เปิดผลงาน “สมเด็จพระไชยราชาธิราช” กษัตริย์นักรบแห่งอยุธยา กับ 12 ปีแห่งราชสมบัติ

สมเด็จพระไชยราชาธิราช
สมเด็จพระไชยราชาธิราช ในละคร แม่หยัว ออกอากาศทาง ช่อง One 31 (ภาพจาก X one31thailand)

สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 13 แห่งกรุงศรีอยุธยา ครองราชสมบัติระหว่าง พ.ศ. 2077-2089 ทรงเป็นกษัตริย์นักรบ ผู้ทำศึกสงครามเพื่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและการขยายพระราชอำนาจอยู่บ่อยครั้ง

พระราชประวัติ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบายพระราชประวัติ “พระไชยราชา” ไว้ มีความโดยสรุป ดังนี้

สมเด็จพระไชยราชาธิราชเป็นเชื้อวงศ์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งพระนามว่า “พระไชยราชา” สื่อได้ว่าเป็นเจ้านายชั้นสูงแน่ ๆ คือเป็นเจ้านายชั้นเดียวกับพระบรมราชา, พระอินทราชา และคงเป็นลูกเธอของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ที่เกิดแต่พระสนม

Advertisement

ก่อนพระไชยราชาจะได้ราชสมบัติ พระองค์เป็นเจ้าครองเมืองพิษณุโลก เมื่อได้ราชสมบัติแล้วก็ทำสงครามข้างเหนือกับพม่าและเมืองเชียงใหม่หลายครั้ง ทำศึกคราวใดก็เอากองทัพหัวเมืองเหนือ (พิษณุโลก-สุโขทัย) เป็นกองทัพหน้าเสมอ เพราะทรงชำนาญราชการหัวเมืองเหนือ ด้วยเคยทรงปกครองมาก่อนแล้ว

ในเรื่องทายาท ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชมีพระมเหสีหรือไม่ แน่ทีเดียวคือพระองค์ไม่มีพระราชโอรสกับพระมเหสี (ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีพระมเหสีก็ตาม) หรือบางที พระมเหสีอาจทิวงคตไปเสียก่อน จึงปรากฏเพียงว่ามีพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ ที่เกิดด้วย “ท้าวศรีสุดาจันทร์” พระสนมเอกอันมีบรรดาศักดิ์เป็น “แม่หยัวเมือง” ตามกฎมณเฑียรบาล นั่นคือ พระยอดฟ้า กับพระศรีศิลป์

สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงมีน้องยาเธอต่างพระมารดาพระองค์หนึ่ง คือ “พระเทียรราชา” ผู้ที่ภายหลังได้ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

ศึกเชียงไกรเชียงกราน กบฏพระยานารายณ์ และการรุกรานเขมร

ราว พ.ศ. 2042 หลังจากพระราชบิดา คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สวรรคต สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (เจ้าหน่อพุทธางกูร) พระเชษฐาต่างพระมารดาของพระไชยราชา เสด็จขึ้นครองราชย์ (พ.ศ. 2072-2076) ต่อมา สมเด็จพระรัษฎาธิราช พระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อ แต่ครองราชย์ได้ 5 เดือนเศษ พระไชยราชาก็ทรงชิงราชสมบัติและสำเร็จโทษสมเด็จพระรัษฎาธิราช

สมเด็จพระไชยราชาธิราช
สมเด็จพระไชยราชาธิราช ในละคร แม่หยัว ออกอากาศทาง ช่อง One 31 (ภาพจาก X one31thailand)

สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา เหตุการณ์สำคัญหลังจากนั้นคือมีกบฏของพระยานารายณ์แห่งเมืองกำแพงเพชร แต่พระองค์สามารถปราบปรามลงได้ พระยานารายณ์ถูกจับและประหารชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2081

ก่อนหน้านั้นไม่นานพระองค์เพิ่งเสด็จยกทัพไปขับไล่พม่าที่เมืองเชียงไกรเชียงกราน (ปัจจุบันคือเมืองอัตรัน ใกล้เมืองมะละแหม่ง) ดังความในพงศาวดารว่า

