ส่องต่างชาติมองแนวคิดเรื่อง “การทำบุญ” และ “ชีวิตที่ดี” ของคนไทยในอดีต

ภาพ ชาวบ้าน จิตรกรรม วัดเขียน จังหวัดอ่างทอง เฉ่ง
ภาพประกอบเนื้อหา ภาพชาวบ้านสามัญชนขณะเดินทางค้าขายหรือค้าเร่ มีโจรผู้ร้ายฉุดคร่าชิงทรัพย์และข่มขืนด้วย, จิตรกรรม วัดเขียน จังหวัดอ่างทอง (จากหนังสือ มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex)

หลักแนวคิดเชิงศาสนาที่มีความสำคัญและคนไทยยึดถือปฏิบัติกันมาช้านาน มีเรื่องการทำบุญรวมอยู่ด้วย เคยมีนักวิชาการต่างชาติศึกษารวบรวมมุมมองของคนไทยในอดีตต่อ “การทำบุญ” และ “การมีชีวิตที่ดี” ไว้อย่างน่าสนใจ และน่าคิดทบทวนดู แม้ว่าหลายคนอาจมีมุมมองต่อข้อมูลเหล่านี้ว่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหนแตกต่างกันออกไป

หนังสือ Thai Culture and Behavior เขียนโดย รูธ เบเนดิกต์ (Ruth Benedict) ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ ใช้ชื่อหนังสือว่า “วัฒนธรรมและพฤติกรรมของคนไทย” เนื้อหาส่วนหนึ่ง รูธ เบเนดิกต์ กล่าวถึง การทำบุญ ของคนไทยในอดีตไว้ว่า คนไทยต่างให้ความหมายของการทำบุญในอดีตว่า ถ้าหากคนปฎิบัติตามศีลต่างๆ ด้วยความเอาใจใส่ และรักษาศีลให้มั่นคงได้ คนผู้นั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องกังวลใดๆ อีก ทุกสิ่งทุกการกระทำขึ้นอยู่กับตนเอง ทุกคนล้วนยึดหลักตามสุภาษิตที่ว่า

“ใดๆ โลกล้วนอนิจจัง ยกเว้นเพียงความดีและความชั่วเท่านั้นที่จะติดตามไปเหมือนเงาตามตัว”

งานเขียนของรูธ เบเนดิก ยกข้อความหนึ่งในงานเขียนของเคนเน็ธ เพอร์รี่ แลนดอน (Kenneth Perry Landon) ซึ่งศึกษาห้วงเปลี่ยนผ่านของสยาม และเคนเน็ธ เขียนไว้ว่า

“ในบทนำของหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเล่มหนึ่ง พระบาทสมเด็จประปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ค.ศ. 1925-1933) ทรงให้ความเห็นไว้ว่า สาระสำคัญของพุทธศาสนาสำหรับเยาวชนคือการตระหนักถึงหลักสำคัญที่ว่า เยาวชนจะเป็นอะไรนั้นล้วนขึ้นอยู่กับตนเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้อื่นใด ใครที่ทำดีย่อมได้รับผลดีและใครที่ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่วทั้งทั้งในโลกนี้และโลกหน้า นี่คือหลักสำคัญของพระพุทธศาสนาและเป็นหลักพื้นฐานของศีลธรรมความประพฤติ…พระองค์ทรงมิได้มีราชดำรัสใดเกี่ยวข้องกับสวรรค์ นรก หรือนิพพาน”

จากการศึกษาของรูธ เบเนดิกต์ พบว่าการทำบุญในอดีตนั้น จะมาพร้อมกับความสนุกสนาน ในทุกโอกาสจะได้รับความสนุกสนานตอบแทนพร้อมกันไปด้วย หรือได้รับความชื่นชมจากเพื่อนฝูง

