ร.6 ทรงบันทึก ทอดพระเนตรปาฏิหาริย์ “พระปฐมเจดีย์” สว่างโพลงทั้งองค์

พระปฐมเจดีย์ นครปฐม
ภาพมุมสูงพระปฐมเจดีย์ในปัจจุบัน (ภาพจาก โดรนมติชนทีวี)

กว่า 60 ชีวิตเห็นปาฏิหาริย์ “พระปฐมเจดีย์” ที่ นครปฐม สว่างโพลงทั้งองค์ รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกและจดหมายกราบทูล ซึ่งรัชกาลที่ 5 ก็ทรงตอบว่าเคยทอดพระเนตร 2 ครั้งเช่นกัน

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ 6) ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทร์ศก 128 เล่มที่ 2 แต่วันที่ 19 สิงหาคม ถึง 8 กุมภาพันธ์ว่า

“เห็นอัศจรรย์ที่พระปฐมเจดีย์ วันอาทิตย์ที่ 24 – คืนวันนี้ได้แลเห็นสิ่งมหัศจรรย์บังเกิดขึ้นที่องค์พระปฐมเจดีย์ ในคืนวันนี้ เมื่อกินเฃ้าแล้ว เพราะเปนวันอาทิตย์ จึ่งนัดกันประชุมเล่นชิงนางกันที่โรงโขนเปนอย่างพร้อมเพรียงกันดีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ครั้นเวลา 2 ยาม 55 นาที นายวรการมาชวนให้ไปดูพระปฐมเจดีย์ จึ่งได้แลเห็นว่า

องค์พระเจดีย์มีเปนแสงสว่างโพลงไปทั้งองค์ เหมือนตามไฟ แต่สีเปนสีคล้ายหิ่งห้อย ผู้ที่อยู่ด้วยกันในที่นั้นได้แลเห็นด้วยกันทุกคน ครั้นเอากล้องส่องก็ยิ่งแลเห็นถนัดขึ้น มีประดุจเปลวต่อจากยอดขึ้นไปอีกทีหนึ่ง  เมื่อก่อนที่จะเห็นรัศมีนี้ ฝนได้ตก แต่ขณะที่แลเห็นนั้นฝนหายแล้ว และเวลานั้นเดือนจวนตก

ถ้าแม้จะลองอธิบายไปตามวิชาอย่างใหม่ ก็คงจะมีได้แต่ว่าองค์พระปฐมนั้นเปียกฝนอยู่ พอแสงเดือนทอพอเหมาะจึ่งทำให้เห็นเปนรัศมีโพลงไปเช่นนั้น แต่ทางด้านตะวันตก ซึ่งเปนด้านที่เห็นได้จากสนามจันท์นี้ ยังหาได้ประดับกระเบื้องไม่ และปูนก็เก่าจนดำ เพราะฉะนั้นไม่น่าจะทำให้แสงเดือนจับเปนเงาขึ้นเช่นนั้นได้

ดูกันอยู่เปนนาน จนเวลา 7 ทุ่ม 12 นาที รัศมีตอนบนคือตั้งแต่ยอดมงกุฎจนหมดปล้องฉนัยจึ่งวูบหายไป ต่อนั้นมาอิกประมาณกึ่งนาที ตอนที่คอระฆังจึ่งหายไป ได้สังเกตดูแสงเดือนยังสว่างดีไม่มีเมฆบังเลย บรรดาผู้ที่ดูอยู่ที่นั้นต่างพากันร้องว่าขนลุกขนพอง ใจคอชอบกลเหลือที่จะอธิบายได้

พอเราชักชวนให้นั่งไหว้และสวดอิติปิโส จึ่งไหว้และสวดอย่างพร้อมเพรียงกัน และเชื่อว่าในใจรู้สึกคลายกันทั้งนั้น คือว่าได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์อันหนึ่ง ซึ่งจะไม่ลืมได้อิกเลยและนับว่าเปนบุญจริงๆ ที่ได้เห็น นึกเวทนาผู้ที่มาด้วยแต่ไปนอนเสียก่อนจึ่งมิได้แลเห็น ได้ลงพร้อมกันว่าควรมีการฉลอง จึ่งได้สั่งให้เตรียมการฉลองพรุ่งนี้กับมรืนนี้รวมเปน 2 วัน พอเปนเครื่องเฉลิมศรัทธา”

พระปฐมเจดีย์ในอดีต (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

วันจันทร์ที่ 25 รัชกาลที่ 6 ทรงจดรายนามผู้ที่ได้เห็นมหัศจรรย์เมื่อคืนนี้ ทั้งหมด 68 คน อาทิ พระองค์เอง, นายวรการบัญชา (เทียบ), หม่อมหลวงเฟื้อ หม่อมหลวงฟื้น บุตรพระยาประสิทธิศุภการ (ม.ร.ว.ลม้าย),หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ (นกยูง), หม่อมเจ้าชัชวลิต ในกรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์, หลวงพิทักษ์มานพ (น้อย), หม่อมเจ้าแววจักร ในกรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ, นายเดชน์ บุตรนายสิน เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีคนที่อยู่ในเมือง เช่น คนจีนที่ทำงานที่ศาลารัฐบาล ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก, คนที่ตลาดบางคนซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ ก็เห็นปาฏิหาริย์พระปฐมเจดีย์เช่นกัน

