ทำไม “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี” พระภรรยาเจ้ารัชกาลที่ 5 ถึงทรงเป็น “สมเด็จรีเยนต์”

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จรีเยนต์
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

เราทราบกันว่า เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2440 ทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี ให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน หรือที่ชาววังเรียกขานกันว่า “สมเด็จรีเยนต์” (The Queen Regent) แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบถึงเหตุผลว่า เหตุใดรัชกาลที่ 5 จึงทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีทรงดำรงตำแหน่งสำคัญยิ่งเช่นนี้

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระภรรยาเจ้า รัชกาลที่ 5 สมเด็จรีเยนต์
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี กับการเป็น “สมเด็จรีเยนต์”

ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เป็นตำแหน่งสำคัญ ด้วยมีอำนาจบริหารกิจการบ้านเมืองไม่ต่างจากพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์เสด็จประพาสยุโรป ด้วยจุดประสงค์ในการเจริญสัมพันธไมตรี พระองค์จึงทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีเหตุผลที่เปิดเผยต่อสาธารณะเพียงประการเดียว คือ เนื่องด้วยทรงเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงเป็นรัชทายาทสืบต่อราชบัลลังก์

อย่างไรก็ดี ดารณี ศรีหทัย ได้นำเสนอข้อสังเกตเพิ่มเติมเรื่องการแต่งตั้งสตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไว้ 2 ประการ

ประการแรก จากอดีตที่มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นขุนนาง ทำให้ต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่ว่า ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินควรเป็นบุคคลที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาการช่วงชิงพระราชอำนาจจากพระมหากษัตริย์ หากเป็นพระมารดาในพระราชโอรสที่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์อยู่แล้ว ก็ไม่มีเหตุจูงใจที่จะต้องการครอบครองอำนาจ

ตรงกันข้าม กลับเป็นผู้ที่เชื่อมโยงระหว่างพระมหากษัตริย์ กับพระราชโอรสที่ทรงดำรงตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร” ดังนั้น การรักษาพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ ย่อมมีประโยชน์มากกว่าอย่างแน่นอน

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จรีเยนต์ พระภรรยาเจ้า รัชกาลที่ 5
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

“ข้อสังเกตนี้ มีข้อสนับสนุนจากการแสดงความเห็นของรัชกาลที่ ๕ ที่บ่งบอกว่าพระองค์ทรงมอบอำนาจการปกครองราชอาณาจักรให้ฝ่ายในทั้งที่ก็มีความคิดว่าผู้หญิงไม่มีศักยภาพในการปกครอง การมอบหมายให้พระอรรคราชเทวีมาเป็นผู้สำเร็จราชการ เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์โดยตรง โดยไม่มีความคิดเห็นเสนอแนะของผู้ใด เงื่อนไขหรือเหตุผลในการเลือกผู้มาทำหน้าที่ของพระมหากษัตริย์จึงน่าจะต้องมีความซับซ้อนบนฐานข้อมูลประสบการณ์ส่วนพระองค์” ดารณีตั้งข้อสังเกต

ประการที่สอง ดารณีเสนอว่า เป็นเรื่องแนวคิด “สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ” ที่หลายประเทศในยุโรปมีพระราชาและพระราชินีเป็นประมุขของราชอาณาจักร ที่สำคัญมาก คือ ประเทศที่มีแสนยานุภาพสูงสุดในยุโรปอย่างอังกฤษ มีผู้ปกครองเป็นสตรี คือ สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย

เพราะฉะนั้น การให้มีสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ขึ้นใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ก็จะเป็นการเน้นความศิวิไลซ์ของสยามได้อีกทางหนึ่งด้วย

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ระหว่างวันที่ 7 เมษายน ถึง 16 ธันวาคม พ.ศ. 2440 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 253 วัน โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และมีคณะที่ปรึกษาผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทูลเกล้าฯ ถวายคำปรึกษาการบริหารราชการแผ่นดิน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2567