สึนามิในประวัติศาสตร์โลก “คลื่นยักษ์” ในทะเลอันดามันไม่ใช่เรื่องใหม่ !?

ภาพถ่ายในพิพิธภัณฑ์ Pacific Tsunami รัฐฮาวาย ผู้คนวิ่งหนีจากคลื่นสึนามิที่กำลังเข้าใกล้ในเมืองฮิโล รัฐฮาวาย เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2489 สึนามิในประวัติศาสตร์โลก
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายในพิพิธภัณฑ์ Pacific Tsunami รัฐฮาวาย ผู้คนวิ่งหนีจากคลื่นสึนามิที่กำลังเข้าใกล้ในเมืองฮิโล รัฐฮาวาย เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2489 (ภาพโดย Jurema Oliveira ใน Wikimedia Commons)

เปิดข้อมูลสึนามิในประวัติศาสตร์โลก เมื่อคนเคยคิดว่า “คลื่นยักษ์” ในทะเลอันดามันเป็นเรื่องไกลตัว ไม่น่าเกิดขึ้น แต่กลับไม่ใช่เรื่องใหม่

“การเกิดคลื่นน้ำขนาดยักษ์ หรือสึนามินั้น ถือเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงด้วยขนาด 8.0 ริกเตอร์ และเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกในประเทศไทย และในรอบ 40 ปีของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเกาะสุมาตรา”

ถ้อยแถลงของ นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาขณะนั้น หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย สาเหตุของคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547

“สึนามิ” ในอันดามัน ของใหม่หรือเก่า?

“เขาก็เตือนกันมาแล้วไม่เชื่อและไม่ฟังกันเองเรื่องคลื่นยักษ์สึนามิ”

เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วนถูกโยนให้แก่บรรดารัฐบาลของประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอันดามัน และอ่าวเบงกอลว่าไม่เชื่อและดูเบาเรื่องสึนามิจนไม่ใส่ใจที่จะติดตั้งสัญญาณเตือนภัย

จะเห็นว่าสมัยนั้น รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ทั้งไทย อินเดีย ศรีลังกา พม่า บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ล้วนไม่มีระบบสัญญาณเตือนภัยอย่างการติดตั้งทุ่นกลางทะเลจับสัญญาณคลื่นยักษ์ เหตุผลเพราะค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างแพงและเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะคลื่นยักษ์ไม่เคยเกิดขึ้นในย่านนี้มาก่อน ทำให้ประมาทและขาดความระแวดระวังกัน

แต่จริงหรือที่สึนามิไม่เคยเกิดขึ้นในทะเลย่านนี้มาก่อน?

เพราะความจริงคือเมื่อปี 2547 มีคน “รับรู้” สัญญาณภัยว่าจะเกิดสึนามิขึ้น จากการที่จู่ ๆ น้ำทะเลก็แห้งเหือดหายไปจากหาดอย่างฉับพลันทันใด ลดลงไปอยู่ห่างจากฝั่งเป็นหลักกิโลเมตรอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อย่างกรณีชาวเลกลุ่มหนึ่งที่นักร้องวัยรุ่นไทยสองคนได้พบว่ากำลังตั้งหน้าตั้งตาเก็บข้าวของเป็นการใหญ่แล้วรีบอพยพขึ้นที่สูงบนเกาะ ปรากฏว่าคนกลุ่มนี้ (รวมถึงนักร้อง) รอดชีวิตกันหมด

จึงเป็นไปได้ว่า ชาวเลเหล่านั้นรับถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษที่เล่ากันปากต่อปากถึงสัญญาณเตือนภัยข้างต้น บ่งชี้ว่าสึนามิเคยเกิดขึ้นในทะเลย่านนี้มาแล้ว เพียงแต่วัฏจักรของมันเนิ่นนานเป็นหลักร้อยปี จนคนเมืองไม่รู้ว่าเคยมี

ความเสียหายหลังเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ. 2547 ที่จังหวัดพังงา
ความเสียหายหลังเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ. 2547 ที่จังหวัดพังงา (ภาพจาก AFP PHOTO/Pornchai KITTIWONGSAKUL)

สึนามิในประวัติศาสตร์โลก “ทุกปี” มีคลื่นยักษ์เกิดขึ้นทั่วโลก

จากสถิติพบว่า ไม่มีปีใดเลยที่ไม่เกิดสึนามิขึ้นบนโลก เพียงแต่เป็นแบบไม่รุนแรงและไม่ส่งผลเสียหายในวงกว้าง โดยข้อมูลจากการรวบรวมคือปีที่บันทึกถึงการเกิดสึนามิมากที่สุดคือ พ.ศ. 2481 ซึ่งมีถึง 19 ครั้ง

ข้อมูลของศูนย์เตือนภัยสึนามิภาคพื้นแปซิฟิก ชี้ว่าในช่วง 101 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2443 ถึง 2544 มีสึนามิเกิดขึ้น 796 ครั้ง ในจำนวนนี้มี 117 ครั้งที่สร้างความเสียหายเฉพาะบริเวณที่เกิดเท่านั้น และมีเพียง 9 ครั้งที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้างระดับภาคพื้นแฟซิฟิก

ในจำนวน 796 ครั้งนั้น ร้อยละ 17 เกิดในหรือใกล้กับประเทศญี่ปุ่น, ร้อยละ 15 ในอเมริกาใต้, ร้อยละ 13 แถบหมู่เกาะนิวกินี, ร้อยละ 11 ในประเทศอินโดนีเซีย และร้อยละ 10 แถบเม็กซิโก อเมริกากลาง และหมู่เกาะคูริล

