ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบันข้าราชการไทยมีการสวมชุดเป็นแบบแผน เช่นเดียวกับในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ “ขุนนางในราชสำนัก” ก็จะมีสีเสื้อแตกต่างกันไป
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต่างประเทศ พระองค์ก็ได้ทอดพระเนตรความทันสมัยและความเจริญก้าวหน้าของนานาประเทศ จึงทรงนำกลับมาปรับใช้กับสยาม หนึ่งในนั้นคือ การแต่งตัวแบบใหม่
การแต่งตัวและขุนนางในราชสำนัก
เมื่อ พ.ศ. 2415 เกิดชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 5 อย่าง “ราชปะแตน” จน พ.ศ. 2416 สตรีในรั้ววังเริ่มนิยมสวมใส่เสื้อแบบแขนหมูแฮม ทั้งยังมีการใส่เสื้อตามวันต่าง ๆ อย่างเป็นสากลมากขึ้น
อย่างในวรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ก็ยังปรากฏเหตุการณ์ที่แม่สอนการแต่งกายสีประจำวันให้กับพลอยว่า…
“…พลอยดูให้ดีนะแม่จะจัดผ้านุ่งผ้าห่มสีประจำวันให้ดู อยู่ในวังโตขึ้นจะได้แต่งตัวถูก…วันอังคารนุ่งสีปูนหรือม่วงเม็ดมะปรางแล้วห่มโศก หรือถ้านุ่งโศกหรือเขียวอ่อนต้องห่มม่วงอ่อน วันพุธนุ่งสีถั่วก็ได้ สีเหล็กก็ได้แล้วห่มจำปา วันพฤหัสนุ่งเขียวใบไม้ ห่มแดงเลือดนกหรือนุ่งแสดห่มเขียวอ่อน… จำไว้นะพลอย อย่าไปแต่งตัวเร่อร่าเป็นคนบ้านนอก เดี๋ยวเขาจะหาว่าแม่เป็นชาววังแล้วไม่สอน…”
ทว่าการกำหนดสีชุดสำหรับคนในรั้ววังไม่ได้กำเนิดขึ้นในช่วงนี้เท่านั้น เพราะช่วงต้นรัชกาลที่ 5 คือราว พ.ศ. 2412 ก็ปรากฏการกำหนดสีเสื้อที่ใช้ในราชสำนัก ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามฝ่ายที่อยู่ ดังนี้…
1. เหล่าเจ้านายจะได้ใส่ “สีไพล” มาจากต้นไม้เหง้าไพล หรือที่เรียกว่าเยลโล่กรีน (เหลืองอมเขียว)
2. ขุนนางฝ่ายกลาโหม ใช้สีลูกหว้า (สีออกม่วง ๆ)
3. ขุนนางฝ่ายมหาดไทย ใช้สีเขียวแก่
4. ขุนนางกรมท่า ใส่สีน้ำเงินแก่ ซึ่งต่อมาคนไทยเรียกสีน้ำเงินเข้ม ๆ นี้ว่า สีกรมท่า
ประเสริฐ กาญจนดุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เคยพูดถึงเรื่องนี้ในงานฉลองครบรอบ 100 ปี แห่งวันประสูติสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ณ วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 เกี่ยวกับสีกรมท่าว่า
“…คนในสมัยนั้นนิยมเรียกสีเขียวแก่ว่าสีมหาดไทย ถ้าใครใส่สีลูกหว้าก็จะเรียกผู้นั้นนุ่งผ้าสีกลาโหม และถ้าเป็นสีน้ำเงินแก่ก็จะเรียกว่าใส่สีกรมท่า แต่มาถึงปัจจุบันยังมีที่เรียกกันติดปากก็เฉพาะสีกรมท่าเท่านั้น ส่วนสีมหาดไทย สีกลาโหม สีมหาดเล็ก ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแล้ว…”
5. ทหารมหาดเล็ก ใช้สีเหล็ก
นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อมูลว่าอาลักษณ์กับโหรต้องสวมสีขาว ส่วนพลเรือนที่มาเข้าเฝ้ายังต้องมีเครื่องแบบเพื่อเข้าเฝ้าอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- “มหาดไทย” สู่ “รองทรง” เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มปฏิรูปการแต่งกายจากทรงผม
- ประวัติ “เครื่องแต่งกาย ” เปลือยอกถึงเสื้อลูกไม้ และที่มาสมัย ร.3 “สวมเสื้อเข้ามาก็ไม่โปรด”
- เล่าเรื่องเจ้านายกับชุดไทย ชุดแต่ละสมัยรับอิทธิพลมาจากไหนบ้าง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2567