ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระสุพรรรณกัลยา” ขัตติยนารีแห่งกรุงศรีอยุธยาอีกพระองค์ที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ทั้งในฐานะพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาผู้เสด็จไปเป็นองค์ประกันหงสาวดีในราชสำนักของ “พระเจ้าสิบทิศ” บุเรงนอง และ “พระพี่นาง” ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งพงศาวดารพม่าเรียกพระองค์ว่า “อะเมี้ยวโยง พระพี่นางพระนริศกษัตริย์อโยธยา”
ทั้งนี้ ไม่ปรากฏพระนาม “อะเมี้ยวโยง” ในพงศาวดารไทย จึงเชื่อได้ว่าพระนามข้างต้นใช้กันแค่ในหลักฐานพม่า แล้วพระนามดังกล่าวมาจากไหน หมายถึงอะไร?
พงศาวดารพม่าที่ระบุพระนามข้างต้นของพระสุพรรณกัลยาคือ มหายาสะเวงเต๊ะ ของ มหาสีตู (Mahasithu) ซึ่งมีการนำชื่อของพระนางรวมไว้กับเหล่ารายชื่อมเหสีน้อย บาทบริจาริกา หรือ “โกโละดอ” (Koulouto) ในพระเจ้าบุเรงนองที่ได้ประสูติพระโอรสและพระธิดา โกโละดอเหล่านี้มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 42 พระองค์
ความในพงศาวดารของมหาสีตูระบุว่า “อะเมี้ยวโยง พระพี่นางในพระนริศกษัตริย์อโยธยา (อยุธยา) ประสูติพระราชธิดานามเมงอทเวหนึ่ง”
ทำให้เชื่อได้ว่า คำว่า อะเมี้ยวโยง กับ เมงอทเว เป็นชื่อระบุตัวบุคคลแน่ โดยคำแรกเป็นพระนามของพระพี่นางในสมเด็จพระนเรศวร คำต่อมาคือพระนามของพระราชธิดาของพระนางอันเกิดจากพระเจ้าบุเรงนอง
“อะเมี้ยวโยง” ไม่ใช่คำไทยที่พม่าเรียกเพี้ยนจนกลายเป็นคำสำเนียงพม่าแน่นอน เพราะเกิดจากคำในภาษาพม่า 2 คำมาประกอบกัน คือ อะเมี้ยว (Amyo) มีความหมายว่า เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือสายตระกูล สันตติวงศ์ กับคำว่า โยง (Yon) ซึ่งในเอกสารเก่าอย่างอโยธยา ยาสะเวง หรือยาสะเวงอื่น ๆ (ยาสะเวง เทียบได้กับหลักฐานจำพวกพงศาวดาร) จะมีความหมายว่า เชื่อมั่น หรือไว้วางใจ
คำว่า โยง นี้ บางครั้งสะกดว่า โยงเจ (Yonge) มีความหมายว่า เชื่อหมดใจ หรือไว้เนื้อเชื่อใจโดยแท้
ดังนั้น อะเมี้ยวโยงจึงมีความหมายว่า ผู้เชื่อมั่นในเผ่าพันธุ์หรือเชื่อมั่นในชาติวงศ์แห่งตน
ปกติแล้วชื่อนี้ไม่น่าจะเป็นชื่อที่บุพการีเป็นผู้ตั้งให้ และไม่น่าเป็นแม้แต่บรรดาศักดิ์ หากแต่เป็น “ฉายา” ที่พม่าตั้งให้พระสุพรรณกัลยา เพื่อให้สอดคล้องกับพระอุปนิสัย ซึ่งเราอนุมานได้ว่า พระนางเชื่อมั่นในเผ่าพันธุ์ (สยาม) หรือเชื่อมั่นในชาติวงศ์ (วงศ์สุโขทัย) ของตนอย่างยิ่ง
ส่วนพระนาม “เมงงอทเว” เป็นคำภาษาพม่าเช่นกัน มีความหมายว่า คนสุดท้องหรือคนเล็กสุด
เมื่อถอดความหมายชื่อทั้งหมดอีกครั้งจึงหมายความว่า “พระนางผู้เชื่อมั่นในเผ่าพันธุ์แห่งตน ผู้เป็นพระพี่นางในพระนริศกษัตริย์อยุธยา ประสูติพระราชธิดานามพระนางน้อยสุดท้องหนึ่ง”
อ่านเพิ่มเติม :
- ความเสื่อมของอาณาจักรบุเรงนอง ในบันทึกนักวิชาการพม่า
- ค้นหลักฐานชะตากรรมพระสุพรรณกัลยา “ขัตติยนารี” แห่งอยุธยา และเหตุสิ้นพระชนม์
- “กูไม่กลัว” สาส์นจากพระมหาจักรพรรดิถึงพระเจ้าบุเรงนอง สงครามการทูตหงสาวดี-อยุธยา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดร. สุเนตร ชุติธรานนท์. (2550). พระสุพรรณกัลยา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567