ซึ่งต่างก็ถามกันว่า “เปนเพราะอะไรกันแน่”

ถ้าคิดว่าเป็นเพราะแสงจันทร์ทอแสงก็ควรจะเห็นเพียงด้านเดียว หรือหากคิดว่ามีแร่ฟอสฟอรัสทำให้เรืองแสงขึ้นได้ ฟอสฟอรัสก็ต้องถูกแดดเผาอย่างน้อยตลอดวันก่อน จึงจะมีเรืองแสง แต่วันที่ 24 ตุลาคม (เป็นวัน 10 ค่ำ เดือน 10  ปีระกา เอกศก จุลศักราช 1271) ฝนตกตลอดวัน และก่อนหน้านั้นก็ตกอยู่ 3 วัน 3 คืน ประเด็นว่าเป็นเพราะฟอสฟอรัสจึงไม่น่าจะเป็นไปได้

การอธิบายเรื่องนี้จึงดูเหมือนสุดวิสัย และเคยเกิดมาก่อนหน้านี้แล้ว คือในรัชกาลที่ 4 ครั้งหนึ่ง จากนั้นมาก็มีการพูดกันว่า “ได้เห็นของประหลาดที่พระปฐมเจดีย์อยู่เปนรายๆ แต่ไม่ปรากฏแจ่มแจ้ง และไม่ได้เห็นพร้อมๆ กันมากเท่าคราวนี้ จึ่งเปนที่น่าปลื้มอยู่บ้างที่ได้เห็นเปนขวัญตา”

ส่วนการทำบุญที่ทรงมีพระราชดำรัสนั้น ในวันที่ 25 มีการสวดมนต์ฉลองพระปฐมเจดีย์และเดินเทียน เวลาพลบค่ำ และวันที่ 26 มีการทำบุญเลี้ยงพระเพล โดยมีข้าราชการและประชาชนมาร่วมด้วย ตอนค่ำมีละคร

วันที่ 27 ตุลาคม รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ ทรงเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงบันทึกว่า

“เวลาค่ำเฃ้าไปเฝ้าที่อัฒนจันทร์น่าพระที่นั่งอภิเศก รับสั่งถึงเรื่องพระปฐมเจดีย์ปาฏิหาร ว่าตามที่เราได้เห็นและมีจดหมายกราบบังคมทูลมานั้น เหมือนที่ได้ทอดพระเนตรเห็นเองไม่มีผิด รับสั่งว่า แสงสว่างนั้น ผู้ที่ฟังแต่เล่ามิได้เห็นเอง จะนึกไม่ได้เลยว่าสว่างเพียงไร คงคเนผิดฃ้างน้อยไปทั้งนั้น การที่เปนเช่นนนั้น จะเปนด้วยเหตุใดก็เหลืออธิบาย ทรงทราบว่าสว่างขึ้นได้เช่นนั้นเท่านั้นเปนเคราที่ทูลกระหม่อมก็ได้เคยทอดพระเนตร์เห็น ถ้ามิฉนั้นเราเล่าจะไม่สู้มีคนเชื่อนัก..”

ต่อมาในวันที่ 28  ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชหัตถเลขาตอบเรื่องพระปฐมเจดีย์ปาฏิหาริย์ว่า

เรื่องพระปฐมเจดีย์กระทำปาฏิหารตามลักษณที่เล่ามานี้ ช่างไม่มีผิดกับที่เคยเห็น 2 คราวแต่สักนิดหนึ่งเลย เวลาที่ได้เห็นนั้น คนมากยิ่งกว่าที่นับมา เวลาเพียงยามเดียว กําลังเสด็จออกคนเฝ้าแน่น ๆ อยู่ ก็ได้เปนเช่นนี้ เห็นปรากฏด้วยกันหมด จึงได้มีเรื่องตรวจตรา ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ พ่อเฃ้าใจชัดเจนลักษณที่เล่านั้นเปนอย่างไร และเชื่อว่าได้เปนเช่นนั้นจริงเพราะเคยเห็น แต่จะเปนด้วยอันใดเหลือที่จะยืนยันฤารับรองให้คนอื่นเห็นจริงด้วยได้ จึงไม่ได้เล่าให้ใครฟังในชั้นหลังๆ นี้ เพราะห่างจากเวลาที่ได้เห็นนั้นมาก เฃ้าใจว่าการเปนเช่นนี้จได้เปนอยู่เนืองๆ แต่หากคนที่นั่นตกค่ำลงก็เข้านอนเสียไม่ได้สังเกต แปลกอยู่หน่อยหนึ่งแต่ที่เวลาเปนมักจะเปนเดือน 11 เดือน 12 เดือนญี่ แวลาเดินบกมาที่นั้นฤาเสด็จ”

เรื่องปาฏิหาริย์ “พระปฐมเจดีย์” นครปฐม ก็มีดังนี้

พระปฐมเจดีย์ยามค่ำคืนในปัจจุบัน (ภาพจากคุณ Parnbua Boonparn)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส 1 สิงหาคม 2517


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2561