รู้จัก “สึนามิ” ต้นเหตุมหาวิบัติในไทยและหลายประเทศเมื่อ 26 ธันวาคม 2547

รู้จัก สึนามิ เหตุการณ์สึนามิปี 2547
เหตุการณ์สุนามิปี 2547 (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน)

รู้จัก สึนามิ ต้นเหตุมหาวิบัติในไทยและหลายประเทศเมื่อ 26 ธันวาคม 2547 ความทรงจำอันบอบช้ำเมื่อ 20 ปีก่อน

เวลา 9.00 นาฬิกา วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 คลื่นยักษ์ หรือ “สึนามิ” จากทะเลอันดามัน ซัดกระหน่ำเข้าพื้นที่หลายจังหวัดในชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นมากกว่า 5,000 คน นับเป็นมหาวิบัติครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย

ความจริงของคลื่นยักษ์ รู้จัก สึนามิ

สึนามิ (Tsunami) ได้ชื่อว่าเป็นวิบัติภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุด มีขีดความสามารถในการคร่าชีวิตผู้คนนับหมื่นหรือทำลายเมืองทั้งเมืองในชั่วพริบตา

คำว่า สึนามิ เกิดจากการสมาสของคำในภาษาญี่ปุ่นระหว่างคำว่า สึ (Tsu) แปลว่า ท่าเรือ และคำว่า นามิ (Nami) แปลว่า คลื่น รวมแล้วแปลได้ว่า คลื่น (ซัด) ท่าเรือ ตรงกับคำในภาษาอังกฤษคือ Harbor Wave

เหตุที่เรียกว่า Harbor Wave เพราะเมื่อคลื่นเคลื่อนตัวเข้าสู่ระดับน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง ความเร็วของคลื่นจะลดลง แต่พลังของคลื่นจะดันให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดคลื่นยักษ์

ยิ่งหากคลื่นเข้าปะทะชายฝั่งที่มีรูปร่างคล้ายตัววี (V) ความเร็วและแรงของคลื่นจะยิ่งเพิ่มขึ้น ส่งให้ยอดคลื่นมีความสูงมากขึ้น จนสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อยู่รอบชายฝั่ง

อะไรทำให้สึนามิต่างจากคลื่นทั่วไป ?

เพราะคลื่นทะเลปกติ (Tidal Wave) เกิดจากการขึ้น-ลงของกระแสน้ำกับแรงลมที่พัดบนผิวน้ำ แต่สึนามิไม่เกี่ยวกับกระแสน้ำหรือสภาวะอากาศ แต่เกิดจาก “แผ่นดินไหว” ใต้มหาสมุทร หรือบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล

เมื่อเกิดแผ่นดินไหว แผ่นดินจะเกิดรอยแยก หากเกิดขึ้นใต้ทะเล เท่ากับน้ำทะเลจะถูกดูดเข้าไประหว่างรอยแยกนั้น ทำให้เกิดภาวะน้ำลงอย่างรวดเร็ว แรงอัดใต้เปลือกโลกจะดันน้ำทะเลขึ้นมาอีกครั้ง กลายเป็นระลอกคลื่นขนาดใหญ่

คลื่นยักษ์ยังเกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล ระเบิดปรมาณูใต้มหาสมุทร หรือวัตถุขนาดใหญ่ เช่น ดาวเคราะห์น้อย อุกกาบาต ตกในมหาสมุทร ทำให้เกิดปฏิกิริยาในมหาสมุทร และก่อตัวเป็นคลื่นยักษ์ได้เช่นกัน

ความน่ากลัวของสึนามิคือการมีความยาวคลื่นได้ถึง 80-200 กิโลเมตร ทำให้เรือที่แล่นอยู่ในทะเลอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเกิดคลื่นยักษ์ขึ้น แต่ละลูกสามารถทิ้งช่วงห่างกันมากกว่า 15 นาที เคลื่อนที่ด้วยอัตราความเร็วเฉลี่ยประมาณ 700-1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

กว่า 80% ของคลื่นยักษ์จะเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก เพราะเป็นแนวการเกิดแผ่นดินไหวและมีภูเขาไฟใต้มหาสมุทรมาก ล้อมรอบด้วยร่องน้ำลึกก้นมหาสมุทรอันเกิดจากแผ่นโลกมุดตัว

นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ผู้คนที่ฮาวายก็รู้จัก สึนามิ ดี เมื่อปี 1946 ในหมู่เกาะฮาวายได้บันทึกถึงคลื่นยักษ์สูง 17 เมตร และร่องรอยยุคก่อนประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า ดินแดนนี้เคยเผชิญคลื่นยักษ์สูงถึง 305 เมตรมาแล้วด้วย

