การศึกษาเรื่องชุดเกราะของนักรบ ในประเทศไทย ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 24

ภาพสลักรูปกองทัพสฺยำกุก ที่ผนังระเบียงปราสาทนครวัดด้านทิศใต้ปีกตะวันตก เดิมมีข้อความจารึกว่า "เนะ สฺยำกุก" ปัจจุบันถูกกะเทาะหลุดหายไปแล้ว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552)

เกราะ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “เครื่องสวมใส่หรือเครื่องหุ้มสำหรับป้องกันอาวุธหรืออันตราย” ซึ่งเกราะที่ใช้หุ้มส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยสวมใส่ในลักษณะเดียวกับเครื่องแต่งกายนั้นเรียกว่าชุดเกราะ จัดเป็นเครื่องยุทธภัณฑ์ประเภทหนึ่ง ใช้สำหรับป้องกันผู้สวมจากอันตรายในการสู้รบระหว่างทำสงคราม ลักษณะของชุดเกราะในแต่ละประเทศก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัสดุที่มีในท้องถิ่นนั้น ลักษณะของอาวุธ และกระบวนวิชาการอาวุธของนักรบชาตินั้นๆ โดยทั่วไป

ชุดเกราะมักผลิตจากวัสดุที่มีความแข็ง และความเหนียวมากเพียงพอที่จะสามารถป้องกันอันตรายจากอาวุธได้ เช่น โลหะ หนังสัตว์ ไม้ กระดูกหรือเขาสัตว์ เป็นต้น แต่ในบางกรณี อาจพบว่าวัสดุอ่อนอย่างเช่น ผ้า เส้นใยพืช ก็สามารถนำมาใช้ในการผลิตชุดเกราะได้เช่นกัน

Advertisement

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเรื่องชุดเกราะสำหรับป้องกันศาสตราวุธในดินแดนประเทศไทยนั้น ตามหลักฐานที่ปรากฏ สามารถจำแนกรูปแบบของชุดเกราะในแต่ละยุคสมัยอย่างคร่าวๆ ได้ดังต่อไปนี้

ชุดเกราะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18

ในช่วงเวลาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 ตรงกับยุคสมัยที่อาณาจักรเขมรโบราณซึ่งมีศูนย์กลางที่เมืองพระนครในประเทศกัมพูชา เรืองอำนาจและได้แผ่อิทธิพลไปในแหลมอินโดจีน ทั้งยังแผ่อิทธิพลเข้ามาในดินแดนประเทศไทยในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออก และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตามหลักฐานซึ่งพบที่ปราสาทประธานของปราสาทพนมรุ้ง จากการศึกษาศิลาจารึกพนมรุ้งหลักที่ 7 และหลักที่ 9 สันนิษฐานว่าปราสาทประธานหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยของนเรนทราทิตย์ ผู้ครองเมืองพนมรุ้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 โดยองค์ปราสาทได้มีการแกะสลักตกแต่งด้วยลวดลายต่างๆ โดยตำแหน่งซุ้มบัญชรบนชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 2 ด้านทิศใต้ของปรางค์ประธาน ปราสาทพนมรุ้ง ได้ปรากฏภาพสลักนูนสูงแสดงการสัประยุทธ์ระหว่างราชวงศ์เการพและราชวงศ์ปาณฑพ โดยแม่ทัพของทั้ง 2 ฝ่ายยืนต่อสู้กันบนหลังช้าง ในมือของแต่ละฝ่ายถือโล่กลมและอาวุธ แวดล้อมด้วยเหล่าไพร่พลเดินเท้า ซึ่งถือหอกไว้ในมือ นุ่งผ้าสั้น สวมเกราะหุ้มลำตัวรูปสี่เหลี่ยม เมื่อพิจารณาลักษณะของชุดเกราะพบว่าเป็นเกราะแผ่น (Plate armour) ประกบปิดลำตัวด้านหน้าและด้านหลัง เว้นช่องว่างไว้ให้แขนเคลื่อนไหวอย่างอิสระ สันนิษฐานว่าลักษณะการแต่งกายของเหล่าไพร่พลในภาพสลักได้จำลองมาจากการแต่งกายของนักรบในยุคสมัยนั้น

