
ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นักประวัติศาสตร์แบ่งยุคของกรุงศรีอยุธยาตามชื่อราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททอง และราชวงศ์บ้านพลูหลวง การตั้งชื่อราชวงศ์อยุธยาเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นร่วมสมัย แต่เป็นการตั้งขึ้นในภายหลัง

เรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ใน “ประชุมพงษาวดาร ภาค ๕” ในหัวข้อ “อธิบายรัชกาลครั้งกรุงเก่า” ถึงเหตุผลการตั้งชื่อ 3 ราชวงศ์อยุธยา อันได้แก่ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย และราชวงศ์บ้านพลูหลวง ไว้ว่า
เหตุที่ได้ชื่อว่าราชวงศ์สุพรรณภูมิ เป็นเพราะ… “เห็นว่าควรจะนับเปนราชวงษ์สุวรรณภูมิ์ เพราะเปนราชโอรสของพระเจ้ากรุงสุวรรณภูมิ์ ไม่ได้ร่วมวงษ์กับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เปนแต่เขยราชวงษ์สุวรรณภูมิ์”
ส่วนชื่อราชวงศ์สุโขทัยนั้น “ในหนังสือพระราชพงษาวดารนับว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมตั้งราชวงษ์ขึ้นใหม่ แต่สอบได้ความจากจดหมายเหตุฝรั่งในครั้งนั้นว่า อยู่ในราชวงษ์ศุโขทัย มียศเจ้าเปนพระอินทวิไชยหรือพระอินทราชา ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เปนลูกยาเธอของสมเด็จพระเอกาทศรถเกิดด้วยพระสนม”

ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่ได้ชื่อนี้เพราะพระราชพงศาวดารว่าไว้ว่า สมเด็จพระเพทราชาเป็นชาวบ้านพลูหลวง จึงเรียกว่าราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ส่วนอีก 2 ราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์เชียงราย ซึ่งเป็นปฐมวงศ์ของอยุธยา กำพล จำปาพันธ์ นักประวัติศาสตร์ อธิบายว่า เพราะเชื่อตามตำนานจุลยุทธการวงศ์ ที่ระบุว่าพระเจ้าอู่ทองสืบเชื้อสายมาจากเมืองเชียงใหม่
ทั้งยังอธิบายต่อไปว่า…ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “ราชวงศ์อู่ทอง” เพื่อเชื่อมโยงกับพระนามของพระองค์และดินแดนที่เชื่อว่าพระองค์เคยประทับ อย่าง “เมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี” ทั้งยังต้องการสื่อว่าดินแดนนี้เป็นดินแดนทอง ตามที่ตั้งบริเวณสุวรรณภูมิ
สุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือราชวงศ์ปราสาททอง ไม่ได้มีความซับซ้อนมาก เพราะคาดว่ามาจากชื่อของ “พระเจ้าปราสาททอง” กษัตริย์ผู้เถลิงอำนาจของตนเองขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยา
อ่านเพิ่มเติม :
- ชาวฝรั่งเศสแตกตื่น! เห็น “ราชทูตอยุธยา” ลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ
- 417 ปี กรุงศรีอยุธยา “ราชวงศ์สุพรรณภูมิ” ที่ครองอำนาจมากสุด มีกษัตริย์กี่พระองค์?
- “ชาวอิหร่าน” คนแรกในราชสำนักสยาม ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 5. [ม.ป.ท.]:ม.ป.พ., 2460. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:47419.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2567