ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2542 |
---|---|
ผู้เขียน | จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ |
เผยแพร่ |
เมื่อเอ่ยถึง ชาวอิหร่าน คนไทยทั่วไปจะคุ้นเคยกับคำว่า เปอร์เซีย (Persia) มากกว่า แต่อันที่จริงคำว่า ปาร์ซ (Pars) หรือปาร์ซี (Parsi) ซึ่งเป็นคำที่ชาวตะวันตกใช้เรียกชาวอิหร่าน หรือดินแดนของชาวอิหร่าน ในขณะที่คนอิหร่านจะเรียกตัวเองว่า ชาวอิหร่าน หรืออิรานิ (Irani)
ชาวอิหร่าน เป็นชนต่างชาติที่ติดต่อค้าขายกับสยามมาช้านาน ตั้งแต่่ก่อนที่อิหร่านจะรับนับถือศาสนา อิสลาม แต่หลักฐานที่เป็นชิ้นเป็นอันมาปรากฏในสมัยอยุธยาตอนต้น จากการค้นพบเหรียญกษาปณ์มีอักษรฟาร์ซี (Farsi) หรืออักษรภาษาอิหร่าน บรรจุอยู่ในพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ราว พ.ศ. 1967-1991
เมื่อ กรุงศรีอยุธยา เสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2112 ชาวสยามส่วนใหญ่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยยังหงสาวดี กรุงศรีอยุธยา จึงเหลือผู้คนอยู่อาศัยไม่มากนัก ราชสำนักจึงจำเป็นต้องสนับสนุนให้ชาวต่างชาติเข้ามาค้าขาย และตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยามากขึ้น เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้กับท้องพระคลัง ส่งผลให้พ่อค้าและนักเดินทางโพ้นทะเลจากดินแดนต่างๆ รวมทั้งชาวอิหร่านล่องเรือเข้ามาสู่ราชอาณาจักรสยาม
นักเดินทางชาวอิหร่านส่วนใหญ่เป็นพวกที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ (Shi-ah) มุสลิมพวกนี้จะให้ความเคารพนับถือบรรดาลูกหลานของศาสดามะหะหมัดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอิหม่ามฮุเซ็น (Husyn) ซึ่งเป็นหลานชายของศาสดามะหะหมัด ด้วยเหตุนี้ คนไทยจึงมักเรียกชาวอิหร่านกลุ่มนี้ว่าพวก “เจ้าเซ็น” ตามพระนามของอิหม่ามฮุเซ็น และเลยเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน
ชาวอิหร่านที่เข้ามาตั้งรกรากในสยามมิได้เข้ามาค้าขายเท่านั้น แต่ได้นําเอาศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์เข้ามาเผยแพร่ในกรุงศรีอยุธยาด้วย การที่ราชสํานักมีนโยบายเสรีในการเผยแพร่ศาสนา ได้ส่งผลให้สยามกลายเป็นสถานที่พักพิงสําหรับนักเดินทางชาวอิหร่าน จึงไม่น่าแปลกใจที่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ชาวอิหร่านหลายคนได้เข้าไปมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์สยามแล้ว
ชาวอิหร่านคนแรกที่เข้ามารับราชการในราชสํานักสยาม เห็นจะได้แก่ เฉกอะหฺมัด (Sheikh Ahmad) ท่านผู้นี้เป็นพ่อค้าชาวอิหร่าน ซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายในสยามตั้งแต่ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรถึงรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ต่อมาได้เข้ารับราชการอยู่ในราชสํานักของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ตามประวัติกล่าวว่า เฉกอะหฺมัดเป็นเพื่อนสนิทของเจ้าพระยากลาโหมตั้งแต่ยังดํารงตําแหน่งเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยากลาโหมปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ทรงแต่งตั้งให้บุคคลท่านนี้ดํารงตําแหน่ง ออกพระจุลา (ราชมนตรี) เจ้ากรมท่าขวา มีหน้าที่ดูแลการค้าฝั่งตะวันตก (คู่กับออกพระโชดึก เจ้ากรมท่าซ้าย ซึ่งดูแลการค้าฝั่งตะวันออก) และยังเป็นหัวหน้าประชาคมอิหร่านในกรุงศรีอยุธยาด้วย ต่อมาท่านเฉกอะหฺมัดได้รับแต่งตั้งให้เป็นออกญาบวรราชนายก ว่าที่สมุหนายก ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง บุคคลท่านนี้มีความสําคัญมาก เพราะเป็นต้นตระกูลของขุนนางสําคัญในประวัติศาสตร์ไทยหลายตระกูล โดยเฉพาะขุนนางในตระกูลบุนนาค