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาพสลักที่ระเบียงคดชั้นนอกของปราสาทนครวัด ในประเทศกัมพูชา ซึ่งสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 อันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับสมัยที่นเรนทราทิตย์ครองเมืองพนมรุ้ง พบว่าเกราะของทหารในภาพสลักที่ปราสาทพนมรุ้งมีความคล้ายคลึงกับในภาพสลักกระบวนทัพจากเมืองละโว้ (ปัจจุบันคือจังหวัดลพบุรี) ซึ่งมีสถานะเป็นแคว้นหนึ่งของอาณาจักรเขมรในขณะนั้น โดยกองทัพละโว้เป็นทัพลำดับที่ 2 ถัดต่อมาจากกองทัพหน้าสุด นำพลโดย “วร กมรเตง อัญ ศรีชัยสิงหวรมัน” ประกอบไปด้วยช้างศึก กองทหารม้า และพลทหารราบถืออาวุธ ซึ่งมีการแต่งกายในลักษณะอย่างเดียวกันกับนักรบเขมรในกองทัพของแคว้นอื่นๆ ที่อยู่ในแถวกระบวนถัดไป โดยเหล่าพลทหารราบของละโว้สวมเกราะแผ่นรูปสี่เหลี่ยมหุ้มปิดลำตัว ตั้งแต่ส่วนอกช่วงบนจนถึงระดับเอว ปล่อยส่วนแขนและคอ
เปิดโล่ง ขอบด้านบนยกสูงขึ้นมาด้านหนึ่ง ตามขอบของแผ่นเกราะมีการขลิบตกแต่งลวดลาย มีสายรัดตรงกึ่งกลางลำตัว สันนิษฐานว่าชุดเกราะลักษณะนี้อาจทำด้วยหนังสัตว์หรือโลหะ หมวกศึกของนักรบกองทัพละโว้มีลักษณะคล้ายเทริด มีกะบังครอบวงหน้าและมีรัดเกล้าครอบมวยผมยอดแหลม (ภาพที่ 1)

ภาพที่ ๑ ลักษณะการแต่งกายของนักรบในภาพสลักบนซุ้มบัญชรบนชั้นเชิงบาตรชั้นที่ ๒ ด้านทิศใต้ของปรางค์ประธาน ปราสาทพนมรุ้ง (บน) เปรียบเทียบกับการแต่งกายของทหารจากแคว้นละโว้ ในภาพ
สลักที่ผนังระเบียงคด ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา (ล่าง)

พิจารณาจากหลักฐานดังกล่าว จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าชุดเกราะในช่วงเวลาดังกล่าว มีลักษณะอย่างเดียวกันกับเกราะของนักรบเขมรสมัยเมืองพระนคร ในสมัยเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการถ่ายเทองค์ความรู้ด้านการสงครามระหว่างดินแดนไทยกับกัมพูชาตั้งแต่สมัยโบราณ

ชุดเกราะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19

ยุคสมัยนี้เป็นช่วงเวลาที่อิทธิพลเขมรในประเทศไทยเริ่มเสื่อมลง ประจวบเหมาะกับการสถาปนาแคว้นสุโขทัยขึ้นในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง โดยในระยะดังกล่าว ไม่พบหลักฐานเรื่องชุดป้องกันศาสตราวุธมากกนัก แต่สันนิษฐานว่ารูปแบบชุดเกราะของนักรบในสมัยสุโขทัยอาจจะมีลักษณะไม่แตกต่างจากชุดเกราะในสมัยก่อนหน้านี้ กล่าวคือ ยังคงมีลักษณะเป็นเกราะแผ่นหุ้มลำตัว เมื่อพิจารณาจากภาพวาดบนชิ้นส่วนภาชนะสังคโลกสมัยสุโขทัยใบหนึ่ง ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยได้มีการวาดตกแต่งลวดลายไว้ที่ก้นภาชนะด้านใน ได้แสดงให้เห็นภาพบุรุษ 2 คนถือมีดสั้นไว้ในมือ โดยบุคคลทางด้านซ้ายนุ่งผ้าหยักรั้ง ท่อนบนไม่สวมเสื้อ สวมตุ้มหู ขณะที่บุคคลทางด้านขวาของภาพไว้ผมยาวเกล้ามวย สวมเสื้อแขนยาวถึงระดับข้อศอก สวมรองเท้าปลายเชิด และมีเครื่องแต่งกายลักษณะคล้ายแผ่นเกราะปิดคลุมส่วนหน้าอก

นอกจากเกราะแผ่นหุ้มลำตัวแล้ว พบว่านักรบในสมัยสุโขทัยนั้นได้สวมเครื่องป้องกันศีรษะด้วย จากหลักฐานประติมากรรมสังคโลก ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้แสดงถึงลักษณะของหมวกศึกทหารในสมัยสุโขทัย โดยเป็นหมวกทรงชามคว่ำ มียอดเป็นจุกขนาดเล็กตรงกลางหมวกคล้ายหมวกกลีบลำดวนในสมัยรัตนโกสินทร์ (ภาพที่ 2)

ภาพที่ ๒ ลวดลายบนเครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ซ้าย) ประติมากรรมรูปทหารสังคโลก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ขวา)

ชุดเกราะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-23

ในช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งกินระยะเวลานานถึง 417 ปี โดยในสมัยอยุธยานี้ได้เกิดการสงครามกับอาณาจักรใกล้เคียงอยู่บ่อยๆ ประกอบกับมีการติดต่อการค้ากับต่างประเทศ จึงนำไปสู่การพัฒนาอาวุธและยุทธภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ได้เปรียบในการทำศึกสงคราม

จากข้อความในลิลิตยวนพ่าย อันเป็นวรรณคดีในสมัยอยุธยาตอนต้น ได้บอกเล่าถึงการศึกสงครามระหว่างล้านนากับอยุธยา ในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยา กับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ซึ่งได้ให้รายละเอียดว่านักรบฝ่ายอยุธยาสวมชุดเกราะนวมที่บุเสริมความหนาด้วยสำลีเพื่อป้องกันคมอาวุธจากข้าศึกศัตรู ดังในความว่า

“ทุกพ้องพิรพ่าหเจ้า   จอมเมลือง เลิศแฮ

สรรพเครื่องสรรพาวุธ   เลิศล้วน

เกราะกรายสำลีเนือง   นอกออก ไปแฮ

ทวนธนูหน้าไม้ถ้วน   หมู่หมาย ฯ”

เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความในวรรณคดีเรื่องอนิรุทธคำฉันท์ ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้
มีข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวว่า

“แผลงศรศิลปเฉียวฉับ

จับเสโลห์ทวนทอด

ผ้าชั้นสอดสำลีเลิศ

หมวกพรายเพริศประดับประดา…”

ในวรรคที่กล่าวถึง “ผ้าชั้นสอดสำลี” ได้ช่วยอธิบายลักษณะของชุดเกราะว่าทำจากผ้าที่เสริมความหนาเป็นชั้นๆ ยัดไส้ด้วยสำลี ซึ่งช่วยยืนยันได้ตรงกันว่าทหารในสมัยอยุธยาสวมเกราะผ้าบุนวมในการทำสงครามมาตลอด ถึงแม้ผ้าจะเป็นวัสดุอ่อน แต่ก็มีคุณสมบัติเด่นในด้านความนุ่มเหนียวและยืดหยุ่น ซึ่งผ้าที่ซ้อนทับกันหลายชั้นสามารถช่วยลดแรงปะทะจากอาวุธของศัตรูได้เป็นอย่างดี

ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ทางอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้พบหลักฐานเกี่ยวกับชุดเกราะที่วิหารพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวง โดยปรากฏเป็นลวดลายประดับเชิงเสาในวิหาร ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเขียนขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นลายภาพนักรบขี่ม้า สวมเกราะ มือถือหอก สวมหมวกปีกกว้างมีพู่ด้านบน ลักษณะหมวกเกราะของนักรบหลังม้า
นั้น เป็นหมวกปีกกว้าง มีปกหู ยอดหมวกประดับพู่ขนยาว รอบใบหมวกประดับช่อใบไม้ไหว ซึ่งค่อนข้างคล้ายหมวกศึกของนักรบทั้งในไทยและพม่า ลักษณะเกราะของนักรบนั้นเป็นชุดเกราะเกล็ด (Scale armour) ทรงอย่างเสื้อแขนสั้น ชายยาวคลุมสะโพก โดยนักรบนั้นนุ่งผ้าสั้นมีลวดลาย (ภาพที่ 3)

ภาพที่ ๓ ภาพลายเส้นแสดงถึงลักษณะการแต่งกายของทหารม้า จากลายประดับเชิงเสา วิหารพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวง

นอกจากนี้ในสมัยดังกล่าว ได้พบว่ามีการนำชุดเกราะแบบตะวันตกเข้ามาในอยุธยาเช่นกัน โดยในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งอยุธยา ได้มีจดหมายเหตุชาวโปรตุเกสบันทึกไว้ว่า อฟอนโซ เดอ อัลบูเกอร์เก ได้ส่งผู้แทนของเขา ซึ่งได้แก่ อันตอนิโอ เดอ มิรานดา, ดูอาร์เต โกเอลโย และบุคคลอื่นๆ ให้ติดตามทูตสยามเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักอยุธยา พร้อมกับนำบรรณาการต่างๆ มาถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน พร้อมด้วยเครื่องยุทธภัณฑ์ต่างๆ เช่น ชุดเสื้อเกราะทำด้วยกำมะหยี่สีแดง หมวกเหล็ก ชุดอาวุธสะพาย โล่หนังอย่างดีปักไหมยกดอก ชุดเครื่องเงิน และผ้าแขวนผนังทำด้วยไหม เป็นต้น

