ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
จตุลังคบาท ผู้รักษาเท้าช้าง สำคัญอย่างไร มี 4 นาย หรือมากกว่า?
การทำสงครามในยุคจารีต ช้างเป็นยุทธปัจจัยสำคัญ นอกจากเป็นพาหนะขนส่งเสบียงอาหาร อาวุธยุทธภัณฑ์ ยังเป็นพาหนะสำหรับมูลนายทำการรบบนหลังช้าง เรียกว่า “ยุทธหัตถี”
ศาสตร์แห่งการรบบนหลังช้างถือเป็นศาสตร์ชั้นสูง เรียกว่า ตำราพระคชศาสตร์ ผู้ที่จะร่ำเรียนได้ต้องอยู่ในตระกูลขัตติยะ หรือตระกูลขุนนางที่รับราชการในกรมช้างเท่านั้น ซึ่งในการรบที่มีกองทัพช้างเป็นส่วนประกอบ ช้างทรงของจอมทัพจะต้องมีกลางช้าง ท้ายช้าง และทหารถืออาวุธประจำเท้าช้างทั้ง 4 ข้าง เรียกนักรบกลุ่มนี้ว่า “จตุลังคบาท”
คำว่า จตุลังคบาท มาจากคำ จตุ แปลว่า สี่ ลงฺค หรือลังคี แปลว่า เครื่องกีดขวาง และ บาท แปลว่า เท้า ความหมายโดยรวมจึงเป็น 4 ผู้ระวังป้องกัน (กีดขวาง) เท้าช้างจากศัตรู
อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่าหน่วยนี้ไม่ได้มี 4 คน ต่อ 1 ช้าง ยิ่งเป็นช้างทรงพระมหากษัตริย์ การมีทหารรักษาเท้าช้างเพียง 4 นายย่อมเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของจอมทัพในสนามรบ หน่วยนี้จึงควรมีมากกว่า 4 ต้องเป็นนักรบมากความสามารถ เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้ และเป็นนายทหารระดับสูง
ในศึกยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี เมื่อ พ.ศ. 2135 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกว่า “ให้เอาพลายภูเขาทองขึ้นระวางสะพักชื่อเจ้าพญาไชยานุภาพ ๖ ศอกคืบ ๒ นิ้ว ติดน้ำมันหน้าหลัง ผูกคชาภรณ์เครื่องมั่นปักมหาเศวตฉัตรเป็นพระคชาธาร เจ้ารามราฆพเป็นกลางช้าง นายมหานุภาพควาญ
และแวงจัตุลังคบาทนั้น พระมหามนตรีอยู่เท้าหน้าฝ่ายขวา พระมหาเทพอยู่เท้าหน้าฝ่ายซ้าย หลวงอินทรเทพอยู่เท้าหลังเบื้องขวา หลวงพิเรนทรเทพอยู่เท้าหลังเบื้องซ้าย”
จะเห็นว่าจตุลังคบาททั้ง 4 นาย ล้วนเป็นเจ้ากรมพระตำรวจ (หน่วยราชการทหาร มิใช่ตำรวจอย่างปัจจุบัน) ได้แก่ เจ้ากรมพระตำรวจในขวา เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา ตามลำดับ ซึ่งหากเป็นยามสงบ พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงช้างทำศึก เจ้ากรมพระตำรวจเหล่านี้จะตามเสด็จและทำหน้าที่รักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด
เมื่อมีระดับเจ้ากรมประจำเท้าช้างทรง ย่อมต้องมีนายทหารในสังกัดเป็นกำลังสนับสนุนด้วย
นอกจากนี้ ในสงครามครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรฯ ยังมีทหารทะลวงฟันคู่พระทัยอีก 136 คน ติดตามไป ประกอบด้วยพลดาบเขน 22 คน ดาบโล่ 42 คน และดาบสองมือ 72 คน และ “หน้าพระคชาธารนั้นหัวหมื่นพันทะนายสี่พระตำรวจล้วนดาบสะพายแล่ง ถือทวนทอง ๕๐๐”
ด้านจตุลังคบาทประจำช้างทรงพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี มีการบรรยายไว้ว่า “เสด็จทรงช้างต้นพลายพัทกอสูง ๖ ศกคืบ ๕ นิ้ว ติดน้ำมันหน้าหลังเป็นพระคชาธารกั้นเศวตฉัตร สมิงนันทะมางเป็นกลางช้าง เจ้าเมืองมะลวนควาญ
พร้อมด้วยแวงจัตุลังคบาทและหน้าช้างพระมหาอุปราชานั้นทวนทอง ๔๐๐ ถัดออกมานั้นวางปืนจ่ารงค์มณฑกนกสับกระแบงแก้วดาบโลห์ดาบดั้งสิ่งละ ๕๐๐”
จึงพอจะเป็นข้อสรุปได้ว่า จตุลังคบาทมิได้รักษา 4 เท้าช้างอย่างโดดเดี่ยว แต่มีทหารในสังกัดและนักรบหน่วยอื่น ๆ รายล้อมอารักขาอยู่รอบช้างทรงของจอมทัพอีกหลายร้อยนายเลยทีเดียว
อ่านเพิ่มเติม :
- “หลักฐานพม่า” พลิกความเข้าใจเรื่อง “สงครามยุทธหัตถี”!!!
- การศึกษาเรื่องชุดเกราะของนักรบ ในประเทศไทย ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 24
- การค้นพบหลักฐาน “เจดีย์ยุทธหัตถี” ที่ใช้ยืนยันตำนานพระนเรศวรชนช้างเป็นเรื่อง “จริง”!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, สำนักงานราชบัณฑิต. จตุลังคบาท. 24 พฤษภาคม 2553. (ออนไลน์)
บาลีวันละคำ, ชมรมธรรมธารา สายน้ำแห่งธรรม. จตุลังคบาท. 5 กันยายน 2563. (ออนไลน์)
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์. (2512). ประชุมพงศาวดาร เล่ม 38 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64) พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2567