คนไทยบางคนยังถือว่า คนเราสามารถได้บุญกุศลจากความอับโชคโดยไม่ตั้งใจของตนด้วย ตัวอย่างเช่น หญิงคนหนึ่งซึ่งถูกขโมยของก็ถือว่า แผ่กุศลให้กับทรัพย์สิ่งของที่หายไป ใกล้เคียงกับกรณีของชาวยิปซีซึ่งถือสุภาษิตแบบยุโรปตะวันออกว่า “เมื่อหมวกปลิวลงน้ำ ก็เลยพูดเสียว่า อุทิศให้แก่วิญญาณของบิดา”

การทำบุญ ในอดีตมิใช่เป็นการกระทำเพื่อให้สมความปรารถนาหรือเพื่อให้มีความหลุดพ้นจากโลกิยะ แต่การทำบุญเป็นหลักจริยธรรมธรรมที่เป็นพื้นฐานของพุทธศาสนาของไทยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตที่ดี และการทำบุญจะยิ่งได้รับกุศลมากถ้าเป็นการทำดีแก่ผู้อื่น

การทำดีแก่ผู้อื่นจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำยาก คนไทยเข้ากับคนได้ง่ายอยู่แล้ว แต่ในการทำบุญต่างๆ เหล่านั้น หลายคนมักมองกันไปว่าหมายถึงการใส่บาตรทุกเช้า บวชเป็นพระ ปิดทองพระ สร้างอาคารต่างๆ ในวัด เช่าพระพิมพ์ ไปร่วมฉลองวันนมัสการพระพุทธบาท และงานพิธีอื่นๆ เป็นต้น รูธ เบเนดิกต์ ยังชี้ว่า การทำบุญทำให้คนเชื่อมั่นในกุศลผลบุญของตัวเองว่าจะไม่ตกนรก รูธ เบเนดิก ยกตัวอย่างว่า

“…เจตนารมณ์จริงๆ ของคนนั้นมิได้ ‘คิด’ เป็นกุศลเช่นนั้นเลย แม้กระทั่งเมื่อเกิดการกระทำโดยจงใจแต่หุนหันชั่ววูบก็ไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อการทำบุญนั้นๆ ดังนิทานสอนใจเกี่ยวกับพระหนุ่มผู้เกิดในตะกูลชั้นสูง ซึ่งพยายามฆ่าเด็กทารก เพราะหมอดูได้ทำนายว่าพระรูปนี้จะต้องแต่งงานกับลูกสาวของทาส และระบุตัวเจ้าสาวในอนาคตเป็นทารก ซึ่งในขณะนั้นนอนอยู่ในเปลใต้กุฏิ

และเพื่อหลีกเลี่ยงคำทำนาย พระรูปนี้ได้หย่อนมีดผ่านร่องระแนงพื้นไม้ ไปถูกตัวเด็กทารก แต่มีดนั้นมิได้ทำอันตรายจนถึงตาย

และในท้ายที่สุดพระรูปนี้ก็ได้แต่งงานกับเด็กสาวที่ตนมิได้ทราบมาก่อนเลยว่าเป็นคนเดียวกันกับเด็กทารกผู้นั้น แต่บุญกุศลของพระรูปนี้ก็มิได้ลดน้อยลงจากการหมายจะฆ่าทารกแต่อย่างใด…” (Le May A: 93)

ทั้งนี้ รูธ เบเนดิกต์ มองว่า การมีชีวิตที่ดีมิใช่การกระทำที่เป็นการสร้าง “กุศล” แก่คนไทยในอดีต เพราะแนวคิดพื้นฐานของการมีชีวิตที่ดีสอดคล้องกับการเลี้ยงดูเด็ก คนไทยไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องดิ้นรนเพื่อให้ตนมีชีวิตที่ดี การมีชีวิตที่ดีถือเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นสำหรับคนไทยเลย คนไทยจะถือความอดทนต่อชะตาชีวิตกับวาสนาของตนที่ต้องยอมรับความเป็นอยู่มากกว่าที่จะต้องดิ้นรนผลักตัวเองขึ้นให้มีชีวิตที่ดี เพราะความอดทนต่อชะตาชีวิตของตนเป็นคุณธรรมที่ดียิ่งแก่มนุษย์ ผู้ใดที่มีขันติธรรมจะสามารถอยู่ได้อย่างสงบ