เมื่อได้พิจารณาประกอบกับข้อมูลเกี่ยวกับชุดเกราะของชาวยุโรปในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 (พุทธศตวรรษที่ 20) แล้ว สันนิษฐานว่าเกราะตามเนื้อความในบันทึกนั้น อาจเป็นชุดเกราะชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Brigandine ซึ่งประกอบขึ้นจากแผ่นโลหะขนาดย่อมจำนวนหลายชิ้น บุซ้อนเหลื่อมเรียงกันไว้อยู่ภายใต้ชั้นของผ้ากำมะหยี่ที่ประกอบเป็นตัวเสื้อ โดยใช้หมุดโลหะช่วยยึดไว้อีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ ยังเคยปรากฏความในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 42 เรื่อง จดหมายเหตุของคณะพ่อค้าฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงเครื่องบรรณาการต่างๆ เช่น เสื้อเกราะทำด้วยหนังปักลวดทอง กระจกเงาบานใหญ่ หีบแก้วอย่างดี เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ในจดหมายเหตุฉบับต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงการติดต่อระหว่างฝ่ายอยุธยากับชาติตะวันตก ไม่พบข้อมูลใดๆ ที่กล่าวถึงการสั่งซื้อเกราะอย่างตะวันตกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ หรือข้อมูลซึ่งชี้ชัดว่ามีการนำชุดเกราะเหล่านี้ไปใช้สำหรับการรบในศึกสงครามจริง เป็นไปได้ว่าชุดเกราะตะวันตกคงมีฐานะเป็นเครื่องบรรณาการเพื่อแสดงถึงเกียรติยศของผู้ครอบครองเท่านั้น ขณะที่ในหลักฐานเอกสารที่กล่าวถึงเกราะแบบตะวันออกแล้ว สะท้อนว่านักรบหรือทหารในสมัยอยุธยาอาจนิยมสวมชุดเกราะแบบตะวันออกมากกว่า ดังจะเห็นได้จากในบันทึกการติดต่อค้าขายระหว่างญี่ปุ่นกับราชสำนักอยุธยา พบว่าเกราะญี่ปุ่นนั้นจัดเป็นยุทธภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่ทางฝ่ายอยุธยานิยมสั่งซื้อเข้ามาค่อนข้างมาก

ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้ง พ.ศ. 2149 โชกุนแห่งญี่ปุ่น ได้ส่งบรรณาการมาถวายแด่กษัตริย์แห่งอยุธยา อันประกอบไปด้วยเกราะญี่ปุ่น 3 สำรับ ดาบ 10 เล่ม และหลังจากนั้นใน พ.ศ. 2151 ก็ได้มีการส่งเสื้อเกราะมาเป็นบรรณาการอีก 6 สำรับ เป็นต้น จากในบันทึกทางการค้าฉบับต่างๆ ที่ฝ่ายไทยได้ติดต่อกับญี่ปุ่นนั้น ระบุว่าอาวุธและชุดเกราะแบบญี่ปุ่นค่อนข้างที่จะเป็นที่นิยมอยู่ไม่น้อย

ซึ่งข้อมูลเรื่องการสั่งซื้อชุดเกราะจากญี่ปุ่นนั้นสอดคล้องกับในรายงานการขุดค้นที่หมู่บ้านญี่ปุ่นที่จังหวัด
พระนครศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2476 โดยคณะสำรวจของ ดร. Higachionna Kanjun ได้ค้นพบอาวุธและชุดเกราะญี่ปุ่นด้วย จึงสันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นชุดเกราะของทหารในกรมอาสาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอยุธยาเมื่อเวลานั้น

จากในภาพจิตรกรรมพุทธประวัติ ตอนมารผจญที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม พบว่าไพร่พลในกองทัพมารบางรายสวมหมวกศึกซึ่งมีรูปทรงเป็นหมวกปีกแคบ มีจอมหมวกเตี้ย หมวกศึกแต่ละใบมีการประดับตกแต่งลวดลายไม่ซ้ำกัน ปกหมวกของนักรบบางรายนั้นมีลายเกล็ดคล้ายเกล็ดปลา สันนิษฐานว่าอาจเป็นการนำเกล็ดหนังหรือเกล็ดโลหะมาเย็บผนึกติดกับผ้าปกหมวกอีกทีหนึ่งเพื่อใช้ป้องกันคมอาวุธ สอดคล้องตรงกันกับที่ บาทหลวงกวีย์ ตาชารด์ ซึ่งเดินทางเข้ามายังอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกถึงการแต่งกายของทหารอยุธยาไว้ว่า “…เรือพระที่นั่งนั้นปิดทองกระทั่งจรดผิวน้ำ มีฝีพายร้อยยี่สิบคน สวมหมวกทรงระฆังคว่ำ ประดับเกล็ดเลื่อมทองคำ สวมเกราะอ่อนกันอกประดับเลื่อมทองคำเช่นเดียวกัน…”

