
เผยแพร่ |
---|
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) ด้วยผลจากการลงนามในปฏิญญาอาเซียน (ปฏิญญากรุงเทพฯ) โดยสมาชิกผู้ก่อตั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย
การเกิดขึ้นของสมาคมอาเซียน ไทยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฐานะคนกลางที่ช่วยสร้างความปรองดองภายในภูมิภาค บรรเทาความขัดแย้ง (ปัญหาใหญ่คือข้อพิพาทด้านอาณาเขต) ระหว่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
ก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย เคยรวมตัวกันก่อตั้งสมาคมอาสา [ASA] เมื่อ พ.ศ. 2504 แต่สมาคมฯ ก็ดำเนินการได้เพียงสองปีก็ล้มเลิกไปเพราะความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์
ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวว่า ตนได้พูดคุยกับอดัม มาลิก (Adam Malik) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย (ในขณะนั้น) ถึงความเป็นไปได้ในการก่อตั้งสมาคมความร่วมมือระหว่างภูมิภาคขึ้นมาใหม่ ซึ่ง มาลิก ตอบรับอย่างไม่ลังเล แต่ขอเวลาปรึกษากับรัฐบาลเสียก่อน
จากนั้น รัฐบาลไทยจึงเชิญตัวแทนจาก 2 อดีตสมาชิกอาสาคือ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย พร้อมด้วย อินโดนีเซีย เพื่อเข้าร่วมการเจรจาในกรุงเทพฯ ก่อนที่สิงคโปร์จะเสนอตัวขอเป็นสมาชิกก่อตั้งสมาคมความร่วมมือใหม่นี้ด้วย
ปัจจุบัน อาเซียนได้เปิดรับสมาชิกเพิ่มเติมรวมเป็น 10 ประเทศ ครอบคลุมทุกรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความร่วมมือส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจ หลีกเลี่ยงที่จะสร้างร่วมมือในการแก้ไขปัญหาทางสังคม ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ หรือแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เหมือนเช่นสมาคมอื่นๆ
อ้างอิง :
“The Founding of ASEAN”. Association of Southeast Asian Nations. <http://asean.org/asean/about-asean/history/>
ASEAN deadlocked on South China Sea, Cambodia blocks statement. Reuters. <http://www.reuters.com/article/us-southchinasea-ruling-asean-idUSKCN1050F6>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2559