หากพูดในเรื่องของการมีชีวิตที่ดี “ความโกรธ” ก็ถือเป็นอุปสรรคต่อการมีชีวิตที่ดี ความโกรธที่ร้อนลุกเป็นไฟ จนไม่สามารถควบคุมสติ อารมณ์ไว้ได้ จะต้องรีบระงับความโกรธไว้แต่เนิ่นๆ

จากข้อความในหนังสือของเลอ เมย์ ที่รวบรวมคติในสยามบันทึกไว้ว่า “พลังแห่งความโกรธเปรียบประดุจไฟไหม้ป่า หากคนนั้นไม่สำนึกดีพอที่จะระงับความโกรธไว้ได้ในท่วงทันที ความโกรธนั้นจะลุกลามไปกระทั่งกลายเป็นความเสียหายร้ายกาจที่สุด” และมีข้อความที่เตือนสติมนุษย์ไว้ว่า “ให้ระงับเหตุทะเลาะวิวาทในขณะที่ความโกรธยังไม่ปะทุเดือด” เพราะจะเป็นความโกรธที่สามารถหายได้ไว และเกิดการให้อภัยกันในที่สุด

ตามที่เลอ เมย์ ยกข้อความเอาไว้ ความโกรธเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมอารณ์ยาก โดยตามหลักแล้ว “คนไทยชอบให้อภัย คนไทยไม่ใครฉุนเฉียวนัก และแทบจะเห็นคนไทยตื่นเต้นโดยง่ายนอกเสียจากคนผู้นั้นจะเมาสุรา”

“ความดีมีอำนาจเหนือความชั่ว” เป็นความเชื่อของคนไทยในอดีต หากมองมาถึงการที่คนไทยให้ความสำคัญเกี่ยวกับการระงับความโกรธและความพยาบาทตามที่เลอ เมย์กล่าวไว้นั้น มันสะท้อนบริบทในอดีตได้ระดับหนึ่ง ดังนิทานพื้นบ้านอีกเรื่องหนึ่งที่เลอ เมย์บันทึกลงในหนังสือ

นิทานเรื่องนี้เล่าถึงเด็กสาวที่ถูกกล่าวหาจากครอบครัวว่าถูกผีสิง เด็กสาวผู้นั้นพบพระจิตใจดีรูปหนึ่ง ซึ่งพระรูปนั้นจำเป็นต้องเอ่ยความเท็จเพื่อปลอบใจเด็กสาวว่าเมื่อจิตใจของเด็กดีขึ้น ก็จะมีอาการดีขึ้นเอง ด้วยถือคติว่า “เมื่อเบิกบาน เพลิดเพลิน และมีความสุขแล้ว ความเชื่อในเองความเจ็บป่วยต่างๆ รวมทั้งความเจ็บป่วยจริงๆ ก็หายไปเอง ดังนั้น จึงถือว่าความเบิกบานและความสุขเป็นยาขนานวิเศษ….ที่จะเยียวยาได้”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

เบเนดิกต์, รูธ. พรรณี ฉัตรพลรักษ์ แปล. วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย Thai Culture and Behavior. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564.

Landon, K. P., Siam in Transition, Shanghai, 1939. อ้างถึงใน “วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย Thai Culture and Behavior”. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564.

Le May, Reginald, An Asian Arcady, Cambridge, 1926; Siamese Tales Old and new, (Quoted Le May A.), London, 1930; Buddhist Art in Siam, Cambridge, 1938. อ้างถึงใน “วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย Thai Culture and Behavior”. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564.

Young, F., The kingdom of the Yellow Robe, London, 1900. อ้างถึงใน “วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย Thai Culture and Behavior”. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2565