“ศักราช ๘๘๐ ปีขาลสัมฤทธิ์ศก แรกให้พูนดินวัดชีเชิง ถึงเดือน ๑๑ เสด็จไปเชียงไตรเชียงตราน ถึงเดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลาประมาณยามหนึ่งเกิดลมพายุพัดหนัก คอเรืออ้อมแก้วแสนเมืองนั้นหัก เรือไกรแก้วนั้นหักแตก อนึ่งเมื่อเสด็จมาแต่เมืองกำแพงเพ็ชรนั้น พระยานารายณ์เป็นกบฏ ให้กุมเอาพระยานารายณ์ฆ่าเสียเมืองกำแพงเพ็ชร”

ศึกเมืองเชียงไกรเชียงกรานถูกนับเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทย-พม่า เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งราชวงศ์ตองอูพม่าขยายอำนาจลงใต้ เพื่อปราบอาณาจักรมอญแห่งเมืองหงสาวดี พวกมอญได้หลบหนีมายังเมืองเชียงกราน ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของอยุธยา เมื่อฝ่ายพม่าติดตามลงมาจึงปะทะกับฝ่ายอยุธยาที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จนำทัพไปรับศึกเองที่เชียงไกรเชียงกราน พร้อมทหารอาสา (นักรบรับจ้าง) ชาวโปรตุเกส 120 คน ติดตามร่วมทัพไปด้วย และสามารถขับไล่กองทัพพม่าให้ถอยกลับไปได้

หลังเสร็จศึกพม่าและกบฏพระยานารายณ์ 2 ปี (พ.ศ. 2083) อยุธยาได้ส่งกองทัพไปตีกัมพูชา ขณะนั้นราชธานีอยู่ที่กรุงละแวก มีกษัตริย์คือพระเจ้าจันทราชา หรือ “นักองค์จัน” ผู้เคยได้รับการชุบเลี้ยงที่กรุงศรีอยุธยาก่อนกลับไปครองกัมพูชา แต่ฝ่ายอยุธยาพ่ายแพ้ ถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่ามีการรุกรานกัมพูชาอีกในสมัยของพระองค์

สงครามกับล้านนา

สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงมุ่งมั่นในการทำสงครามกับอาณาจักรฝ่ายเหนือ (ล้านนา) ซึ่งมีความยุ่งยากภายในจากการแย่งชิงราชสมบัติ พระองค์จึงเสด็จนำทัพโดยมีพระยาพิษณุโลกเป็นแม่ทัพไปตีเชียงใหม่ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2088 แต่ไม่สำเร็จ พงศาวดารบันทึกว่า

“ศักราช ๘๘๗ ปีระกาสัปตศก วันพฤหัสบดีเดือน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ สมเด็จพระชัยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเมืองเชียงใหม่ ให้พระยาพิษณุโลกเป็นแม่ทัพ ยกพลออกตั้งทัพชัยตำบลบางบาน วันเสาร์เดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ จึงยกทัพหลวงจากที่ทัพชัยไปเถิงเมืองกำแพงเพ็ชร วันอาทิตย์เดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ยกทัพไปตั้งเมืองเชียงทอง แล้วยกไปเถิงเมืองเชียงใหม่ ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ เสด็จยกพยุหยาตราทัพหลวงกลับคืนยังพระนครศรีอยุธยา”

อย่างไรก็ตาม ปลาย พ.ศ. 2089 พระองค์ก็เสด็จนำทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้สามารถตีได้ทั้งเมืองลำพูนและเชียงใหม่ แล้วทรงพระสุบินเห็นนิมิตอุบาทว์ จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา ดังพงศาวดารเล่าไว้ว่า

ศักราช ๘๘๘ ปีจออัฐศก ณ วันอาทิตย์เดือนยี่ขึ้น ๑๑ ค่ำ สมเด็จพระชัยราชาธิราชเจ้า เสด็จยกพยุหยาตราทัพไปเมืองเชียงใหม่ ดำรัสให้พระยาพิษณุโลกถือพล ๒๐๐๐๐ เป็นกองหน้า เสด็จยกพยุหยาตรากรรอนแรมไปโดยระยะทาง ๑๒ เวนเถิงเมืองกำแพงเพ็ชร เสด็จประทับแรมอยู่ ๑๕ เวน ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ เสด็จตั้งทัพชัย เถิง ณ วันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ จึงยกทัพหลวงเสด็จจากที่นั้น

