เปิดพิธีเสี่ยงทาย ก่อนปลงพระชนม์ “ขุนวรวงศาธิราช” ขุนนางมูเตลูอะไร?

ขุนวรวงศาธิราช ประกอบ พิธีเสี่ยงทาย
ละคร "แม่หยัว" ภาพจาก www.one31.net

เนื่องจาก “ขุนวรวงศาธิราช” ขึ้นมามีอำนาจในราชสำนักอยุธยาแบบไม่ชอบธรรมตามขนบโบราณ จึงทำให้มีกลุ่มขุนนางพยายามโค่นล้มบัลลังก์และมุ่งหวังจะให้ “พระเทียรราชา” (ต่อมาคือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) ขึ้นเถลิงอำนาจแทน แต่ด้วยเป็นการคิดการใหญ่ จึงทำให้ขุนนางต้องพึ่งพาความเชื่อดั้งเดิม โดยการทำ พิธีเสี่ยงทาย ก่อนปลงพระชนม์ ขุนวรวงศาธิราช เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย

พิธีเสี่ยงทาย ก่อนปลงพระชนม์ ขุนวรวงศาธิราช

ละคร “แม่หยัว” ภาพจาก www.one31.net

ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม 38 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64) พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า…

Advertisement

“ฝ่ายขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศจึงว่า เราคิดการทั้งปวงนี้เป็นการใหญ่หลวงนัก จำจะไปอธิษฐานเสี่ยงเทียนจำเพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าพระพุทธปฏิมากรเจ้า ขอเอาพระพุทธคุณเป็นที่พำนักให้ประจักษ์แจ้ง ว่าพระเทียรราชากอบด้วยบุญบารมี จะเป็นที่ศาสนูปถัมภกปกป้องอาญาประชาราษฎรได้หรือมิได้ประการใดจะ จะได้แจ้ง 

พระเทียรราชาก็เห็นด้วย ขุนพิเรนทรเทพจึงว่าเราคิดการใหญ่หลวงถึงเพียงนี้ อนึ่งก็ได้เตรียมการไว้พร้อมแล้วถ้าเสี่ยงเทียนมิสมดังเจตนา จะมิเสียชัยสวัสดิมงคลไปหรือ ถ้าไม่เสี่ยงเทียน ตกจะไม่ทำหรือประการใด ว่าแล้วต่างคนต่างไป

ครั้นค่ำลงวันนั้น ฝ่ายขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศ พระเทียรราชา ก็ชวนกันฟั่นเทียน 2 เล่มขี้ผึ้งหนักเท่ากัน ด้ายใส้นั้นนับเส้นเท่ากันเล่มเทียนนั้นยาวเสมอกัน แล้วก็พากันไป ณ อุโบสถ์วัดป่าแก้ว ฝ่ายพระเทียรราชา กราบถวายนมัสการ พระพุทธปฏิมากรเจ้าโดยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงกระทำเสี่ยงวจีสัจจาธิษฐานว่า

ป่างเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า เสด็จยั้งสถิตเที่ยวโปรดสัตว์อยู่ย่อมยังโลกอันมีความวิมุติให้สันดานบริสุทธิ์สิ้นสงสัยด้วยพระญาณสัพพัญญู ครั้นพระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่พระมหาปรินิพพาน ก็ทรงพระมหากรุณาประดิษฐานพระเจดีย์ทั้งห้า พระปฏิมากร พระมหาโพธิ์ พระสถูป พระชินธาตุ พระไตรปิฎก ไว้สนองพระพุทธองค์เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกอันเกิดมาภายหลัง

เป็นความสัตย์แห่งข้าพระพุทธเจ้าฉะนี้ ประการหนึ่งข้าพระพุทธเจ้าคิดจะได้ราชสมบัติครั้งนี้ ด้วยโลกียจิตจะใครเป็นใหญ่ จะได้จัดแจงราชกิจจานุกิจให้สถิตอยู่ในยุติธรรม จะได้เป็นที่พึ่งที่พำนักในนิกรราชบรรษัท ให้มีความสุขตามโบราณราชประเพณี เป็นความสัตย์แห่งข้าพระพุทธเจ้าฉะนี้ถ้วนครบสอง

