ความหมองหมางระหว่างพระเจ้าอยู่หัววังหลวง และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 กับ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

ความหมองหมางระหว่าง “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” รัชกาลที่ 1 กับ “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้คนในยุคหลังมักเข้าใจว่าเป็นยุคที่ไร้ความขัดแย้งของหมู่ชนชั้นปกครองบ้านเมืองสงบสุข มีเพียงศึกสงครามระหว่างรัฐเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วความวุ่นวายขัดแย้งคงมีอยู่เสมอ และมีมาตลอดปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ถึงขั้นที่พี่ไม่ยอมเผาผีน้องเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสร้างความสะเทือนใจในพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิดและผู้ที่รับรู้ด้วยกันทั้งสิ้น

ตั้งแต่สถาปนาราชธานีแห่งใหม่นี้ มีศึกติดพันกับพม่าบ่อยครั้งนับจากเสียกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสงครามเก้าทัพ พ.. 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงร่วมสู้ศึกศัตรูมาเกือบตลอดรัชกาล เมื่อมีข่าวศึก ทั้งสองพระองค์จะทรงร่วมปรึกษาหารือข้อราชการด้วยกันเสมอมิได้ขาด ทำให้ฝ่ายไทยชนะศึกหลายครั้ง ถึงแม้ในบางครั้งมีข้อราชการที่ทรงวินิจฉัยไม่ตรงกัน แต่ทุกเหตุการณ์ก็คลี่คลายลงได้ เช่น .. 2336 เจ้าเมืองทวายได้ชักชวน เจ้าเมืองมะริด และตะนาวศรี ขอสวามิภักดิ์ต่อไทย เพื่อขอเป็นที่พึ่งป้องกันภัยจากพม่า โดยขอพระราชทานกองทัพไปช่วยรักษาเมืองทวายไว้ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพ โดยเกณฑ์กองทัพหัวเมืองจำนวน 5,000 คน ออกไปช่วยรักษาเมืองทวาย [1]

แต่ภายหลังเจ้าเมืองทวายกลับมีท่าทีรวนเร เมื่อทัพไทยมาถึงมิได้ออกมาต้อนรับพระยายมราชตามประเพณี กลับให้กรมเมืองออกมาต้อนรับแทน เมื่อเป็นเช่นนี้ พระยายมราชจึงมีใบบอกไปยังทัพหลวงที่ตั้งทัพคอยที่เมืองกาญจนบุรีเพื่อฟังข่าว 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงทราบข่าวตามใบบอกนั้น ทรงมีพระราชวินิจฉัยต่างกัน คือ พระอนุชาธิราชทรงมีความเห็นว่า ควรกวาดต้อนผู้คนทรัพย์สินทั้งหมดของเมืองทวายกลับไปยังพระนคร เพื่อไม่ให้เป็นกำลังแก่พวกพม่าต่อไป แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่เห็นด้วย พระองค์ต้องการที่จะรักษาเมืองทวายไว้เป็นกำลังที่จะตีพม่าต่อไป และเปลี่ยนตัวเจ้าเมืองทวายให้แก่คนที่วางใจได้แทน [2]

พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๑ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ

และยังมีเหตุที่ทำให้ความหมองหมางนั้นเกิดขึ้นอีกหลายประการ ดังเล่าสืบต่อกันมา เช่น การแข่งขันเรือหลวงที่มีเป็นประจำทุกปี [3] วังหลวงมีเรือชื่อตองปลิว เรือวังหน้าชื่อเรือมังกร เข้าทำการแข่งขัน ด้วยการแข่งขันครั้งนั้นต้องมีฝีพายเรือต้องเท่ากัน แต่ฝีพายเรือพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จัดฝีพายอีกหนึ่งชุดแอบซ่อนไว้ เมื่อถึงเวลาแข่งขันก็เปลี่ยนฝีพายใหม่ เมื่อข้าราชการฝ่ายวังหลวงทราบดังนี้ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัววังหลวงให้ทรงทราบ และมีพระดำรัสว่าเล่นดังนี้จะเล่นด้วยที่ไหนได้การแข่งขันเรือจึงยกเลิกไป

ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้เป็นอย่างไรเป็นเรื่องยากที่จะทราบได้ แต่ก็ได้สร้างความบาดหมางในพระทัยให้แก่พระอนุชาธิราช โดยพระองค์ไม่ได้ลงมาเฝ้าพระเจ้าอยู่หัววังหลวงไปหลายครั้ง จะทรงลงมาเข้าเฝ้าเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น เช่น เรื่องเงินเบี้ยหวัดประจำปีที่วังหลวงจะส่งให้วังหน้า ปีละ 1,000 ชั่ง จะไม่พอแจกเบี้ยหวัดให้ข้าราชการ วังหน้าจะขอพระราชทานเพิ่มเติมอีก แต่พระเจ้าอยู่หัววังหลวงตรัสว่าเงินที่ได้มาเก็บมาจากส่วยสาอากรก็พอใช้บำรุงแผ่นดิน เหลือจึงได้เอามาแจกเบี้ยหวัดก็ไม่ใคร่พอ ต้องเอาเงินกำไรตกแต่งสำเภามาเพิ่มเติมเข้ามาอีกจึงพอใช้ได้ปีหนึ่ง ๆ เงินคงคลังที่สะสมไว้ก็ยังไม่มี” กรมพระราชวังบวรฯ เมื่อทรงได้ยินเช่นนี้แล้วทรงขัดเคืองพระทัยไม่ลงมาเข้าเฝ้าอีกเลย [4]

เมื่อเจ้านายทั้งสองพระองค์ทรงหมองหมางพระทัยกัน ทำให้ขุนนางที่สังกัดเจ้านายทั้งสองพระองค์ต้องหมองหมางใจตามกันไปด้วย ฝ่ายพระยาเกษตร (บุญรอด) ของฝ่ายวังหน้า ได้ตระเตรียมศาสตราวุธตั้งนอนกองระวังภัยกันขึ้นมา ส่วนขุนนางวังหลวงอย่างเจ้าพระยารัตนาพิพิธ สืบทราบข่าวนี้ก็ได้กราบบังคมทูลให้พระเจ้าอยู่หัววังหลวงทรงทราบ และมีการรักษาพระราชวังหลวงให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น เกณฑ์ไพร่พลนำปืนใหญ่ขึ้นป้อม

ความขัดแย้งครั้งนี้ความทราบไปถึงฝ่ายใน ทำให้พระพี่นางทั้งสองพระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) และ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) ต้องเสด็จขึ้งไปยังวังหน้าเพื่อเฝ้าพระอนุชาธิราช พระพี่นางทั้งสองพระองค์ทรงถามถึงเรื่องราวที่ผ่านมา สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น พระพี่นางทั้งสองพระองค์กันแสง ตรัสประเล้าประโลมถึงความทรงจำเก่า ๆ แต่หนหลังที่พี่ ๆ น้อง ๆ ต่างตกทุกข์ได้ยากตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่ข้าศึก จนได้ราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

เมื่อทรงฟังแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราชก็ทรงคลายทิฐิความโกรธ เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้ พระพี่นางทั้งสองก็เชิญให้พระอนุชาธิราชเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัววังหลวง เพื่อปรับความเข้าใจกันระหว่างพี่น้อง แต่เรื่องความบาดหมางครั้งนี้สงบลงเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น [5] ก่อนจะกลับมาปะทุอีกครั้ง  

เมื่อพระอนุชาธิราชประชวรด้วยพระโรคนิ่ว ซึ่งพระองค์ทรงพระประชวรด้วยพระโรคนี้มาอยู่ก่อนแล้ว พระอาการค่อยคลายและพระโรคนี้ก็มีพิษกำเริบในบางคราว จนพระอาการทรุดหนักเรื่อย ๆ เมื่อความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัววังหลวง พระองค์เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปทรงพยาบาลพระอนุชาธิราชไม่เคยขาด แต่ขุนนางฝ่ายวังหน้ากลับมีปฏิกิริยากระด้างกระเดื่อง เพราะพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ณ วังหน้า ประทับเพื่อเฝ้าพยาบาลพระอนุชาธิราชนานถึง 6 วัน ต้องมีการล้อมวังเพื่อเป็นการอารักขาความปลอดภัยตามโบราณราชประเพณี

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ต้องเสด็จตามขึ้นไปยังวังหน้า พร้อมเจ้าพระยารัตนาพิพิธ และพระยายมราช ติดตามขบวนเสด็จไปด้วย เพื่อจัดการวางการล้อมวังด้วยพระองค์เอง จนถึงวันพฤหัสบดี เดือน 12 แรม 4 ค่ำ ปีกุน หรือวันที่ 3 พฤศจิกายน .. 2346 กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สิ้นพระชนม์ พระชันษา 60 ปี [6]

