เล่าต่างกัน! ความจริงในศึกคราวเสีย “สมเด็จพระสุริโยทัย” ใครสิ้นพระชนม์กันแน่?

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง (ภาพโดย ธนกฤต ก้องเวหา)

ช่วงนี้ถ้าใครเป็นสายนางงาม คงจะเห็นชุดประจำชาติของประเทศไทย สวมใส่โดย “โอปอล สุชาตา” ในเวทีสาวงามระดับโลกอย่าง “Miss Universe 2024” ซึ่งชุดที่นางงามไทยสวมใส่ ชื่อว่า “Siam Manustree” สื่อถึงวีรสตรีสยามและยกย่องถึงความกล้าหาญของสมเด็จพระสุริโยทัยในสงคราม เพื่อปกป้องพระราชสวามี และปกปักษ์รักษาแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา

โอปอล สุชาตา ช่วงศรี มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2024 ในชุดประจำชาติ “สยามมานุสตรี”
โอปอล สุชาตา ช่วงศรี มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2024 ในชุดประจำชาติ “สยามมานุสตรี”

บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทบทวนเรื่องราวพระราชวีรกรรมอันห้าวหาญของพระองค์ว่า มีการเล่าผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นต่าง ๆ ไว้อย่างไรบ้าง

สงคราม พ.ศ. 2091 คราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัย

เรื่องราวคราวสงครามอยุธยา-หงสาวดี พ.ศ. 2091 ซึ่งเป็นสงครามที่เสียสมเด็จพระสุริโยทัยนั้น เกิดขึ้นหลัง “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” ซึ่งเป็นพระราชสวามี เสวยราชย์ได้ 7 เดือน “พระเจ้าหงสาวดีตเบ็งชเวตี้” ยกทัพลงมาทางเมืองกาญจนบุรีเก่า ตั้งทัพอยู่ริมเขาชนไก่ พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาแต่งกองทัพออกไปต่อสู้ ปะทะกันที่แขวงเมืองสุพรรณบุรี กองทัพอยุธยาต้านทานกองทัพพระเจ้าหงสาวดีไม่ได้ จึงถอยกลับมาตั้งรับที่พระนคร

หลังจากนั้น พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพเข้ามาตั้งล้อมพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงเสด็จยกกองทัพออกไปตรวจกำลังศึก พร้อมพระสุริโยทัยพระอัครมเหสี และสมเด็จพระราชโอรส พระราชธิดา ได้รบพุ่งกับพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นกองทัพหน้าของพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที พระสุริโยทัยเข้ามาช่วยแก้ ต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต

สมเด็จพระสุริโยทัย ชนช้าง พระเจ้าแปร สิ้นพระชนม์ บน คอช้าง
พระสุริโยทัยชนช้างกับพระเจ้าแปร และสิ้นพระชนม์บนคอช้าง (ภาพจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ฝีพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)

สำหรับเหตุการณ์โดยละเอียด หลักฐานแต่ละชิ้นเล่าต่างกันอยู่บ้าง เริ่มจาก พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งเล่าไว้อย่างพิสดาร ดังนี้

“สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึก ดังนั้น ก็ชับพระคชธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยทัยเห็นพระราชสวามีเสียทีไม่พ้นข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับ

พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสาพระสุริโยทัยขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราชก็ขับพระคชาธารถบันจะเข้าแก้พระราชมาดราไม่ทันที

พอพระชนนีสิ้นพระชนม์กับคอช้างพระที่นั่งทั้งสองพระองค์ถอยรอรับข้าศึกกันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้”

ด้าน พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เล่าว่า “พญาหงศาปังเสวกิยกพลมายังพระนครศรีอยุธยาในเดิอน ๔ นั้น เมื่อสมเดจพระมหาจักรพรรดิเจ้าเสดจออกไปรบศึกหงษานั้น สมเดจพระอรรคมเหษี สมเดจพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี เสดจทรงช้างออกไปโดยเสดจด้วย

แลเมิ่อได้รบศึกหงษานั้น ทับหน้าแตกมาปะทับหลวงเปนโกลาหลใหญ่ แลสมเดจพระอรรคมเหษี แลสมเดจพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้นได้รบด้วยข้าศึกถึงสิ้นพระชนมกับคอช้างนั้น”

แต่ หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า เล่าต่างออกไปว่า เมื่อพม่ายกมาประชิดพระนคร เพื่อไม่ให้เสียไพร่พลทั้งสองฝ่าย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้รับคำท้าประลองกันเฉพาะพระองค์ในการทำยุทธหัตถี ครั้นถึงวันประลอง พระเจ้าแผ่นดินอยุธยากลับประชวรออกรบไม่ได้

“ฝ่ายพระมหาเทวีผู้เป็นพระอัครมเหสีพระมหาจักรพรรดิ จึงให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งปวงทรงปรึกษากันว่า บัดนี้ถึงวันสัญญาที่จะทำยุทธหัตถีแล้ว พระราชสวามีของเราก็ทรงพระประชวรมาก พระราชโอรสก็ยังทรงพระเยาว์นัก จะหาใครออกทำยุทธหัตถี ต่อสู้กับข้าศึกแทน…จะต้องยอมเสียพระราชสมบัติให้แก่ข้าศึกตามสัญญา…

พระบรมดิลกซึ่งเป็นพระราชธิดา มีพระชันษาได้ ๑๖ ปี จึงกราบทูลว่า…ไม่มีใครที่ออกสู้ด้วยข้าศึกแล้วกระหม่อมฉันจะขอรับอาสาออกไปชนช้างกับพระเจ้าหงสาวดี ฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชบิดา…

พระมหาเทวีจะห้ามอย่างไร พระบรมดิลกก็ไม่ทรงเชื่อฟัง ถึงวันนัดทรงแต่งพระองค์เป็นชาย ทรงช้างต้นบรมฉัททันต์ที่กำลังตกมันออกไป

…ครั้งกองทัพมาถึงพร้อมกันทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว ก็ยกธงขึ้นเป็นสัญญา แล้วต่างก็เข้าทำยุทธหัตถีชนช้างกัน พระบรมดิลกเป็นสตรีไม่ชำนาญการขับขี่พระคชาธาร ก็เสียทีแก่พระเจ้าหงสาวดี ช้างต้นบรมฉัททันต์เบนท้ายให้ท่าแก่พระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระแสงง้าวฟันถูกพระบรมดิลกตกจากช้างทรง พระบรมดิลกร้องได้คำเดียวก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าหงสาวดีได้ทรงฟังเสียง จึงทราบชัดว่าเป็นสตรีปลอมออกมาทำยุทธหัตถีกับพระองค์ก็เสียพระทัย ทั้งละอายแก่ไพร่พลทั้งปวง…”

จะเห็นว่าเอกสารทั้ง 3 เล่าแตกต่างกัน ฉบับแรกเล่าถึงการเสียสมเด็จพระสุริโยทัย ฉบับที่สองระบุว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิสูญเสียทั้งพระมเหสีและพระราชบุตรี ส่วนฉบับท้ายสุด พระมหาเทวี (พระสุริโยทัย) ยังมีพระชนม์อยู่ ส่วนคนที่สิ้นพระชนม์คือ “พระบรมดิลก” พระราชบุตรี

ทั้งนี้ จากเหตุผลหลาย ๆ อย่างและการวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน นักประวัติศาสตร์ค่อนข้างเชื่อถือหลักฐานฉบับที่สองมากที่สุด แม้จะไม่ได้บรรยายไว้อย่างละเอียด นั่นคือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2544). พระสุริโยทัย เป็นใคร? มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2567