ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิด “วิกฤตการณ์วังหน้า” ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง “วังหลวง” คือ พระเจ้าแผ่นดิน กับ “วังหน้า” คือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ไม่ค่อยราบรื่นนัก สะท้อนจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายอย่าง แล้วหลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2428 พระธิดาวังหน้ารัชกาลที่ 5 ทรงดำรงพระชนม์อย่างไร?
“วังหน้า” หลังสิ้น “วังหน้า”
“วังหน้า” หรือนามทางการว่า พระราชวังบวรสถานมงคล เป็นที่ประทับของ “วังหน้า” คือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นเมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นที่ประทับของวังหน้าในรัชกาลต่อๆ มา กระทั่งมีการยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชหรือวังหน้าในที่สุด
ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์ กล่าวในวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5” ว่า หลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต พระราชวังบวรสถานมงคลก็ไม่มีวังหน้ามาประทับอีกต่อไป
รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริไม่ให้วังหน้าเป็นที่รกร้าง จึงโปรดให้จัดที่ในเขต “วังชั้นนอก” เป็นโรงทหารรักษาพระองค์ รวมทหารบกวังหน้ามาสมทบอยู่ในกรมนั้น
“วังชั้นกลาง” โปรดให้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปป้อมปราการสถานที่ในวังหน้าก็ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ เพราะซ่อมแซมและก่อสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้าในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นก็ไม่มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีก
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเห็นว่า สถานที่ต่างๆ ในวังหน้าที่ไม่เป็นที่สำคัญควรรื้อลง คงไว้แต่อุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส และโปรดให้สร้างสถานที่ราชการต่างๆ เช่น ที่ว่าการกระทรวงธรรมการ โรงเก็บพระมหาพิไชยราชรถ คลังเครื่องสรรพยุทธ เป็นต้น
พระธิดาวังหน้ารัชกาลที่ 5
ส่วนเขตพระราชฐานชั้นใน หรือ “วังชั้นใน” ฉัตรดาวเล่าว่า ยังมีเจ้านายฝ่ายใน ทั้งพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระธิดาในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ประทับอยู่ด้วยกันมาก
รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้พระราชฐานชั้นในยังคงเป็นที่ประทับของเจ้านายสตรี มีเจ้าพนักงานรักษาหน้าที่อยู่อย่างเดิม ทรงมอบหมายการปกครองให้ พระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในทั่วไป และโปรดให้เสด็จขึ้นมาประทับอยู่ ณ พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส
เมื่อพระองค์เจ้าดวงประภาสิ้นพระชนม์ โปรดให้ พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์รองลงมา ทรงสำเร็จราชการในวังหน้า และโปรดให้ พระองค์เจ้าวงจันทร์ พระเจ้าน้องนางร่วมพระมารดากับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จขึ้นประมาประทับ ณ พระที่นั่งบวรบริวัติ มาจนตลอดรัชกาลที่ 5
ดังนั้น แม้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจะทิวงคตไปแล้ว แต่พระธิดาวังหน้ารัชกาลที่ 5 ยังคงประทับอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในของวังหน้าเช่นเดิม
อ่านเพิ่มเติม :
- คำร่ำลืออาถรรพ์ “วังหน้า” กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ตรัสสาปแช่ง
- ความหมองหมางระหว่างพระเจ้าอยู่หัววังหลวง และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
- พระราชโอรส “วังหน้า” รัชกาลที่ 1 ทรงเป็นต้นราชสกุลใดบ้าง?
- เส้นทางชีวิตพระโอรส “กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ” วังหน้ารัชกาลที่ 5 หลังทิวงคต เป็นอย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์. การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2558.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2567