ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
หลักฐานในศิลาจารึกเผยว่าตำแหน่งผู้บังคับบัญชา หรือบรรดาศักดิ์สมัยสุโขทัย คล้ายคลึงกับของล้านนา และไม่ปรากฏการใช้บรรดาศักดิ์ตามแบบอยุธยา หากเป็นอยุธยาเองที่รับจากสุโขทัยไปใช้
ใน มังรายศาสตร์ กำหนดตำแหน่งผู้บังคับบัญชาคนของล้านนาโดยเริ่มจาก ไพร่สิบคน ให้มีนายสิบผู้หนึ่ง มี “ข่มกว้าน” เป็นล่ามติดต่อการงาน ลำดับถัดไปได้แก่ นายห้าสิบ นายร้อย ล่ามพัน เจ้าพัน ล่ามหมื่น เจ้าหมื่น และท้าวพระยา
ในจารึกล้านนายังปรากฏ “นายซาว” ที่ควบคุมไพร่ยี่สิบคนอยู่ด้วย
หลังจากกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) ผนวกรัฐสุโขทัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระยายุธิษเฐียร เจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงแห่งสุโขทัย เอาใจออกห่างอยุธยาไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ (ล้านนา) ตอนนั้นเจ้าเมืองมีตำแหน่งเป็น “เจ้าหมื่น” หรือหมื่น ซึ่งพระยายุธิษเฐียรเป็นเจ้าเมือง 4 เมือง นับว่าเป็น “เจ้าสี่หมื่นพระยา”
บรรดาศักดิ์สมัยสุโขทัย
จารึกสุโขทัยมีคำว่า หัวปาก (เท่ากับ นายร้อย) ล่ามหมื่น ล่ามพัน นายพัน ส่วน ขุน สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสวยราชย์ คำว่า พ่อขุน แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือขุนทั้งหลาย เหมือนแม่ทัพที่เป็นใหญ่ในกองทัพ “พ่อขุน” จึงมี “ขุน” เป็นบริพารหลายเมือง
ต่อมาสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไทย) จึงใช้ พระยา นำพระนามกษัตริย์
กระทั่งสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา กษัตริย์ถือเป็นสมเด็จเจ้าพระยา ก่อนจะเริ่มใช้พระบาทสมเด็จ ตำแหน่งเดิมที่เคยใช้ในสุโขทัยอย่าง ขุน พระยา หรือแม้แต่สมเด็จเจ้าพระยา จึงกลายเป็นบรรดาศักดิ์ของขุนนางไป
นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยตำแหน่งของคนไทอาหม ที่คล้ายคลึงกับคนสุโขทัย และล้านนา มีตำแหน่งหัวซาว (นายยี่สิบ) หัวปาก (นายร้อย) และหัวริง (นายพัน) จึงสันนิษฐานได้ว่า คนไทย (ไท) ทั้งไทอาหม ล้านนา สุโขทัย มีการใช้ตำแหน่งลักษณะร่วมกันมาเนิ่นนานก่อนพัฒนาเป็นรัฐต่าง ๆ
พงศาวดารฉบับปลีก ที่ร่วมสมัยกับต้นแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยังเรียกเจ้าประเทศราชเป็น “พรญา” (พระยา) อยู่ และในกองทัพยังมีตำแหน่ง “ขุน” เป็นแม่ทัพ เช่น ขุนกำแพงเพชร ฯลฯ
กระทั่งปลายสมัยของพระองค์จึงปรากฏพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนว่ามีตำแหน่ง พระ หลวง ขุน หมื่น ลงไปจนถึง นายหัวสิบ แสดงว่ามีการรับบรรดาศักดิ์จากเขมรเข้ามาใช้ร่วมกับตำแหน่งหมื่นพัน และอื่น ๆ ซึ่งเป็นของเดิม หรือไม่ก็เอาตำแหน่งเจ้าประเทศราช (เจ้าพรญา พรญา) และตำแหน่งเจ้าเมืองที่เป็นเมืองขึ้น (ขุน) มาเป็นตำแหน่งขุนนางอยุธยา เพื่อแสดงความเป็นใหญ่เหนืออำนาจเดิม
ดังนั้น ไตรภูมิกถาซึ่งเป็นของเดิมจากสุโขทัย แต่ใช้ตำแหน่งพระ หลวง ขุน หมื่น จึงน่าจะเป็นข้อความที่ผู้คัดลอกชั้นหลัง (อยุธยา) เติมเข้าไป เพื่อให้คนสมัยตนเข้าใจง่าย
อ่านเพิ่มเติม :
- “อโยธยา” ในเอกสารและตำนานเก่าแก่ อยู่ร่วมสมัยกับ “สุโขทัย-ล้านนา”
- “ไตรภูมิพระร่วง” วรรณกรรมของพระยาลิไท กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งสุโขทัย
- พงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร ฉบับ มานิต วัลลิโภดม : อโยธยา เก่าแก่กว่าสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา ต้นแบบรัตนโกสินทร์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ราชบัณฑิตยสภา. ประมวลผลงานวิชาการ ของ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร : บทความวิชาการจากสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, 18 สิงหาคม 2562.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2567