เช่นเดียวกับหลักฐานภาพจิตรกรรมลายรดน้ำในหอเขียน ซึ่งปัจจุบันได้กระทำผาติกรรมย้ายมาไว้ที่วังสวนผักกาดของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ซึ่งสันนิษฐานว่าวาดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในภาพได้แสดงถึงการแต่งกายของทหารม้าสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยสวมหมวกปีกกว้างยอดแหลมมีแผ่นปิดท้ายทอยหุ้มเกล็ด และแผ่นกรองคอหุ้มเกล็ด (ภาพที่ 4)

ภาพที่ ๔ ภาพลายเส้นแสดงลักษณะของหมวกศึกนักรบสมัยอยุธยา จากภาพมารผจญ จิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี (๑ และ ๒) และภาพลายเส้นแสดงลักษณะของหมวกศึก และเกราะป้องกันไหล่ของนักรบสมัยอยุธยา จากจิตรกรรมลายรดน้ำในหอเขียน วังสวนผักกาด (๓)

ในตำราว่าด้วยเครื่องต้น เครื่องทรงสำหรับพระมหากษัตริย์ ในการเสด็จออกงานพระราชพิธีต่างๆ ได้อธิบายถึงเครื่องทรงสำหรับการทำยุทธหัตถีไว้ โดยเรียกชื่อว่าเครื่องพระพิชัยสงคราม ซึ่งมีส่วนประกอบทั้งสิ้น 7 อย่าง อันได้แก่ 1. พระสนับเพลาลงราชะซับใน (สนับเพลา หรือกางเกง) 2. ฉลองพระองค์ย้อมว่านลงราชะซับใน (เสื้อ) 3. พระสนับเพลาแพรดำเกราะชั้นนอก (สันนิษฐานว่าเป็นเกราะป้องกันต้นขา) 4. ฉลองพระองค์แพรดำนวมชั้นนอก (เสื้อเกราะนวม) 5. พระมาลาลงราชะซับใน (หมวกรองใน) 6. พระมาลาเบี่ยงนอก (หมวกศึก) 7. รัดพระองค์เจียรบาดพื้นดำ (สันนิษฐานว่าเป็นผ้าคาดเอว)

ตรงตามความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เครื่องทรงสำหรับการยุทธ์ของพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงกระทำสงคราม ดังข้อความว่า “…ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น 11 ค่ำเพลารุ่งแล้ว 2 นาฬิกา 5 บาท สุมหุดีมหาวิชัยฤกษ์ สมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็ทรงเครื่องสำหรับพิชัยสงคราม ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งศรีสมรรถชัย…”

เมื่อพิจารณาในคำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงการแต่งกายของกองทหารสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า “…อันที่นอกจากอำมาตย์และเสนา และเกณฑ์เหล่าทหารของพระองค์นั้น ตั้งแต่นายทัพนายกอง และนายทหารกองสารวัตรใหญ่ทั้งปวงนั้น ใส่หมวกใส่เสื้อเครื่องเกราะ อันที่ใส่ชั้นในนั้นก็มีฉู่ฉา อันเหล่าพลโยธาทั้งปวงนั้นใส่เสื้อแดง ครอบหัวใส่หมวกแดงทั้งปวง…” 

ประกอบกับข้อความในคำให้การขุนหลวงประดู่ทรงธรรม ซึ่งได้บอกเล่าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชพิธีเสด็จโดยพยุหยาตราสถลมารคว่า “…ในกระบวนทับมียกกระบัตรเกียกกายนายทับนั้น ผู้มีชื่อตามตำแหน่งน่าแปดทับหลังแปดทับแล้วจึ่งถึงทับ แสงนอกแสงในซ้ายขวานั้น คือ ม้าห้อแลม้าอาษาเกราะทองแลม้าเครื่อง ม้าไชยนั้นคนขี่แต่งตัวใส่เสื้อเกราะแพรใส่หมวกมือถือทวนแลธนูแห่ไปซ้ายขวา…”

“… แล้วจึ่งถึงทหารใส่เสื้อเสนากุฎแลใส่หมวกทองมือถืออาวุธหอกดาบโล่เขนธนูน่าไม้ แลปืนน้อยปืนใหญ่ แลปืนขานกยางแห่ไปเปนชั้น 2 เปนหลั่น 2 กันมาตามที่ตามทางแล้วจึ่งมีช้างแพนแลช้างเขน มีคนขี่ถืออาวุธแลขอ แต่งตัวใส่เสื้อเกราะกำมะหยี่แดงขลิบทอง ใส่หมวกทองบนหลังนั้น มีคนถือปืนแล้วแห่ไปตามที่…”