และยังมีความสงสัยอยู่ จักสมลุดังมโนรถแลหรือมิสมลุประการใดมิได้แจ้ง ข้าพระพุทธเจ้าขอพระบวรคุณานุภาพพระมหาเจดียสถานเจ้าทั้งห้ามีพระพุทธปฏิมากรเจ้าเป็นอาทิ อันพระพุทธองค์ทรงประดิษฐานไว้ต่างพระองค์ แล้วจึงสัตยาธิษฐานทั้งสองสัจจะแห่งข้าพระพุทธเจ้า จงเป็นที่พำนักตัดความสงสัย…”

และพูดต่อไปว่า… พวกเขาได้ทำการสัตย์เสี่ยงเทียน โดยมีเทียนเล่มหนึ่งเป็นของตนเอง อีกเล่มเป็นของขุนวรวงศาธิราช ถ้าหากแผนการสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ขอให้เทียนของขุนวรวงศาธิราชดับก่อน แต่หากไม่สำเร็จผลตามที่คาดไว้ ขอให้เทียนของตนเองดับก่อน ดังที่ว่า…

เทียนจุดไฟ (ภาพ : pixabay)

“ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำสัตย์เสี่ยงเทียนของข้าพระองค์เล่มหนึ่ง ของขุนวรวงศาธิราชเล่มหนึ่ง ถ้าข้าพระองค์เจ้าจะสมลุมโนรถความปรารถนาด้วยบุญญาธิการโบราณ และปัจจุบันกรรมควรจะได้มหาเศวตฉัตรสกลรัฏฐาธิปไตย 

อันจะได้ระงับทรยศยุคเข็ญเป็นจลาจลแห่งสมณพรามหณ์เสนาบดีไพร่ฟ้าประชาราษฎร ได้ความเดือดร้อน และได้เป็นมหาอรรคทานทายก อุปถัมภกพระบวรพุทธศาสนาในวราชัยสวรรยาสืบไป ขอให้เทียนขุนวรวงศาธิราชดับก่อน ถ้ามิสมลุมโนรถปรารถนาแล้ว ขอให้เทียนข้าพระองค์ดับก่อน…”

ทว่าเพียงแค่จุดเทียนสองเล่มนั้นได้ไม่นาน ขุนพิเรนทรเทพที่เพิ่งเข้ามาใหม่เห็นว่าเทียนของขุนวรวงศาธิราชยาวกว่าของพระเทียรราชา เมื่อเห็นเช่นนั้นท่านก็โกรธ และบอกว่า “ห้ามมิให้ทำสิขืนทำเล่า” และคายหมากดิบทิ้ง แต่หมากนั้นกลับทำให้เทียนของขุนวรวงศาธิราชดับลง

เมื่อขุนนางเห็นก็ต่างดีใจ เพราะเป็นนิมิตหมายอันดีว่าการใหญ่ที่ตนเองกำลังจะทำนั้นต้องสำเร็จผลด้วยดี

ขณะเดียวกันก็มีพระสงฆ์รูปหนึ่งครองไตรจีวรครบและถือตาลปัตรเข้ามา ท่านให้พรว่า… “ท่านทั้งนี้จะได้สำเร็จมโนรถความปรารถนาเป็นอันแท้” ทั้ง 5 คนจึงรับเอาพร

15 วันต่อมา ขุนนางทั้ง 5 ก็ปลงพระชนม์ “ขุนวรวงศาธิราช” และ “แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์” รวมถึงพระโอรสของพระนางได้สำเร็จ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.finearts.go.th/promotion/view/32718-ประชุมพงศาวดาร-เล่ม-38–ประชุมพงศาวดาร-ภาคที่-64-


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2567