“บิณฑบาตเวร” กษัตริย์ไทยต้นรัตนโกสินทร์ ทรงนิมนต์วัดใดเข้ามารับบิณฑบาตในแต่ละวัน

พระอุโบสถวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) หนึ่งในวัด ที่ อยู่ใน บิณฑบาตเวร
พระอุโบสถวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจาก ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, 2544)

“การทำบุญ-ตักบาตร” ถือเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับราชสำนักสยามมานาน โดยสมัยรัชกาลที่ 1 จะทรงบาตรเมื่อเวลา 7 นาฬิกา และนิมนต์เพียงพระสงฆ์จากวัดระฆังผลัดกันกับวัดพระเชตุพน ทว่าเมื่อวันเวลาผ่านไปถึงรัชกาลที่ 5 ก็ได้เปลี่ยนเวลาทรงบาตรเป็น 9 นาฬิกา และเพิ่มจำนวนวัดที่ให้นิมนต์พระสงฆ์เข้ามารับบิณฑบาตมากขึ้น จนครบวันตามสัปดาห์ รวมถึงมีวัดสมทบ เรียกว่า “บิณฑบาตเวร”

พระอุโบสถวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจาก ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, 2544)

“บิณฑบาตเวร” 7 วัน ดังนี้

วันอาทิตย์ วัดมหาธาตุเป็นต้นเวร วัดดุสิตาราม สมทบ

Advertisement

วันจันทร์ วัดราชบูรณะเป็นต้นเวร วัดจักรวรรดิ วัดบพิตรพิมุข สมทบ

วันอังคาร วัดระฆังเป็นต้นเวร วัดอมรินทร วัดรังษี วัดพระยาธรรม สมทบ

วันพุธ วัดพระเชตุพนเป็นต้นเวร วัดสังเวช วัดสามพระยา วัดนากกลาง วัดชิโนรส วัดศรีสุดาราม สมทบ

วันพฤหัสบดี วัดบวรนิเวศเป็นต้นเวร วัดธรรมยุติอื่น ๆ สมทบ

วันศุกร์ วัดสุทัศน์เป็นต้นเวร วัดสระเกศ สมทบ

วันเสาร์ วัดอรุณเป็นต้นเวร วัดโมฬีโลก วัดหงส์ วัดราชสิทธิ์ สมทบ

ซุ้มประตูวัดอรุณฯ

จำนวนสงฆ์ที่เข้ามารับบิณฑบาตนั้น จะมีวันละ 100 รูป หากเป็นวันนักขัตฤกษ์จะมี 150 รูป โดยสามเณรพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้ากับทั้งสามเณรเปรียบก็ได้เข้ารับบิณฑบาตเวรด้วยเช่นกัน 

เริ่มต้นบิณฑบาต…ทั้งหมดเดินเข้าทางประตูดุสิตศาสดา (ประตูฉนวนวัดพระแก้ว) เมื่อรับบิณฑบาตแล้ว ภิกษุสามเณรที่เป็นพระองค์เจ้าจะกลับออกประตูสนามราชกิจ (ประตูยามค่ำ) หากเป็นหม่อมเจ้ากลับประตูอุดมสุดารักษ์ (ประตูฉนวน) และบุคคลอื่นนอกจากนี้ออกประตูอนงคลีลา (ประตูดิน)

สะท้อนให้เห็นความสำคัญของพุทธศาสนาที่อยู่กับคู่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมาเนิ่นนาน

 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567