จากข้อความในข้างต้น ได้แสดงให้เห็นว่า ชุดเกราะสำหรับนักรบในสมัยอยุธยานั้นมีหลายลักษณะ โดยมีฉลองพระองค์พิชัยสงคราม อันเป็นเครื่องทรงชุดเกราะสำหรับพระมหากษัตริย์ และนอกจากนี้ ยังมีชุดเกราะสำหรับแม่ทัพนายทหารอื่นๆ อันได้แก่ เกราะแพร เกราะทอง เกราะเสนากุฎ เกราะกำมะหยี่ เป็นต้น สันนิษฐานว่าเกราะชนิดต่างๆ ดังกล่าว อาจเป็นชุดเกราะผ้าบุนวม ที่ผลิตจากผ้าหนาซ้อนชั้นเสริมความหนาเพื่อป้องกันคมอาวุธ โดยชุดเกราะชั้นนอกหุ้มด้วยผ้าชนิดต่างๆ เช่น ผ้าแพร ผ้ากำมะหยี่ โดยมีการตกแต่งลวดลายประดับอย่างสวยงาม

ชุดเกราะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23-26

เมื่อเข้าสู่สมัยธนบุรีจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ระบบการทหารของไทยยังคงเป็นแบบเดียวกันกับเมื่อครั้งสมัยอยุธยา จากในตำราพิไชยสงคราม ฉบับรัชกาลที่ 1 พบว่า ยังคงมีการใช้ชุดเกราะนวมเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยาอยู่ ดังมีเนื้อหากล่าวว่า “…แลจตุรงคเสนางคนั้น คือพลช้างสัพด้วยจำลองแลกระโจมอันมีพรรณต่างๆ แลทหารซึ่งจขี่ฅอช้างนั้น สัพด้วยหมวกแลเกราะนวมปรดับนี้สำรับช้างนั้น…”

ชุดเกราะนวมนี้จัดเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคสำหรับพระมหากษัตริย์อีกด้วย เรียกว่าฉลองพระองค์เกราะนวม ดังความในโคลงยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้กล่าวถึงรายละเอียดของเครื่องราชูปโภค ซึ่งใช้เป็นเครื่องสำหรับประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้ว่า

“พระเต้าเบญจคับห้า   ยันต์รอง

เครื่องพิไชยสงครามผอง   แต่งตั้ง

เสมาธิปัดฉลอง   องค์เกราะ นวมนา

เกาวะภ่ายธงธุชทั้ง   พระนพช้าง ฉัตรไชยฯ”

อีกทั้งชุดเกราะนวม ยังเป็นหนึ่งในเครื่องประกอบพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเช่นกัน โดยมีการจัดพระแท่นมณฑล ซึ่งตรงกลางตั้งพระเจดีย์ถมบรรจุพระบรมธาตุ และพระพุทธรูป ด้านข้างของโต๊ะหมู่ทั้ง 2 ด้าน ตั้งเครื่องพระราชพิธี ได้แก่ หีบพระเครื่องต้นข้างละ 2 หีบ ฉลองพระองค์เกราะนวม 32 ชั้น ฉลองพระองค์ลงราชะ 7 สี พระมหาสังข์ 5 พระมหาสังข์ 3 ด้านหลังหีบพระเครื่อง ตั้งพระมหาพิชัยมงกุฎ พระชฎาเดินหน พระมาลาเบี่ยง พระมาลาเพ็ชร เครื่องพระพิชัยสงคราม 2 หีบ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากในเนื้อหาข้างต้นได้กล่าวว่ามีการใช้ชุดเกราะนวม และพระมาลาเบี่ยงเป็นเครื่องประกอบในพระราชพิธี มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าชุดเกราะนวมดังกล่าว ประกอบด้วยชั้นซ้อนกันถึง 32 ชั้น จัดว่าเป็นชุดเกราะอ่อนซึ่งมีคุณสมบัติช่วยผ่อนแรงปะทะจากอาวุธได้ ซึ่งกรมพระยานริศฯ ได้ทรงอธิบายไว้ว่า “…เสื้อเกราะของไทย ทราบแต่ว่าทำด้วยหนัง เปนเสื้อแขนสั้น ถ้าจะให้งามก็เอาผ้าสาบนอก…” และทรงอธิบายเพิ่มเติมต่อไปว่า “…ในคำว่าฉลองพระองค์เกราะนวมนั่นแล้วคือเสื้อเกราะ ที่เรียกว่าเกราะนวมก็เพราะเขาตรึงผ้าที่หุ้มให้ติดกับหนัง ยัดสำลีนิดหน่อย เพื่อไม่ให้กระด้างรู้สึกเจ็บพระองค์…”

รูปแบบของชุดเกราะอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นเสื้อแขนสั้น เมื่อเทียบกับภาพจิตรกรรมลายรดน้ำที่บานหน้าต่างพระอุโบสถวัดนางนอง และในภาพประติมากรรมนูนต่ำที่บานหน้าต่างพระอุโบสถคณะรังสี (ภาพที่ 5) ซึ่งในภาพได้แสดงถึงสัญลักษณ์ของคติความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช อันประกอบไปด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องราชูปโภคสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ อันได้แก่ พระมาลาศึก ซึ่งมีลักษณะเป็นหมวกปีกยอดสูง มีปกหูและปกคอสำหรับป้องกันท้ายทอยผู้สวม และมีฉลองพระองค์เกราะ โดยลักษณะของฉลองพระองค์เกราะในภาพจิตรกรรม พบว่าเป็นเสื้อแขนสั้นผ่าหน้า ขลิบตกแต่งขอบคอเสื้อและแขนเสื้อเป็นลวดลายประดับ ตัวเสื้อปกคลุมด้วยลายเกราะเพชรคล้ายเกล็ดเกราะแบบจีนที่เรียกว่าซานเหวินข่าย อันเป็นรูปทรงของเกล็ดเกราะที่นิยมกันมากในชุดเกราะนักรบจีนช่วงสมัยราชวงศ์หมิง

ภาพที่ ๕ ฉลองพระองค์เกราะในภาพจิตรกรรมลายรดน้ำที่บานหน้าต่างพระอุโบสถวัดนางนอง (ภาพซ้าย) และในภาพประติมากรรมนูนต่ำที่บานหน้าต่างพระอุโบสถคณะรังสี (ภาพขวา)

นอกจากนี้ มีหลักฐานเอกสารกล่าวว่า ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ทางไทยได้ส่งพระราชสาส์นไปยังจีนเมื่อปี พ.ศ. 2329 เพื่อติดต่อขอซื้อชุดเกราะทองเหลืองสำหรับทหารอีกด้วย มีใจความตอนหนึ่งในพระราชสาส์นว่า 

“…จะต้องพระราชประสงค์แก่เกราะทองเหลือง 2000 สำหรับทหารจะได้ทำการรบพุ่งเอาชัยชำนะแก่พม่า ครั้นจะให้ออกมาจัดซื้อแต่อำเภอ ฝ่ายกรุงจีนเป็นสิ่งของต้องห้าม จึงบอกออกมาให้กราบทูลแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิงผู้ใหญ่ ขอจัดซื้อเกราะทองเหลือง 2000 ได้ส่งตัวอย่างเกราะออกมาด้วยแล้ว และขอให้สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิงผู้ใหญ่ช่วยทำนุบำรุงกรุงพระมหานครศรีอยุธยาให้ได้เกราะทองเหลือง 2000 เข้าไปตามราชประสงค์ จะได้ทำการรบพุ่งกับพม่าข้าศึก ป้องกันรักษากรุงพระมหานครศรีอยุธยาสืบไป ฯ…” ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นชุดเกราะจีนชนิดหนึ่งที่ใช้กันในสมัยราชวงศ์ชิง มีลักษณะเป็นชุดเกราะหุ้มด้วยเกล็ดที่ทำจากทองเหลือง

เครื่องป้องกันร่างกายอีกชนิดหนึ่ง ที่สันนิษฐานว่าใช้ในหมู่นักรบไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือ กรองคอ ซึ่งเป็นแผ่นผ้าหรือหนังสัตว์สำหรับสวมปิดป้องกันร่างกายบริเวณช่วงบ่า หน้าอกช่วงบน และต้นแขนของผู้สวม ดังจะเห็นได้จากประติมากรรมไม้สลักรูปทหารที่บานประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งพบว่ากรองคอนั้นมีการตกแต่งด้วยลายสิงห์ขบตรงบริเวณแผ่นป้องกันช่วงอก และแผ่นป้องกันไหล่ทั้ง 2 ข้าง เมื่อพิจารณา
ประกอบกับภาพถ่ายของพลทหารบนหลังช้างในกระบวนแห่เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพที่ 6) ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะการแต่งกายของทหาร โดยสวมหมวกปีกกว้างทำด้วยหนังสัตว์เคลือบตกแต่งสี แต่งกายด้วยเสื้อแขนกระบอกชายยาวถึงสะโพก สวมกางเกงขากว้างลายแถบ ที่ไหล่ของทหารนั้นสวมกรองคอลายสิงห์ขบแบบเดียวกับทหารในประติมากรรมไม้สลักที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ภาพที่ ๖ ประติมากรรมไม้สลักรูปทหาร ที่บานประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๔ (ภาพซ้าย) เปรียบเทียบกับการแต่งกายของพลปืนหลังช้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพขวา)

อย่างไรก็ตาม การใช้ชุดเกราะในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์คงจะลดน้อยลงไปกว่าเมื่อครั้งสมัยอยุธยามาก อันเป็นผลมาจากการพัฒนาอาวุธปืน จึงทำให้ชุดเกราะมีความจำเป็นน้อยลง จนเหลือแต่เพียงชุดเกราะสำหรับนักรบระดับแม่ทัพเท่านั้น

