คติ “พระจักรพรรดิราช” ที่แฝงอยู่ในพระนาม “พระราชธิดา” ในรัชกาลที่ 5

พระราชธิดาชั้นเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5 ประทับจากซ้าย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ประทับยืน สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ราชพัสตราภรณ์ ราชสำนักฝ่ายใน
พระราชธิดาชั้นเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5 ประทับจากซ้าย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ประทับยืน สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (ภาพจาก “ราชพัสตราภรณ์”)

คติ “พระจักรพรรดิราช” แฝงอยู่ในพระนาม “พระราชธิดา” ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อพระราชโอรสมีพระนามเชื่อมโยงกับศาสตราวุธ พระนามพระราชธิดาเชื่อมโยงกับสิ่งใด?

คติ “พระจักรพรรดิราช” หรือการยกให้พระมหากษัตริย์มีพระบรมเดชานุภาพเสมอเทพเจ้า แพร่หลายในหมู่ชนชั้นนำไทยมาแต่โบราณ ปรากฏผ่านสัญญะ รูปแบบต่าง ๆ ทั้งศิลปกรรมและพระราชพิธี เพื่อแสดงพระราชอำนาจ บุญญาบารมีขององค์พระมหากษัตริย์ สืบทอดส่งต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คติข้างต้นยังปรากฏผ่านพระนามพระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ในกลุ่มพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอ อันเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ทรงพระอิสริยยศ “เจ้าฟ้าชั้นเอก” หรือทูลกระหม่อม

พระนาม “4 พระราชธิดา” ในรัชกาลที่ 5

นอกจากพระนามที่เกี่ยวข้องกับราชศาสตราวุธของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชโอรสที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ แล้ว [อ่าน คลิก] พระนามของ “พระราชธิดา” ก็มีความไพเราะ เรียงร้อยจากภาษาอันวิจิตร ครบถ้วนด้วยวรรณศิลป์ไม่แพ้กัน

รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระนามที่อ่อนโยน อ่อนหวาน สมดังราชนารีจักรีวงศ์ แก่พระราชธิดา 4 พระองค์ ดังนี้

“กรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พาหุรัดมณีมัย วไลยอลงกรณ์ ศิราภรณ์โสภณ”

พระราชธิดาทั้งหมดนี้ แม้จะมีพระราชมารดาต่างพระองค์กัน แต่พระนามที่ได้รับพระราชทานนั้นมีความหมายที่แฝงด้วยพระเกียรติยศอันหมายถึง “เครื่องทรง” ในพระจักรพรรดิราช ได้แก่

1. กรรณาภรณ์เพชรรัตน์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือพระนางเรือล่ม) หมายถึง เครื่องประดับพระกรรณ (หู)

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา

2. พาหุรัดมณีมัย (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัยประไพพรรณพิจิตร นริศรราชกุมารี กรมพระเทพนารีรัตน์ ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ) หมายถึง กำไลต้นพระพาหา (ต้นแขน)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัยประไพพรรณพิจิตร นริศรราชกุมารี กรมพระเทพนารีรัตน์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัยประไพพรรณพิจิตร นริศรราชกุมารี กรมพระเทพนารีรัตน์

3. วไลยอลงกรณ์ (สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) หมายถึง กำไลข้อพระกร (ข้อมือ)

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (ภาพจากหนังสือราชพสตราภรณ์)
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (ภาพจากหนังสือราชพสตราภรณ์)

4. ศิราภรณ์โสภณ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) หมายถึง เครื่องประดับพระเศียร (ศีรษะ)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี พระราชโอรสพระราชธิดา รัชกาลที่ 5 ประสูติวันใด
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี

พระนามที่หมายถึงเครื่องฉลองพระองค์นี้ สอดคล้องกับคติจักรพรรดิราช เรื่อง “มณีรัตนะ” หรือแก้วมณี หนึ่งในรัตนะ 7 ประการ ซึ่งสามัญชนทั่วไปไม่สามารถมีได้ จะมีก็แต่พระจักรพรรดิราชเท่านั้น

พระนามพระราชธิดาทั้ง 4 จึงมีนัยยะที่สื่อถึงมณีรัตนะอันประดับฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เป็นสวัสดิมงคลต่อพระราชบัลลังก์ ส่งเสริมพระบรมเดชานุภาพและพระบารมีแห่งองค์พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กฤตนันท์ ในจิต. อิทธิพลความเชื่อในคติสมเด็จพระจักรพรรดิราชที่ปรากฎในพระนามพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2567


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2567