ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระเจ้าตอง พระพุทธรูปเมืองพะเยา กลับคืนไทย! หลังถูกโจรกรรมเมื่อ 36 ปีก่อน
พระเจ้าตอง หรือ “หลวงพ่อลอ” เป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดพะเยา เดิมประดิษฐาน ณ วัดศรีปิงเมือง บ้านเวียงลอ ตำบลลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา
พระพุทธรูปองค์นี้หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ตักกว้าง 78 เซนติเมตร สูง 110 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20-21
พระเจ้าตองได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “ศิลปโบราณวัตถุ และพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของวัดวาอาราม” เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 แต่ปลายปี 2531 พระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ถูกโจรกรรมไปจากวัดศรีปิงเมือง และไม่พบเบาะแสอีกเลย
กระทั่งเดือนสิงหาคม 2567 กรมศิลปากรได้รับการประสานว่ามีการพบพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์ใกล้เคียงกับพระเจ้าตอง ที่สถานประมูลโบราณวัตถุในยุโรป โดยให้รายละเอียดเป็นภาพถ่าย และข้อมูลที่มากพอจะเป็นช่องทางประสานงานกับผู้ครอบครอง และสามารถติดตามคืนพระพุทธรูปกลับประเทศไทยได้ในที่สุด
พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้รับพระเจ้าตองมาตรวจพิสูจน์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 โดยกรมศิลปากรใช้ภาพถ่าย และข้อมูลของพระพุทธรูปจากฝ่ายทะเบียน กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ที่บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2528 มาเทียบพิจารณารูปแบบศิลปะ รูปพรรณต่าง ๆ ทำให้พบว่าตรงกัน
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ จึงพบว่าพระพุทธรูปเคยถูกทาทับด้วยสี เพราะมีร่องรอยของสีกระจายอยู่ทั่วองค์ แต่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งตรงกับรูปพรรณเดิมก่อนถูกโจรกรรม
จึงสามารถยืนยันได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้คือ พระเจ้าตองของชาวเวียงลอ จังหวัดพะเยา
การส่งมอบพระพุทธรูป “พระเจ้าตอง” คืนให้ไทย หลังถูกโจรกรรมไปกว่า 36 ปี มีขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โดยมี สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีส่งมอบ จากนั้นจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดศรีปิงเมือง จังหวัดพระเยา ดังเดิม เพื่อเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวพะเยาต่อไป
ข้อมูล : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
อ่านเพิ่มเติม :
- ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตัวอย่างการพิสูจน์โบราณวัตถุจริงหรือปลอม?
- ปริศนา “ประติมากรรมสตรี” พนมมือไหว้ใคร เกี่ยวข้องกับ “Golden Boy” หรือไม่!?
- “Golden Boy” รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ประติมากรรมสำริด ศิลปะเขมรแบบพิมาย ที่ไทย (เพิ่ง) ได้คืนจากสหรัฐ!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2567