สึนามิ
(ภาพโดย CAN Europe ใน Flickr)

สึนามิ 3 ระดับ

สึนามิแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับตามระดับความรุนแรง ได้แก่ ชนิดแรก สึนามิที่จำกัดเฉพาะท้องถิ่น ยอดคลื่นอาจสูงได้ถึง 485 เมตร แต่สร้างความเสียหายอยู่ในวงจำกัดใกล้กับศูนย์กลางการเกิด

ชนิดที่ 2 สึนามิที่สร้างความเสียหายในระดับภูมิภาค เป็นสึนามิที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุด ความรุนแรงจากพลังงานที่ปลดปล่อยออกจากจุดศูนย์กลางที่เกิดเหตุรุนแรงกว่าชนิดแรก แต่ไม่รุนแรงถึงขนาดสร้างความเสียหายให้ชายฝั่งของมหาสมุทรทั้งหมด

ชนิดที่ 3 รุนแรงที่สุด แต่เกิดขึ้นน้อยครั้งที่สุด นั่นคือสึนามิที่มีพลังทำลายล้างอย่างทั่วถึงต่อบริเวณชายฝั่งของมหาสมุทรโดยรอบทุกทิศทุกทาง

สึนามิที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 คือชนิดที่ 3 นี่เอง

เหตุแห่งคลื่นยักษ์มรณะ

ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวและเกิดคลื่นยักษ์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นผลจากแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น ได้แก่ แผ่นอินเดีย กับแผ่นพม่า เคลื่อนตัวเข้าหากัน ทำให้เกิดแรงกดดันสูงจนแผ่นเปลือกโลกทั้งคู่ครูดเข้าใส่กัน

กรมธรณีวิทยาสหรัฐฯ ระบุว่า แผ่นอินเดียถูกดันให้มุดเข้าใต้แผ่นพม่า ทำให้แผ่นพม่าดีดตัวขึ้นคร่อมแผ่นอินเดียแล้วเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกถึง 60 ฟุต ขอบของแผ่นพม่าตามแนวที่เรียกว่า “ซุนดราเทรนซ์” ได้ไต่ขึ้นสูงกว่าเดิม 3 ฟุต พาเอาหมู่เกาะนิโคบาร์ และอันดามัน ที่อยู่ขอบแผ่นพม่า เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมไปด้วย

ความหมายคือหมู่เกาะทั้ง 2 เคลื่อนออกห่างจากแนวฝั่งเดิมไป 60 ฟุต

เมื่อขอบแผ่นยืดออกไป ส่วนในก็ถูกยืดตามแล้วยุบลงไปด้วย ที่จังหวัดอาเจะห์ ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย พื้นชายฝั่งตะวันตกของเกาะทรุดต่ำลงไปราว 2 เมตร

ผลลัพธ์ของเรื่องราวเหล่านี้คือเกิดคลื่นยักษ์ที่เคลื่อนตัวผ่านทะเลลึกไปทางทิศตะวันตกโดยแทบไม่มีอะไรมาขวางกั้น ไปถึงฝั่งแรกที่ศรีลังกาและแคว้นมัทราส ประเทศอินเดีย ปะทะเข้าฝั่งด้วยพลังงานมหึมา ก่อนจะเคลื่อนไปกระหน่ำชายฝั่งของอีกหลายประเทศรอบมหาสมุทรอินเดียร่วม 11 ประเทศ รวมถึงไทย

ความเสียหายในประเทศศรีลังกา จากภัยพิบัติสึนามิ ปี 2547
ความเสียหายในประเทศศรีลังกา จากภัยพิบัติสึนามิ ปี 2547, ภาพเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 (ภาพจาก REUTERS/Kieran Doherty)

แต่คลื่นที่พุ่งมายังทิศตะวันออกบริเวณฝั่งพม่าและไทยนั้น ต้องผ่านหมู่เกาะน้อยใหญ่ในทะเลอันดามัน ที่ช่วยดูดซับพลังงานมหาศาลของคลื่นไปบางส่วน ดังมีรายงานจากผู้รอดชีวิตว่า คลื่นแรกที่มาถึงฝั่งสูงไม่ถึง 1 ฟุตด้วยซ้ำ ก่อนที่ 3-4 ลูกหลังจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ

สึนามิที่ซัดเข้าชายฝั่งอันดามันของไทย ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 2 ชั่วโมงครึ่งนับจากเหตุแผ่นดินไหว ก่อนจะสร้างความพินาศย่อยยับให้เป็นที่จดจำเมื่อ 20 ปีก่อน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน รวบรวมและเรียบเรียง. (2548). สึนามิ มหาวิบัติแห่งอันดามัน. กรุงเทพ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2567