ์ครั้งที่ 2. พ.ศ. 2543

พระราชบัญญัติ อากรเครื่องจันอับ รัตนโกสินทร์ศก 111, http://www.ratchakitcha.soc.go.th สืบค้น  เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564

สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. “ย่านคนจีน ถิ่น China Town กรุงเก่า อนุธยา” เอกสารภูมิสังคมเสวนาสาธารณะ “พระเจ้าอู่ทองมาจากไหน เป็นไทย ลาว หรือ “เจ๊ก” จีน?, กันยายน 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2564