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร

แม้ว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จสวรรคตล่วงไปแล้ว แต่ความขัดแย้งของวังหลวงและวังหน้าไม่ได้จบแต่เพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาอีกว่า เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระประชวรมากนั้น ได้มีพระราชบัณฑูรประภาษ หรือตรัสเป็นอุบายแก่พระราชโอรสที่ทรงใกล้ชิดพระองค์อีกสองพระองค์ คือ พระองค์เจ้าอินทปัต และ พระองค์เจ้าลำดวน ซึ่งพระโอรสทั้งสองพระองค์ทรงได้ร่วมรบเคียงข้างกับพระราชบิดา กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มาหลายครั้ง โดยตรัสกับพระโอรสทั้งสองให้คิดการใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดิน จนมีคำเล่าต่อกันมาหลายต่อหลายคนว่า เมื่อครั้ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประชวรหนักอยู่นั้น ทรงมีรับสั่งใคร่จะได้ทอดพระเนตรหมู่พระที่นั่งวังหน้าที่พระองค์ทรงบากบั่นตลอดพระชนม์ชีพสร้างไว้อย่างประณีตบรรจง จึงให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนย แล้วเชิญเสด็จรอบหมู่พระที่นั่ง เมื่อเสด็จไปนั้นทรงบ่นไปว่า

เปนของใหญ่ของโตของดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าหุ้นอุดหนุนให้แรงเลย กูสร้างขึ้นได้ด้วยกำลัง ข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครที่มิใช่เปนลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่างให้มีความศุข…” [7]

แล้วทรงแช่งไปต่าง ๆ ตามพระทัยที่ทรงคิด หรืออีกสำนวนที่มีผู้เชื่อถือกัน

ของนี้อุตสาห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนาน ๆ ก็ครั้งนี้ไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นครั้งนี้เป็นที่สุดต่อไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่นภายหลังเมื่อทรงพระประชวรอาการมากแล้ว [8]

เมื่อทรงทอดพระเนตรเสร็จแล้ว ให้เชิญเสด็จขึ้นเสลี่ยงเสด็จออกมาวัดพระมหาธาตุ รับสั่งว่าจะนมัสการลาพระพุทธรูป ครั้นเสด็จถึงหน้าพระประธานในพระอุโบสถ มีพระราชบัณฑูรดำรัสเรียกหาพระแสง ว่าจะทรงจบพระอุทิศถวายพระแสงเป็นราวเทียน เจ้าพนักงานถวายพระแสงเข้าไปทรงเรียกเทียนมาจุดเรียงติดเข้าที่พระแสงทำเป็นพุทธบูชาอยู่ครู่หนึ่งแล้ว ทรงปรารภจะนำพระแสงแทงพระองค์ถวายพระ แต่พระองค์เจ้าลำดวนเข้าห้าม แล้วแย่งพระแสงออกจากพระหัตถ์กรมพระราชวังบวรฯ มาได้ ทรงโทมนัสทอดพระองค์ลง ทรงพระกันแสงด่าแช่งพระองค์เจ้าลำดวนไปต่าง ๆ นานา เมื่อเสด็จกลับเข้าวังหน้า ระหว่างทางกรมพระราชวังบวรฯ ก็ทรงขัดเคืองพระองค์เจ้าเหล่านั้นที่เข้ามาขัดขวาง

เรื่องยังมิได้จบเพียงเท่านี้ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยังมีพระราชดำรัสอีกว่า สมบัติทั้งนี้พระองค์ได้กระทำศึกสงครามกู้แผ่นดินขึ้นได้ก็เพราะพระองค์ทั้งสิ้น ไม่ควรจะให้สมบัติตกไปแก่ลูกหลานวังหลวง ผู้ใดมีสติปัญญาก็ให้เร่งคิดเอาเถิด ด้วยเหตุนี้ ทำให้พระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตมีความกำเริบ จึงร่วมวางแผนกับพระยากลาโหม (ทองอิน) เจ้าคุณท่านนี้เคยออกสู้ศึกมาหลายครั้ง มีความชำนาญการรบเป็นอย่างมาก และยังเป็นคนโปรดของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตรัสว่าเหมือนเป็นบุตรบุญธรรม ทั้งสามคนพยายามเกลี้ยกล่อมคนที่มีความรู้ เก่งกาจการรบ ให้เข้ามาเป็นพวก แอบเข้ามาทดลองวิชาคุณไสยในวังหน้ามิได้ขาด บางครั้งผิดพลาดถึงขั้นล้มตายก็ให้แอบนำศพไปฝังไว้ภายในวังหน้านั้น จนมีผู้นำความไปกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัววังหลวง

ครั้นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สิ้นพระชนม์แล้ว ยังไม่ได้มีการจับกุม เนื่องจากยังไม่มีโจทก์ จึงแต่งตั้งข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์เข้าไปเกลี้ยกล่อมพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต จึงได้ความจริงมากราบทูลทรงทราบทุกประการ ครั้นถึง วันเสาร์เดือน 3 ขึ้น 2 ค่ำ ก็ให้จับพระองค์เจ้าสอง พระยากลาโหมวังหน้า (ทองอิน) และพรรคพวกที่ร่วมคิดการทั้งหมด เมื่อพิจารณาไต่สวนแล้วได้ความว่า จะก่อการประทุษร้ายพระเจ้าอยู่หัววังหลวงในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระอนุชาธิราช

เมื่อชำระความเสร็จสิ้น จึงโปรดให้ถอดยศพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ออกจากพระองค์เจ้า และนำหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัต ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ส่วนพระยากลาโหม (ทองอิน) และพรรคพวกทั้งหมดที่ร่วมก่อการ นำไปประหารชีวิต ยังรวมไปถึงพระยาเกตราธิบดี (บุญรอด) ที่เป็นคนยุยงสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ให้นำปืนใหญ่ขึ้นป้อมจะทำสงคราม และหม่อมวันทา พระสนมเอกคนโปรด ที่สืบทราบว่าลอบทำชู้กับอ้ายทองอินกลาโหม ไปประหารเสียให้หมดพร้อมกัน [9]

เมื่อใกล้วันถวายพระเพลิงพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงมีพระราชดำริด้วยความโทมนัสเรื่องหม่อมลำดวนและหม่อมอินทปัต จึงตรัสว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่ารักลูกยิ่งกว่าแผ่นดิน ให้ลูกมีสติปัญญาคิดกำเริบจนถึงคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดิน เพราะผู้ใหญ่ไม่ดีจะไม่เผาผีแล้วเมื่อเหล่าขุนนางข้าราชการหลายนายฟังดังนั้น ก็ช่วยกันกราบทูลทัดทานพระเจ้าอยู่หัวว่า ซึ่งจะไม่ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงนั้นไม่ควร ด้วยราษฎรและหัวเมืองเป็นอันมาก ที่ทราบก็จะมี ที่ไม่ทราบก็จะมี จะติเตียนต่าง ๆ ไป จึงรับสั่งว่าขุนนางให้เผาก็จะเผา [10]

ความหมองหมางพระทัยของวังหลวงและวังหน้าจบลงเพียงเท่านี้ เหลือเพียงเรื่องเล่าที่เป็นสีสันในประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อถึงความสัมพันธ์ที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีต่อกัน 

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. (2562). ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-3 .. 2325-2394. เล่ม 1.  หน้า 96.

[2] คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. (2562). เล่มเดิม. หน้า 97.

[3] การแข่งเรือระหว่างวังหลวงและวังหน้านี้มีมาหลายปีนับตั้งแต่สถาปนาราชธานี เป็นเทศกาลเดือน 11 เริ่มเข้าหน้าน้ำ ก่อนพระราชพิธีจองเปรียง หรือพิธียก (หรือชัก) โคมชัย (ขึ้นเสา) ในเดือน 12 ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา มีความหมายโดยนัยว่าเมื่อเดือน 11 นั้น น้ำหลากเริ่มมีมาก ครั้นถึงเดือน 12 น้ำนองทุ่ง จึงทำพิธีชะลอน้ำให้คงอยู่เลี้ยงต้นข้าวในนาที่เริ่มเติบโต การแข่งขันเรือในเทศกาลเดือน 11 มีมาตั้งแต่โบราณกาลก่อน ทว่ามิใช่แข่งขันระหว่างเรือวังหลวงวังหน้าเช่นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ หากแต่เป็นการแข่งขันระหว่างเรือต้นพระที่นั่ง ชื่อสมรรถไชยและเรือทรงพระอัครมเหสีชื่อไกรสรมุข  ในกฎมณเฑียรบาลกล่าวไว้ว่า การแข่งเรือทั้งสองนี้ยังเป็นการเสี่ยงทายถ้าสมรรถไชยแพ้แล้วไซร้ ข้าวเหลือเกลืออิ่มสุขเกษมเปรมประชา ถ้าสมรรถไชยชนะไซร้ จะมียุคมียุคหมายถึง ยุคทุกข์เข็ญ (อ้างถึงใน ศรีฟ้า ลดาวัลย์. บุญบรรพ์ บรรพ 1. หน้า 129-130.) หรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ vajirayana.org/พระราชพิธีสิบสองเดือน

[4] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). (2555). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). หน้า 270.

[5] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. (2555). เล่มเดิม. หน้า 271.

[6] แหล่งเดิม. หน้า 322.

[7] แหล่งเดิม. หน้า 330.

[8] แหล่งเดิม.  

[9] แหล่งเดิม. หน้า 332.

[10] แหล่งเดิม. หน้า 336.


อ้างอิง :

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา (ขำ บุนนาค). (2555). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำบุนนาค) เล่ม 1. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา.

คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (2562). ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-3  .. 2325-2394. เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

ศรีฟ้า ลดาวัลย์. (2548). บุญบรรพ์ บรรพ 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : เพื่อนดี.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2565