สุวิทย์ โคสุวรรณ และศูนย์เตือนภัยฯ ได้ลำดับการเกิดสึนามิ ขนาดความรุนแรง และความเสียหายที่มีการบันทึกไว้ ในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

1. รัฐมหาราษฏระ อินเดีย พ.ศ. 2067 ไม่มีข้อมูลผู้เสียชีวิตหรือความรุนแรง

2. ชายฝั่งโปรตุเกส สเปน และโมร็อกโก พ.ศ. 2298 มีบันทึกจำนวนผู้เสียชีวิตราว 60,000 คน

3. เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย พ.ศ. 2424 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ริกเตอร์ที่หมู่เกาะอันดามัน เกิดคลื่นสูง 1 เมตร เข้าชายฝั่งในอินเดีย แต่ไม่ทราบความเสียหาย

4. ภูเขาไฟกรากะตัว อินโดนีเซีย พ.ศ. 2426 (สมัยรัชกาลที่ 5) ภูเขาไฟระเบิดต่อเนื่อง 3 ครั้ง ทำให้เกิดสึนามิทั่วมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉพาะที่เกาะชวา และสุมาตรา เกิดคลื่นยักษ์สูง 15-42 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 36,000 คน

5. เมืองเมจิซันริจู ญี่ปุ่น พ.ศ. 2439 มีคลื่นสูง 30 เมตรซัดเข้าฝั่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 27,000 คน บาดเจ็บอีกราว 9,000 คน บ้านเรือนเสียหาย 10,600 หลัง

6. หมู่เกาะนิโคบาร์-อันดามัน พ.ศ. 2484 จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ ทำให้เกิดสึนามิสูง 1 เมตร มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 คน

7. ปากีสถาน ชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย พ.ศ. 2488 แผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ ทำให้เกิดสึนามิ แต่ไม่ข้อมูลขนาดและความเสียหาย

8. ชายฝั่งอลาสกาและฮาวาย พ.ศ. 2489 เกิดขึ้นสึนามิสูง 16 เมตร สิ่งก่อสร้างเสียหาย ผู้เสียชีวิตราว 160 คน

9. ชายฝั่งชิลี พ.ศ. 2503 แผ่นดินไหวบริเวณชายฝั่งชิลีขนาด 9.5 ริกเตอร์ ก่อให้เกิดสึนามิทั่วชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก คลื่นมีความเร็ว 710 กม./ชม. มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน ประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ไกลถึง 17,000 กม. ได้รับคลื่นสูง 7 เมตร ทำให้มีชาวญี่ปุ่นเสียชีวิต 170 คน บาดเจ็บ 500 คน

10. นิการากัว พ.ศ. 2535 เกิดสึนามิคลื่นสูง 10 เมตร มีผู้เสียชีวิต 170 คน บาดเจ็บ 500 คน

11. เกาะฟลอเรส อินโดนีเซีย พ.ศ. 2535 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริกเตอร์ มีคลื่นสูง 26 เมตร ผู้เสียชีวิต 1,000 คน

12. ฮอกไกโด ญี่ปุ่น พ.ศ. 2356 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ริกเตอร์ มีสึนามิสูง 30 เมตร ผู้เสียชีวิต 200 คน

13. พ.ศ. 2537 เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิรวม 3 ครั้ง หมู่เกาะชวา ขนาด 7.2 ริกเตอร์ คลื่นสูง 14 เมตร ผู้เสียชีวิต 220 คน หมู่เกาะคูริล ขนาด 8.1 ริกเตอร์ คลื่นสูง 11 เมตร ผู้เสียชีวิต 11 คน และมินโดโร ฟิลิปปินส์ ขนาด 7.1 ริกเตอร์ คลื่นสูง 7 เมตร ผู้เสียชีวิต 70 คน

14. เปรู พ.ศ. 2539 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริกเตอร์ คลื่นสูง 5 เมตร ผู้เสียชีวิต 12 คน

15. นิวกินี พ.ศ. 2541 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ คลื่นสูง 15 เมตร ผู้เสียชีวิต 200 คน

16. เปรู พ.ศ. 2544 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.3 ริกเตอร์ คลื่นสูง 5 เมตร ผู้เสียชีวิต 50 คน

และทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย พ.ศ. 2547 มีแผ่นดินไหวขนาด 9.3 ริกเตอร์ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สูงกว่า 10 เมตร  ประเทศต่าง ๆ ทั่วมหาสมุทรอินเดีย ทั้งอินโดนีเซีย ไทย ศรีลังกา ฯลฯ ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230,000 คน

ภาพแสดงแนวคลื่นที่แผ่ออกไปหลังเหตุแผ่นดินไหวใต้ทะเลเมื่อปี 2547
ภาพแสดงแนวคลื่นที่แผ่ออกไปหลังเหตุแผ่นดินไหวใต้ทะเลเมื่อปี 2547 (ภาพโดย National Oceanic and Atmospheric Administration ใน Wikimedia Commons)

จะเห็นว่านอกจากภาคพื้นแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดียและแถบทะเลอันดามันก็เคยเผชิญภัยพิบัติจากสึนามิมาแล้ว ทั้งที่รัฐมหาราษฏระ หมู่เกาะนิโคบาร์-อันดามัน เกาะสุมาตรา โดยเฉพาะคลื่นยักษ์จากการระเบิดของภูเขาไฟ “กรากะตัว” ที่มีบันทึกว่า สะเทือนเลือนลั่นและเป็นที่รับรู้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน รวบรวมและเรียบเรียง. (2548). สึนามิ มหาวิบัติแห่งอันดามัน. กรุงเทพ : มติชน.

จำนง พวงพุก. สึนามิเกิดขึ้นได้อย่างไร. วารสารเศรษฐกิจและสังคม ก.ย.-ต.ค. 2548.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2567