คลื่นสึนามิเกิดขึ้นครั้งแรก(ที่มีบันทึกไว้)คือเมื่อ 3,600 ปีก่อนที่ทะเลเมติเตอร์เรเนียน

สึนามิ ที่ จังหวัด มิยางิ ประเทศ ญึ่ปุ่น
คลื่นสึนามิที่จังหวัดมิยางิ ประเทศญึ่ปุ่น วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 (ภาพจาก https://www.khaosod.co.th)

สึนามิ เกิดขึ้นครั้งแรกเท่าที่มีบันทึกไว้ คือเมื่อ 3,600 ปีก่อน ที่ “ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน”

สึนามิ (Tsunami) เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า คลื่นท่า (harbor wave) คือ คลื่นหรือกลุ่มคลื่นที่มีจุดกำเนิดอยู่ในเขตทะเลลึก ซึ่งมักปรากฏหลังแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ แผ่นดินไหวใต้ทะเล ภูเขาไฟระเบิด ดินถล่ม แผ่นดินทรุด ฯลฯ ซึ่งคลื่นสึนามิสามารถเข้าทำลายพื้นที่ชายฝั่ง ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้ ส่วนใหญ่สึนามิเกิดบริเวณเดียวกับย่านที่เกิดแผ่นดินไหวในทะเลหรือชายฝั่ง โดย 80% ของสึนามิที่เกิดทั้งหมดมักอยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก

Advertisement

ในอดีตเกิดคลื่นสึนามิครั้งสำคัญๆ พอสรุปได้ดังนี้

เมื่อประมาณ 3,600 ปีมาแล้ว คลื่นสึนามิขนาดใหญ่ที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดในทะเลอีเจียน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในครั้งนั้นภูเขาไฟที่เกาะซานโตรินี (Santorini) ซึ่งปัจจุบันเรียกชื่อว่า เกาะทีรา (Thira) อยู่ทางตอนใต้ของประเทศกรีซ เกิดการปะทุอย่างรุนแรง จนทำให้ตัวเกาะหายไปเกือบหมด และเกิดคลื่นขนาดใหญ่ติดตามมา ทำให้ผู้คนล้มตาย และอาคารบ้านเรือนเสียหาย

ผลจากพิบัติภัยที่ “ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” ในครั้งนั้น ทำให้วัฒนธรรมมิโนอา (Minoan Culture) ของกลุ่มชนโบราณ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะครีตต้องเสื่อมสลายลง การเกิดคลื่นใหญ่ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการเกิดคลื่นจากแผ่นดินไหวหรือคลื่นสึนามิ ที่มีการบันทึกไว้เก่าแก่ที่สุด

พ.ศ. 2298 เกิดแผ่นดินไหวที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เป็นผลให้เกิดสึนามิตามแนวชายฝั่งประเทศโปรตุเกส สเปน และโมร็อกโก มีผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ 60,000 คน

ใน พ.ศ. 2398 ได้เกิดแผ่นดินไหว บริเวณชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรไอบีเรียในยุโรปตอนใต้ ส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่เคลื่อนที่เข้าสู่ชายฝั่งของประเทศโปรตุเกส สเปน และโมร็อกโก มีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวและสึนามิ ประมาณ 60,000 คน

วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ภูเขาไฟบนเกาะกรากะตัว (Krakatoa) ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะสุมาตรากับเกาะชวา ในช่องแคบซุนดา ของประเทศอินโดนีเซีย ได้เกิดการปะทุอย่างรุนแรง และเกิดคลื่นยักษ์สูงมากกว่า 30 เมตร ซัดเข้าหาฝั่งเกาะสุมาตราและเกาะชวา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 36,000 คน ซากปะการัง เศษหิน และวัสดุต่างๆ ถูกคลื่นหอบขึ้นบนฝั่ง หนักประมาณ 600 ตัน และหมู่บ้านตามชายฝั่งถูกทำลายเสียหายประมาณ 165 แห่ง นับเป็นพิบัติภัยครั้งใหญ่ที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดและคลื่นสึนามิ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย เป็นครั้งแรก

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2439 เกิดคลื่นสึนามิ ชื่อ เมจิซันริจุ (Meiji Sanriju) ที่ประเทศญี่ปุ่น เคลื่อนที่เข้าสู่ฝั่ง สูงประมาณ 30 เมตร มีผู้เสียชีวิตประมาณ 37,000 คน และบ้านเรือนเสียหายประมาณ 10,000 หลัง

พ.ศ. 2440 เกิดแผ่นดินไหวในทะเลทางทิศตะวันตกของตอนกลางเกาะสุมาตรา ด้วยขนาด 8.4 ริกเตอร์ ทำให้เกิดสึนามิ เข้าชายฝั่งเมืองปาดัง ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 คน

วันที่ 26 มิถุนายน 2484 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ ที่ระหว่างหมู่เกาะนิโคบาร์-อันดามัน แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงแนวชายฝั่งของประเทศอินเดีย และศรีลังกา ทำให้เกิดสึนามิตามมา มีการบันทึกว่ามีความสูงของคลื่น 1 เมตร และเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2489 เกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณชายฝั่งของรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา ต่อมาอีกประมาณ 5 ชั่วโมง คลื่นสึนามิได้เคลื่อนที่ไปถึงเมืองฮีโล (Hilo) บนเกาะฮาวาย ของรัฐฮาวาย ในมหาสมุทรแปซิฟิก คลื่นสูงประมาณ 6 เมตร ทำลายอาคารบ้านเรือน สะพานรถไฟ และถนนเลียบชายหาดเสียหายเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 160 คน

วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 เกิดแผ่นดินไหวที่ชายฝั่งของประเทศชิลี ในทวีปอเมริกาใต้ และได้เกิดคลื่นสึนามิ แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางในมหาสมุทรแปซิฟิกปรากฏว่าที่รัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวถึง 10,600 กิโลเมตร ได้รับภัยจากคลื่นสึนามิที่เคลื่อนตัวด้วยความเร็วประมาณ 700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีผู้เสียชีวิตที่เมืองฮีโล 61 คน คลื่นสึนามิยังเคลื่อนตัวต่อไปถึงประเทศญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตประมาณ 140 คน

วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2535 เกิดคลื่นสึนามิที่ชายฝั่งของประเทศนิการากัว ในอเมริกากลาง ยอดคลื่นสูงประมาณ 10 เมตร มีผู้เสียชีวิตประมาณ 170 คน และบ้านเรือนเสียหายประมาณ 13,000 หลัง

วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2535 เกิดคลื่นสึนามิที่เกาะฟลอเรส ทางตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย ยอดคลื่น สูงประมาณ 26 เมตร มีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,100 คน

วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2541  เกิดแผ่นดินไหวบริเวณใกล้ชายฝั่งตะวันออกของเกาะนิวกินี ซึ่งอยู่ทางเหนือ ของทวีปออสเตรเลีย ทำให้เกิดคลื่นสึนามิที่บริเวณชายฝั่งของประเทศปาปัวนิวกินี ทำลายป่าชายเลน และอาคารบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตที่เมืองไอตาเป (Aitape) ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายฝั่งตอนเหนือของประเทศ ประมาณ 22,000 คน

วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ที่ระดับความลึกจากพื้นท้องทะเล 28.6 กิโลเมตร มีศูนย์กลางในทะเลนอกชายฝั่งด้านทิศตะวันตกของตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และเกิดสึนามิตามมาในมหาสมุทรอินเดีย โดยเข้าถล่มชายฝั่งประเทศต่างๆ ที่อยู่โดยรอบ ได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย ไทย โซมาเลีย มัลดีฟส์ พม่า แทนซาเนีย บังคลาเทศ และเคนยา มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230,000 คน และสูญหายอีกหลายหมื่นคน เฉพาะในเมืองบันดาอาเจะห์ ของประเทศอินโดนีเซียมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 150,000 คน

สำหรับประเทศไทยมี 6 จังหวัดในฝั่งทะเลอันดามันที่ได้รับผลกระทบ คือ จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล มีผู้เสียชีวิตทั้งคนไทย และต่างชาติมากกว่า 5,395 คน และสูญหายมากกว่า 2,000 คน บาดเจ็บประมาณ 8,000 คน ส่วนอาคารบ้านเรือน โรงแรมที่พักเสียหายอย่างยับเยิน และพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยได้รับผลกระทบมากกว่า 475,000 ไร่

วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ ทำให้เกิดสึนามิความสูงประมาณ 6 เมตรพัดถล่มชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะฮอนชู ได้แก่ ชายฝั่งเขตอิวาเตะ, มิยางิ และฟุกุชิมะ และสร้างความเสียหายให้กับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ รัฐบาลต้องสั่งอพยพประชาชนราว 300,000 คน รอบรัศมี 10-20 กิโลเมตรจากโรงงานไฟฟ้า เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 15,373 คน สูญหาย 8,198 คน และบาดเจ็บ 5,364 คน อาคารบ้านเรือนเสียหายประมาณ 500,000 หลัง

ปรากฏการณ์คลื่นสึนามิที่นำมากล่าวไว้ข้างต้นนี้ เป็นเพียงกรณีตัวอย่างของการเกิดคลื่นสึนามิครั้งสำคัญๆ ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ยังมีคลื่นสึนามิครั้งย่อยๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะเวลาต่างๆ  จากการศึกษาของนักธรณีวิทยาเกี่ยวกับความถี่ของการเกิดคลื่นสึนามิในโลกว่า คลื่นสึนามิที่มีความรุนแรงมากมักเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 10 ปี/ครั้ง ส่วนคลื่นสึนามิ ที่มีความรุนแรงปานกลางเกิดขึ้น 1-3 ปี/ครั้ง และคลื่นสึนามิที่มีความรุนแรงน้อยเกิดขึ้น 4-8 เดือน/ครั้ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สึนามิ. เว็บไวต์จุฬาวิทยานุกรม http://www.chulapedia.chula.ac.th (สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2562)

สุวิทย์ โคสุวรรณ. ความรู้เกี่ยวกับสึนามิ, เว็บไซต์กรมทรัพยากรธรณี http://www.dmr.go.th (สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2562)

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ 30 / เรื่องที่ 8 คลื่นสึนามิ / การเกิดคลื่นสึนามิครั้งสำคัญๆ ในอดีต

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.รายงานการศึกษาเบื้องต้น การจัดการภัยพิบัติและการฟื้นฟูหลังการเกิดภัย กรณีศึกษาไทยและต่างประเทศ, กรกฎาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2562