เจ้าฟ้าพระองค์ใด ทรงเคยเป็น “รัชทายาท” รัชกาลที่ 6

รัชกาลที่ 6 รัชทายาทรัชกาลที่ 6 พระกระยาหารราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

ช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์ยังไม่ทรงมีพระมเหสีหรือพระราชโอรสและพระราชธิดา พระองค์จึงทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชอนุชาร่วมพระราชมารดาในพระองค์ ขึ้นเป็นรัชทายาท ทั้งนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงมีชายา คือ “หม่อมคัทริน” ซึ่งเป็นชาวรัสเซีย และทรงมีพระโอรสที่ประสูติแต่หม่อมคัทริน คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทำให้เกิดความกังวลในหมู่พระญาติวงศ์และเสนาบดีถึงการเป็นรัชทายาทรัชกาลที่ 6

ความหวาดหวั่นต่อการมี “สะใภ้เจ้า” ชาวต่างชาติ

วีระยุทธ ปีสาลี เล่าเรื่องนี้ไว้ในบทความ “สะใภ้เจ้า : จากสตรีสามัญสู่สายสัมพันธ์แห่งราชตระกูล” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนสิงหาคม 2561 ว่า

รัชทายาทรัชกาลที่ 6 เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (ภาพ : Wikimedia Commons)

ความที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงมีชายาเป็นชาวต่างชาติ ทำให้พระญาติวงศ์และเหล่าเสนาบดีบางส่วนกังวลว่า ราชบัลลังก์สยามจะตกอยู่ในสายเลือดชาวต่างชาติ แม้หม่อมคัทรินจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 6 ให้เป็น “สะใภ้หลวง” ก็ตาม

รัชกาลที่ 6 ทรงทราบความกังวลของผู้คนรอบพระองค์ จึงทรงมีพระราชดำรัสต่อพระราชอนุชาพระองค์นี้ว่า “ในส่วนตัวของเธอเองนั้นไม่มีใครรังเกียจ แต่เขาพากันรังเกียจเรื่องเมีย”

ความหวาดหวั่นเรื่องการตั้งรัชทายาทรัชกาลที่ 6 เป็นที่กล่าวถึงในหมู่เจ้านายและเสนาบดีอย่างมาก จน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต้องทรงนำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ให้ทรงคิดหาวิธีแก้ไขเสียก่อน ปรากฏหลักฐานตามที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกว่า (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำโดยกอง บก. ศิลปวัฒนธรรม)

หม่อมคัทริน พระชายา เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ รัชทายาทรัชกาลที่ 6
หม่อมคัทริน แต่งกายอย่างสตรีไทย (ภาพจาก ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ และ ไอลีน ฮันเตอร์. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม. สนพ. ริเวอร์ บุ๊คส์, 2538)

“ก่อนจะถึงวันประชุม ๒-๓ วัน สมเด็จกรมพระยาเทววงษ์ฯ และกรมพระนเรศวรฤทธิ์ได้เสด็จมาพบเสด็จพ่อที่กระทรวงมหาดไทย. กรมพระยาเทววงษ์ฯ ตรัสว่า ‘ในกรม, จะเกิดความเสียแล้ว!’ แล้วตรัสเล่าต่อไปว่า-‘มีองค์มนตรีพวกหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องรัชทายาท เพราะว่าทูลกระหม่อมเล็กมีเมียเป็นฝรั่งต่างชาติ์. เขาจะคัดค้าน… ฉันเห็นว่าควรจะกราบทูลให้ทรงทราบเสียก่อน ดีกว่าปล่อยให้มีเรื่องขึ้นในที่ประชุม’

เสด็จพ่อทูลรับรองว่าเห็นด้วย จึงปรึกษากันต่อไปว่าใครจะเป็นผู้กราบทูล. ซึ่งลงท้ายเสด็จพ่อตรัสว่า-‘ใต้ฝ่าพระบาททรงคอยอยู่นี่เถิด, เกล้ากระหม่อมจะเสี่ยงภัย run the risk เข้าไปกราบทูลเดี๋ยวนี้แหละ!’ แล้วก็ทรงพระดำเนินเข้าไปที่พระที่นั่งจักรี. พบพระยาบำเรอฯ ก็ตรัสบอกว่าให้เข้าไปกราบทูลว่าพระองค์ท่านขอพระราชทานเฝ้าสักประเดี๋ยว.