ครั้น ณ วันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ได้เมืองลำพูนชัย เถิง ณ วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ได้เมืองเชียงใหม่ ณ วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ บังเกิดอุบาทว์ มีนิมิตรเห็นโลหิตตกอยู่ ณ ประตูบ้าน และเรือนชนทั้งปวงในเมืองนอกเมืองทุกตำบล ครั้น ณ วันจันทร์เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ เสด็จยกพยุนยาตราทัพหลวงจากเมืองเชียงใหม่มายังพระนครศรีอยุธยา”

เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ และการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา

สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งซบเซาลงในสมัยของพระองค์ ส่วนหนึ่งมาจากการทำสงครามตลอดรัชสมัย และเหตุเพลิงไหม้กรุงศรีอยุธยาครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2088 เหตุการณ์นั้นเกิดเพลิงลุกไหม้อยู่นานถึง 3 วัน บ้านเรือนประชาชนในเมืองเสียหายไปกว่าหมื่นหลัง ดังว่า

“วันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำเกิดเพลิงไหม้พระนครแต่ท่ากลาโหมลงไปเถิงพระราชวังท้ายท่าตลาดยอด ลมหอบเอาลูกเพลิงไปตกลงตะแลงแกง ไหม้ลามลงไปป่าตองโรงครามฉะไกร ๓ วันจึงดับ มีบัญชีเรือศาลากุฎิพระวิหารไหม้ ๑๐๐๐๕๐ เรือน”

พระองค์จึงพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการโปรดฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำ เพื่อย่นระยะทางของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยปัจจุบันไปถึงปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนลำน้ำสายเดิมกลายเป็นคลองบางกอกน้อย

แผนที่แสดงย่านเก่าริมแม่น้ำ (เจ้าพระยา) เก่าผ่านบริเวณบางกอกก่อนขุดคลองลัด
แผนที่แสดงย่านเก่าริมแม่น้ำ (เจ้าพระยา) เก่าผ่านบริเวณบางกอกก่อนขุดคลองลัด

และเพื่อให้การค้ามีความยุติธรรม พระองค์ยังให้มีการจัดระบบตราชั่ง ใช้เครื่องชั่งตวงที่ราชการรับรองมาตรฐานในการซื้อขายข้าวปลาอาหาร

หลังจากเสด็จกลับจากเชียงใหม่ในสงครามครั้งที่ 2 สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคตในปลาย พ.ศ. 2089 พระยอดฟ้าครองราชสมบัติสืบต่อ โดยมีท้าวศรีสุดาจันทร์ดูแลออกว่าราชการ

“ศักราช ๘๘๙ ปีกุร นพศก เสด็จสวรรคต ณ มัชณิมิถีประเทศ มุขมนตรีเชิญพระบรมศพเข้าพระนครศรีอยุธยา… มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ พระโอรสผู้พี่ทรงพระนามชื่อพระยอดฟ้า พระชนม์ได้ ๑๑ พระวษา พระโอรสผู้น้องทรงพระนามชื่อพระศรีสิน พระชนม์ได้ ๕ พระวษา”

ใหม่ ดาวิกา รับบท ท้าวศรีสุดาจันทร์ และ ธีรภัทร์ สัจจกุล รับบท สมเด็จพระไชยราชาธิราช ในละครเรื่อง แม่หยัว (ภาพจากเฟซบุ๊ก : ช่อง one Lakorn)
ใหม่ ดาวิกา รับบท ท้าวศรีสุดาจันทร์ และ ธีรภัทร์ สัจจกุล รับบท สมเด็จพระไชยราชาธิราช ในละครเรื่อง แม่หยัว (ภาพจากเฟซบุ๊ก : ช่อง one Lakorn)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วุฒิชัย มูลศิลป์. (2567). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา.

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). (2479). กรุงเทพฯ :โสภณพิพรรฒธนากร. พิมพ์ในงานปลงศพ คุณหญิงปฏิภาณพิเศษ (ลมุน อมาตยกุล) ณ วัดประยูรวงศาวาส.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2567