ผู้เขียน | โชติกา นุ่นชู |
---|---|
เผยแพร่ |
การสร้างภาพความเหลื่อมล้ำผ่านสื่อภาพยนตร์เปรียบเสมือนกระจก นั้นเพราะสามารถสะท้อนให้เราเห็นภาพตามทิศทางที่มันส่องไป แต่รูปของกระจกที่นำมาสร้าง สะท้อน ถ่ายทอด หรือนำเสนอ เรื่องราวในแง่มุมที่หลากหลายอาจทำให้เรื่องราวบิดเบือนไปบ้าง เพราะใช่ว่ากระจกจะสะท้อนทุกอย่างที่มันส่องอย่างตรงไปตรงมาเสมอ นอกจากนี้ รูปแบบของกระจกยังมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสี หรือความขุ่นใสของกระจก
การเลือกใช้กระจกบานหนึ่งในภาพยนตร์จะต้องขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้สร้างที่เลือกให้กระจกหันไปสะท้อนมุมใดเป็นสำคัญ ดังนั้น ภาพยนตร์จึงเป็นสื่อที่มีอิทธิพลทางด้านความคิดในเรื่องการโน้มน้าวชักจูงใจ แสดงออกถึงค่านิยม อุดมการณ์ และวัฒนธรรม อีกทั้งยังสะท้อนภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นปรากฎการณ์ยุคสมัยนั้น สามารถเผยแพร่ด้วยความเป็นสากล นั่นคือ การเข้าถึงกลุ่มคนได้เป็นวงกว้าง
ภาพยนตร์อาเซียนหลายเรื่องพยายามใช้เรื่องราวบนแผ่นฟิล์มเป็นสื่อกลางสะท้อนประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในโลกแห่งความเป็นจริง บทความนี้จะขอเปรียบเทียบภาพยนตร์สองประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์กับประเทศลาว ที่ดูอย่างผิวเผินแล้วไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันเลย เรื่องหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นชนกลุ่มน้อยของชาวอินเดียในสิงคโปร์ ซึ่งชาวอินเดียที่อยู่ในสิงคโปร์นั้นเป็นผลพวงมาจากยุคอาณานิคมของอังกฤษ ที่อังกฤษเอาชาวจีนและชาวอินเดียเข้ามาในสิงคโปร์ โดยการนำชาวอินเดียเข้ามาควบคุมชนพื้นเมืองมลายู ทำงานรับใช้ราชการของจักรวรรดินิยมอังกฤษ
เราจะเห็นเรื่องชนชั้น ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มใหญ่และคนกลุ่มน้อย เพราะเวลาเรามองภาพสิงคโปร์ เราจะเห็นแต่ชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ชนพื้นเมืองในพื้นที่ อย่างชาวอินเดียถูกกดทับ บริบททางสังคมทั้งหมดจะถูกสะท้อนผ่านภาพยนตร์เรื่อง My Magic
อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่เล่าเกี่ยวกับความสยองขวัญในหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของเวียงจัน ที่มีตัวละครหลักชื่อ สิท เป็นหมอยาสมุนไพร ได้เสียสละชีวิตคู่เพื่อความกตัญญู และเพื่อเป็นหมอซึ่งเป็นความหวังของหมู่บ้าน หรือแม้แต่ตัวนางเอกที่ต้องเสียสละชีวิตคู่ที่สุขสบายเช่นกัน ต้องรับภาระดูแลแม่พระเอก ดูแลบ้าน ไปจนถึงต้องดูแลภาระที่พระเอกทิ้งไว้หลังความตาย ตลอดจนสะท้อนชีวิตของชาวลาวอีกด้านได้อย่างน่าสนใจ ทั้งการศึกษา ฐานะ และบทบาทหน้าที่ สะท้อนภาพความเป็นจริงทางสังคม เราจะเห็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางสังคมของคนเมืองและคนชนบท เพราะเวลาเรามองภาพลาว เรามักจะเคยชินกับลาวในฐานะเจ้าบ้านเมืองเที่ยว ทำให้คนชนบทอย่างในพื้นที่ห่างไกลไม่ได้รับการพัฒนา บริบททางสังคมทั้งหมดจะถูกสะท้อนผ่านภาพยนตร์เรื่อง ผ้าพันคอแดง
จากภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ สิงคโปร์ที่คนมองว่าเป็นประเทศเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จ มีความทันสมัย แต่เราไม่เคยเห็นปัญหาของชาวสิงคโปร์เลย นอกจากนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งกับคนที่เป็นชนกลุ่มใหญ่อย่างชาวจีน หรือคนที่เป็นชนกลุ่มเล็กอย่างชาวมลายู ชาวอินเดีย ชาวอาหรับ ส่วนลาวที่คนมองว่าเป็นประเทศที่มีสถานท่องเที่ยวสวยงาม เป็นจุดเด่น ผู้คนยิ้มแย้ม มีความสุข แต่อีกด้านเราไม่เคยเห็นปัญหาของชาวลาวเช่นเดียวกัน ทั้งด้านวิถีชีวิตที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง การศึกษาที่ยังคงต้องพัฒนา ฐานะทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน และ ฯลฯ ซึ่งภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องได้สะท้อนภาพความเป็นจริงทางสังคมอย่างชัดเจน
ภาพยนตร์เหล่านี้อาจต้องอาศัยความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้านอยู่ระดับหนึ่ง แต่ทว่าการนำภาพยนตร์เหล่านี้มาฉายสู่สาธารณชนนั้น ก็เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจเพื่อนบ้านในหลายมุมมองมากขึ้น มองเห็นภาพของประเทศนั้น ๆ กว้างมากยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้เรื่องความแตกต่าง และเกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะในเรื่องศาสนาหรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งปกติแล้ว หลายคนจะไม่ค่อยมองถึงประเด็นนี้เนื่องจากได้มองเห็นเพียงแค่ภาพผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านจากภาพข่าวและภาพการท่องเที่ยวที่ดูสวยงามเท่านั้น
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562