พระยาบำเรอฯ เข้าไปแล้วก็กลับออกมาเชิญเสด็จเข้าไปทันที. เสด็จพ่อก็กราบทูลตามที่ได้ทราบมาและกราบทูลว่าที่รีบเข้ามาก็เพราะเห็นว่าวันจวนประชุมอยู่แล้วจะได้ทรงมีเวลาคิดแก้ไขเสียก่อน.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับข่าวนั้นด้วยเข้าพระราชหฤทัยดีและตรัสตอบว่า-‘ไม่เป็นไร หม่อมฉันจะให้ตาเล็กทำปฏิญาณเสียก่อนว่า-จะไม่ยอมยกราชสมบัติให้กับลูกที่ไม่ได้เกิดจากผู้หญิงไทย’ เรื่องก็สงบเป็นอันเรียบร้อยไปได้

“เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ” รัชทายาทรัชกาลที่ 6

ต่อมา สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงรัชกาลที่ 6 พร้อมคำปฏิญญาว่าจะไม่ตั้งพระโอรสเป็นรัชทายาท ความว่า

“บุตรข้าพระพุทธเจ้าที่มีอยู่แล้วในเวลานี้ มีมารดาเปนคนสามัญ เพราะฉนั้นตามราชประเพณีในพระบรมราชวงษ์ ไม่สามารถจะมียศเปนเจ้าฟ้าได้เปนอันขาดไม่ว่าในเวลาใด เมื่อเปนเจ้าฟ้าไม่ได้เช่นนั้นแล้ว ก็ไม่สามารถจะเปนรัชทายาทได้เหมือนกัน เพราะยังมีเจ้าฟ้าพระองค์อื่นอยู่”

แม้รัชกาลที่ 6 จะทรงให้พระราชอนุชาทำหนังสือถวายคำปฏิญาณก่อนจะรับเป็นรัชทายาท แต่ก็ทรงทราบดีว่า การกระทำดังกล่าวอาจไม่เกิดผลใดๆ หากพระราชอนุชาได้ขึ้นครองราชย์ภายหลัง เพราะตามธรรมเนียมแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ทรงสิทธิ์ในการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลต่างๆ ดังที่ทรงมีพระราชปรารภว่า

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ รัชทายาทรัชกาลที่ 6
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (ภาพ : Wikimedia Commons)

“อันที่จริงการที่ลงความข้อนี้ไว้ในพระราชกฤษฎีกาก็ดี, หรือการบังคับให้น้องชายเล็กเขียนคำปฏิญญาก็ดี, ย่อมรู้สึกกันอยู่ว่าอาจที่จะไม่มีผลอะไรเลยก็ได้, เพราะถ้าต่างว่าฉันตายลง และน้องชายเล็กเธอได้เสวยราชย์, ดูก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะเปนข้อห้ามมิให้น้องชายเล็กเธอสถาปนา…ขึ้นเปนเจ้าและทำให้ลูกเปนอุภโตสุชาติขึ้นโดยวิธีนั้น ว่ากันตามกฎมณเฑียรบาลใครเปนลูกพระอัคระมเหษีก็ต้องเรียกว่าเปนอุภโตสุชาติอยู่เอง มิใช้ว่าพระมเหษีนั้นจะต้องได้เปนเจ้ามาโดยกำเนิดก็หามิได้. แต่ครั้นจะกล่าวตรงๆ ว่าไม่ยอมให้ลูกครึ่งเปนรัชทายาทก็อาจที่จะเกิดเปนเรื่องฉาวขึ้น”

ในที่สุด สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ก็ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาทรัชกาลที่ 6 โดยมีเงื่อนไขว่า พระองค์จะไม่ทรงตั้งพระโอรสที่ประสูติแต่หม่อมคัทรินเป็นรัชทายาทต่อไป

ความวิตกเรื่องสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงมีชายาเป็นชาวต่างชาติหายไป เมื่อทรงหย่าขาดกับหม่อมคัทริน และทรงตัดพระทัยใช้ชีวิตคู่ร่วมกับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ ทว่าเพียงไม่นานพระองค์ก็ทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2463

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2567