ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ไตรภูมิพระร่วง วรรณกรรมของพระยาลิไท ไม่ได้เป็นต้นฉบับเรื่องราวของ ไตรภูมิ
เมื่อมีการกล่าวถึงไตรภูมิ มักจะนึกถึง ไตรภูมิพระร่วง วรรณกรรมของพระยาลิไท ก็มักเหมารวมไปว่า ไตรภูมิพระร่วงเป็นต้นตำรับของวรรณกรรมไตรภูมิชิ้นอื่นๆ หรืองานประพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับโลกศาสตร์ในพุทธศาสนา
วรรณกรรมประเภทโลกศาสตร์ จะเกี่ยวข้องกับโลกธาตุหรือจักรวาลที่มีปริมณฑลรัศมีของพระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่ถึงขอบจักรวาล มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีทวีปใหญ่ 4 ทวีป และทวีปเล็กอีก 2,000 ทวีปล้อมโดยรอบ และก็มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องประกอบ เช่น ดิรัจฉานโลก พรหมโลก เทวโลก เป็นต้น
สำหรับ ไตรภูมิพระร่วง วรรณกรรมของพระยาลิไท กษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย พระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888 เนื้อหาว่าด้วยภูมิทั้งสาม ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ทรงแต่งขึ้นเพื่อเจริญพระอภิธรรม และโปรดพระราชมารดา โดยไตรภูมิพระร่วงนับเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเล่มแรกที่รจนาเป็นภาษาไทย
แต่แท้จริงแล้ว ไตรภูมิพระร่วง ควรมีชื่อเรียกที่ถูกต้องว่า “ไตรภูมิพระยาลิไท” หรือ “ไตรภูมิพระฤๅ” (หมายถึงพระยาลิไท) โดย ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เล่าให้ ศ. ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ฟังว่า
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล พระโอรสในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีรับสั่งว่า พระบิดามีรับสั่งว่า พระองค์ทรงผิดพลาดที่ทรงตั้งชื่อวรรณกรรมเรื่องนี้ว่า ไตรภูมิพระร่วง ทั้งที่ควรเป็นไตรภูมิพระยาลิไท แต่ชื่อไตรภูมิพระร่วงก็เป็นที่แพร่หลายแล้วจนยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ส่วนชื่อภาษาบาลีที่ปรากฏในเรื่องก็คือ เตภูมิกถา ซึ่งมีความหมายเดียวกับไตรภูมิ หรือภูมิทั้งสามนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ศ. ดร. นิยะดา วิเคราะห์ว่า ไตรภูมิพระร่วงคงไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวสุโขทัย ด้วยเหตุผลสำคัญคือ
ไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 1888 หลังจากนั้น 16 ปี ใน พ.ศ. 1904 พระยาลิไทนิมนต์พระภิกษุลังกานามว่า เมธังกร มาเป็นพระอุปัชฌาย์ และสถาปนาเป็นพระสังฆราช ซึ่งพระสังฆราชเมธังกรยังได้เป็นครูของพระยาลิไท ท่านได้นิพนธ์คัมภีร์โลกศาสตร์เล่มหนึ่ง คือ “โลกทีปกสาร” แต่ปรากฏว่า ในบัญชีที่มาของคัมภีร์โลกทีปกสาร กลับไม่มีรายชื่อของไตรภูมิพระร่วงอยู่ด้วย
การไม่อ้างอิงถึงไตรภูมิพระร่วงนั้น อาจเป็นเพราะพระราชนิพนธ์ของพระยาลิไทไม่ดำเนินตามขนบของวรรณกรรมพุทธศาสนาที่ต้องรจนาเป็นภาษาบาลี นอกจากนี้ จากการศึกษาค้นคว้าเอกสารมานานหลายสิบปี ศ. ดร. นิยะดา ก็กลับไม่พบร่องรอยของไตรภูมิพระร่วงในสมัยอยุธยาแต่อย่างใด ซึ่งน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับอยุธยา
แม้ไตรภูมิพระร่วงจะไม่เป็นที่นิยมในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา แต่ไม่ได้หมายความว่าคติเรื่องไตรภูมิจะไม่เป็นที่รับรู้ของสังคม เพราะคติโลกศาสตร์ ความรู้เรื่องโลกและจักรวาล มีปรากฏในวรรณกรรมหรือคัมภีร์อื่นอีกมากมาย เช่น คัมภีร์โลกบัญญัติ, คัมภีร์โลกุปปัตติ, คัมภีร์โลกทีปกสาร, คัมภีร์จักกวาฬทีปนี คัมภีร์โลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี เป็นต้น รวมถึงคัมภีร์พุทธศาสนาอย่าง “พระมาลัย” ที่มีเรื่องราวของนรก และสวรรค์ ก็เป็นที่รู้จักและแพร่หลายในสมัยสุโขทัย
คนในสมัยนั้นจึงไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้คติโลกศาสตร์เฉพาะจากไตรภูมิพระร่วงเพียงอย่างเดียว
อ่านเพิ่มเติม :
- สวรรค์แบบพุทธที่เทวดาตกชั้นได้ จาก “ฉกามาพจร” ในไตรภูมิพระร่วง
- “อุตรกุรุทวีป” สะอาด ปลอดภัย ไร้หนาม (ไม่ใช่ทุเรียน) ดินแดนอุดมคติในคัมภีร์พุทธ
- วรรณกรรมรัฐสุโขทัย แต่งสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อการเมืองภายในและภายนอก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นิยะดา เหล่าสุนทร. (กุมภาพันธ์, 2556). เมื่อไตรภูมิพระร่วงไม่มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมและศิลปกรรมไทย ใน, “ศิลปวัฒนธรรม”. ปีที่ 34 : ฉบับที่ 4.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2567