สรุป

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่าชุดเกราะของนักรบไทยสมัยโบราณ มีรูปแบบที่หลากหลาย โดยมีการใช้รูปแบบเกราะอย่างเขมรโบราณ ก่อนที่ภายหลังจึงรับเอาลักษณะของชุดเกราะแบบจีน และแบบอินเดีย-เปอร์เซียมาประยุกต์ใช้ บางครั้งก็มีการนำเข้าชุดเกราะจากญี่ปุ่นมาใช้สำหรับนักรบเช่นกัน เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการสู้รบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประโยชน์หลักของชุดเกราะไม่เพียงแต่ใช้สวมเพื่อป้องกันอาวุธเท่านั้น แต่ยังถือเป็นเครื่องยศที่ช่วยบ่งบอกถึงระดับยศศักดิ์
ของผู้สวมเช่นกัน อีกทั้งยังจัดเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ของคติพระจักรพรรดิราช ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ผลจากการพัฒนาอาวุธปืนได้ทำให้มีการใช้ชุดเกราะในการสู้รบน้อยลง แต่ได้กลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทในเชิงสัญลักษณ์แทน โดยฉลองพระองค์เกราะได้มีบทบาทสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธีต่างๆ ด้วย

จนกระทั่งเมื่อระบบการทหารของไทยได้ปรับปรุงตามแบบชาติตะวันตก จึงได้ส่งผลให้แนวทางการพัฒนาชุดเกราะสำหรับทหารนั้น ได้เปลี่ยนจากเดิมที่ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันคมหอกคมดาบ มาเป็นการใช้สำหรับป้องกันอันตรายจากกระสุนปืน หรือสะเก็ดระเบิดโดยผลิตขึ้นจากวัสดุสังเคราะห์ประเภทต่างๆ แทนในปัจจุบัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

กรมศิลปากร. (2545). ตำราพิไชยสงคราม ฉบับรัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

______.  (2542).  อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ. กรุงเทพฯ : ถาวรกิจการพิมพ์.

______, ทิพโกษา (สอน โลหนันทน์), พระยา และ จำลอง มัลลิกะนาวิน. (2507). พระราชสาส์นไปเมืองจีนครั้งกรุงธนบุรี และพระราชสาส์นกรุงจีนมีมาในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ ตำนานกระทรวงการต่างประเทศเมื่อแรกตั้งขึ้น. กรุงเทพฯ : อักษรศิลป์. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นายโชติ เหล็งสุวรรณ).

คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี. (2510). ประชุมสมุดภาพสำคัญในประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2548). อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

______. (2551). เอกสารสรุปการสัมมนาวิชาการ 120 ปี ความสัมพันธ์การทูตไทย-ญี่ปุ่น : เอเชียตะวันออกกับอุษาคเนย์ (2430-2550). สมุทรปราการ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย.

ณัฏฐภัทร นาวิกชีวิน. (2518). พระราชพิธีโสกันต์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา.(2539). ตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา กับพระวิจารณ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 

ตาชารด์, กวีย์. (2517). จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม
ของบาทหลวงตาชารด์. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา. (2506). บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงบันทึกประทานพระยาอนุมานราชธน เล่ม 1. พระนคร : สมาคมสังคมศาสตร์.

นั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2546). พระราชพิธีบรมราชาภิเษก : ประวัติศาสตร์ จารีตประเพณีจากพระราชนิพนธ์ “ยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2”. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

นันทนา ตันติเวสส. (2528). 470 ปี แห่งมิตรสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

ประชุมพงศาวดาร เล่ม 25 (ประชุมพงศาวดาร ภาค 41 (ต่อ)-42-43). (2513). กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

พระมหาราชครู. (2503). สมุทรโฆษคำฉันท์. พระนคร : กรมศิลปากร.

พันจันทนุมาศ (เจิม) และ หลวงประเสริฐ. (2553). พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี : ศรีปัญญา.

มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2522). เสือโคคำฉันท์ และอนิรุทธคำฉันท์. กรุงเทพฯ : ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์.

มานะจิต หะยีดิน. (2518). “ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา.” สารนิพนธ์ปริญญาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ลิลิตยวนพ่าย. (2517). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

วินัย พงศ์ศรีเพียร. (2534). คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม : เอกสารจากหอหลวง. กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2545). เสียมกุก : กองทัพสยามที่ปราสาทนครวัดเป็นใคร? มาจากไหน? ไทย ลาว หรือ ข่า. กรุงเทพฯ : มติชน.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. (2537). ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย : ภูมิหลังทางปัญญา-รูปแบบทางศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มิถุนายน 2562