การที่คนต่างด้าวอย่างเฉกอะหฺมัดได้รับตําแหน่งทางการเมืองระดับสูงเช่นนี้ ออกจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดในความคิดของคนยุคปัจจุบัน แต่ถ้าพิจารณาถึงนโยบายด้านการปกครองของราชวงศ์ปราสาททองแล้ว อาจจะพอเข้าใจได้ว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงยึดอำนาจมาจากกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัย พระองค์ต้องทรงเผชิญกับการต่อต้านของเจ้านายและขุนนางท้องถิ่นจำนวนมาก
เจ้านายและขุนนางเหล่านี้ล้วนมีขุมกำลังอยู่ในมือซึ่งได้แก่พวกไพร่ที่สังกัดหรือขึ้นตรงต่อมูลนาย สมเด็จพระเจ้าปราสาททองต้องทรงใช้กำลังปราบปรามเจ้านายและขุนนางที่กระด้างกระเดื่องเหล่านั้นอยู่เป็นเวลาหลายปีกว่าจะสำเร็จ จึงทรงตระหนักดีถึงภัยจากการที่ขุนนางท้องถิ่นมีไพร่หรือกำลังคนอยู่ในมือ พระองค์จึงทรงดำเนินการลิดรอนอำนาจขุนนางท้องถิ่นลงเรื่อยๆ ทรงสั่งให้ประหารขุนนางไปเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังทรงเปลี่ยนขุนนางที่มียศศักดิ์สูงสุดของประเทศบ่อยๆ จนไม่มีขุนนางคนใดแน่ใจในตำแหน่งหน้าที่ของตน
ขณะที่ทรงดำเนินการลิดรอนอำนาจขุนนางท้องถิ่นอยู่นั้น พระองค์ก็ทรงสนับสนุนกลุ่มขุนนางต่างชาติให้มีบทบาททางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ขุนนางกลุ่มนี้เป็นผู้ที่พระองค์ทรงคัดเลือกพร้อมทั้งพระราชทานยศตำแหน่งให้โดยตรง ทั้งยังเป็นผู้นำของประชาคมต่างชาติ ซึ่งมีกำลังพลอยู่ในสังกัดจำนวนมิใช่น้อย สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงทรงมีกองกำลังต่างชาติไว้เป็นฐานพระราชอำนาจ ผ่านทางความสัมพันธ์ที่ทรงมีกับขุนนางต่างชาติ กองกำลังเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากกว่าไพร่ท้องถิ่น เนื่องจากมีอาวุธที่ทันสมัยทั้งยังสามารถเรียกระดมพลได้รวดเร็วกว่า
จากการที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงมีปัญหาขัดแย้งกัน ยามาดา นากาซามะ (Yamada Nagazama) หรือออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น และต่อมายังทรงมีปัญหาขัดแย้งกับพวกญี่ปุ่นอย่างรุนแรง จนถึงกับต้องทรงส่งกองทหารเข้าปราบปรามประชาคมญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยา ก็ยิ่งทำให้พระองค์ต้องแสวงหาการสนับสนุนจากประชาคมต่างด้าวอื่น ซึ่งก็ได้แก่กำลังจากพระสหายของพระองค์คือ เฉกอะหฺมัด นายวาณิชผู้ร่ำรวยและผู้ควมคุมประชาคมอิหร่านในกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
หลังจากท่านเฉกอะหฺมัดเข้ารับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็นถึงอัครมหาเสนาบดี ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้สนับสนุนให้ชาวอิหร่านเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นประชาคมใหญ่ประชาคมหนึ่งใน กรุงศรีอยุธยา นอกจากชาวอิหร่านแล้วยังมีพวกมุสลิมนิกายชีอะห์จากอินเดียและเอเชียกลาง เดินทางเข้ามาอยู่อาศัยร่วมกับประชาคมนี้ด้วย
มุสลิมเหล่านี้ได้นำวิทยาการความเจริญและศิลปศาสตร์ตามแบบโลกอิสลามเข้ามาสู่ราชสำนักสยาม จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวตะวันตกซึ่งเดินทางเข้ามายังสยามจะเล่าถึงแบบธรรมเนียมต่างๆ ของราชสำนักที่รับอิทธิพลมาจากพวกมุสลิม อย่างเช่น ฉลองพระองค์ของกษัตริย์และขุนนางสยามที่เลียนแบบมาจากเครื่องแต่งกายของพวกมุสลิม ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงเคหสถานและปราสาทราชวังที่ได้รับแบบอย่างมาจากอาคารในสถาปัตยกรรมอินโด-เปอร์เซีย
อ่านเพิ่มเติม :
- “อกามะหะหมัด” อัครมหาเสนาบดีชาวอิหร่าน ในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์
- ราชทูตกษัตริย์สุลัยมานบันทึกว่า ชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ช่วย พระนารายณ์ ยึดบัลลังก์อยุธยา
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2563