“ขุนนางอยุธยา” ทำอย่างไรถึงได้เป็น ขั้นไหนถึงเรียกว่าขุนนาง?

ขุนนางแขก ขุนนางอยุธยา
ขุนนางแขก อยู่ในขบวนพยุหยาตราพระกฐินบกครั้งกรุงศรีอยุธยา (ภาพคัดลอกจากผนังอุโบสถ วัดยม พระนครศรีอยุธยา)

“ขุนนาง” เป็นกลุ่มคนที่สำคัญของราชสำนัก เพราะนอกจากจะคอยรับใช้พระเจ้าแผ่นดินในการทำกิจการบ้านเมืองต่าง ๆ แล้ว เวลามีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ หลายครั้งขุนนางก็เป็นจุดเปลี่ยน แต่ด้วยทุกยุคต่างก็มีขุนนาง ครั้งนี้จึงขอยก “ขุนนางอยุธยา” มาเล่าให้ฟังว่าทำอย่างไรถึงจะได้เป็นและแบบไหนถึงจะเรียกว่าขุนนาง

ขุนนางคือสามัญชน ที่มาจากครอบครัวชั้นสูงหรือชนชั้นต่ำก็ได้ หากจะเรียกว่าเป็นขุนนาง ต้องมีศักดินามากกว่า 400 ขึ้นไป หากต่ำกว่า 400 จะไม่จัดว่ามีตำแหน่งนี้ (ยกเว้นผู้ที่รับราชการในกรมมหาดเล็ก แม้ศักดินาจะต่ำกว่า 400 ก็ยังเป็นขุนนาง เนื่องจากตำแหน่งนี้มักได้รับคัดเลือกจากพระมหากษัตริย์โดยตรง)

ฐานะความเป็นขุนนางจึงขึ้นอยู่กับกษัตริย์ที่ทรงยกบุคคลนั้นขึ้นมาเป็นสำคัญ ด้วยการพระราชทานบรรดาศักดิ์ ราชทินนาม ตำแหน่ง และศักดินา ให้

4 อย่างนี้ของขุนนางสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย แล้วแต่ว่าเป็นรัชสมัยของใคร

วิธีการเข้ามาเป็นขุนนางอยุธยา

ขุนนางแขก ขบวนพยุหยาตราพระกฐินบก กรุงศรีอยุธยา
ขุนนางแขก อยู่ในขบวนพยุหยาตราพระกฐินบกครั้งกรุงศรีอยุธยา (ภาพคัดลอกจากผนังอุโบสถ วัดยม พระนครศรีอยุธยา)

การจะเข้ามาเป็นขุนนางในสมัยอยุธยา เกิดได้ 2 วิธีหลัก ๆ 

ระยะแรก คือ เมื่อตอนเป็นเด็ก บิดาจะนำลูกหลานของตนเองมาเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก รวมถึงถวายตัวกับเจ้านายพระราชวงศ์อื่น ๆ 

ระยะที่ 2 คือ เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นขุนนางได้ โดยขุนนางผู้ใหญ่จะพิจารณา เมื่อถึงเวลาก็จะพาตัวไปเข้าเฝ้าถวายตัวเพื่อให้พระมหากษัตริย์พิจารณาอีกทีหนึ่ง หากเหมาะสมก็จะส่งไปประจำกรมกองต่าง ๆ ที่บรรดาครอบครัวหรือญาติพี่น้องประจำอยู่เดิมแล้ว

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ระบุถึงคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นขุนนางไว้ว่าต้องมีวุฒิ 4 ประการ ด้วยกัน ได้แก่…

1. ชาติวุฒิ คือ ตระกูลเป็นมหาเสนาบดีสืบต่อกันมา 

2. วัยวุฒิ คือ ต้องมีอายุ 31 ปีขึ้นไป 

3. คุณวุฒิและปัญญาวุฒิ 

4. ฉันทาธิบดี (ถวายสิ่งที่ต้องประสงค์), วิรยาธิบดี (ความเพียรในราชการ), จิตาธิบดี (กล้าหาญในสงคราม) และวิมังสาธิบดี (ฉลาดในการดำเนินการพิพากษาความและอุบายในราชการต่าง ๆ)

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สิ่งตายตัว ขุนนางบางคนในราชสำนักหรือกอง ไม่จำเป็นต้องเป็นบุตรขุนนางเดิม หรือบางครั้งก็เลือกคนที่ดีมีความสามารถ รวมถึงชาวต่างชาติก็เป็นขุนนางได้ แต่ส่วนใหญ่ ครอบครัวเดียวกันมักทำงานในกรมกองเดียวกัน เพราะคนในครอบครัวมักเชื่อใจ สอนงานให้ลูกหลานของตนเองมากกว่าผู้อื่น ทั้งยังต้องคงอำนาจของตระกูลไว้

เมื่อได้เข้าเป็นขุนนางแล้ว อย่างที่บอกไปว่าแต่ละคนจะต้องมี ยศหรือบรรดาศักดิ์ ราชทินนาม ตำแหน่ง และศักดินา ซึ่งแตกต่างกันไป

ท่าน้ำของวัดแห่งหนึ่งในอยุธยา ภาพวาดลายเส้นจากรูปถ่ายโดยเธรงค์

ยศหรือบรรดาศักดิ์ และ ราชทินนาม เป็นสิ่งที่กษัตริย์พระราชทานให้ครั้งเดียว มักเป็นภาษามคธหรือสันสกฤตล้วน หรือผสมกับภาษาไทยสั้น ๆ ซึ่งบ่งบอกถึงหน้าที่ของขุนนางคนนั้น ๆ เช่น เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ คือยศและราชทินนามประจำตำแหน่งสมุหนายก

ส่วนตำแหน่ง ก็จะเป็นระดับอำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบ สอดคล้องกับบรรดาศักดิ์และราชทินนาม 

สุดท้ายคือ ศักดินา เป็นเครื่องกำหนดความสูงต่ำของยศศักดิ์ขุนนางได้ชัดเจน เพราะในสมัยอยุธยา ทุกคนยกเว้นพระเจ้าแผ่นดินจะถูกกำหนดให้มีจำนวนศักดินาประจำตัว อย่างขุนนางจะมีศักดินาสูงสุดได้ถึง 10,000 ต่ำสุดคือ 400 ยิ่งศักดินาสูงก็ยิ่งสำคัญ แม้จะมีตำแหน่งหรือบรรดาศักดิ์เท่ากัน ก็จะวัดกันที่ศักดินา

ทว่า บรรดาศักดิ์ ราชทินนาม ตำแหน่ง รวมถึงศักดินาเหล่านี้ ก็ไม่ใช่สิ่งถาวร อาจหมดไปหากขุนนางคนนั้นถูกกษัตริย์ถอดถอนหรือลาออกจากตำแหน่ง และความสูงศักดิ์เหล่านี้จะมีระยะเวลาเฉพาะตอนที่ขุนนางอยู่ในตำแหน่งเท่านั้น (สมัยอยุธยาอยู่ในตำแหน่งได้จนตาย) รวมถึงไม่สืบทอดผ่านวงศ์ตระกูล

ยกเว้นบางคนที่ลาออก อาจจะเหลือศักดินา 1 ส่วน 3 จากเดิม หรือบางคนมีความชอบ ก็ได้รับพระราชานุญาตจากกษัตริย์ไทยให้คงบรรดาศักดิ์ไว้ได้ แม้จะลาออกจากตำแหน่งแล้วก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มานพ ถาวรวัฒน์สกุล, 2502. ขุนนางอยุธยา. [ม.ป.ท.]:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2536. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:26505.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2567