สมเด็จพระรัฏฐาธิราช เยาวกษัตริย์อยุธยา ทำไมถูก “สมเด็จพระไชยราชาธิราช” ทำรัฐประหาร

สมเด็จพระไชยราชาธิราช จากละครแม่หยัว ช่อง one31 ประกอบ สมเด็จพระรัฏฐาธิราช
สมเด็จพระไชยราชาธิราช จากละครแม่หยัว ช่อง one31 (ภาพจาก : www.one31.net)

ใครที่ดูละคร “แม่หยัว” ที่ฉายผ่านช่องวัน เป็นตอนแรกเมื่อวานนี้ คงเห็น “สมเด็จพระรัฏฐาธิราช” (บางที่เขียนว่า สมเด็จพระรัษฎาธิราช) พระราชโอรสใน “สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร” ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ โดยมีแกนนำในการรัฐประหารคือ “สมเด็จพระไชยราชาธิราช”

แผนที่กรุงศรีอยุธยาในจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ฉบับ ภาษาฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2236 ตรงกับต้นรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา เป็นแผนที่กรุงศรีอยุธยาฉบับเดอ ลา ลูแบร์ แผ่นแรกสุด (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่งเศส ของธวัชชัย ตั้งศิริวาณิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549 หน้า 84)

การรัฐประหารเพื่อขึ้นอำนาจใหม่ในราชวงศ์เป็นเรื่องปกติของการเมืองสมัยก่อน แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้สะเทือนใจคนยุคหลังก็เพราะสมเด็จพระรัฏฐาธิราชมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษาเท่านั้น และเป็นเยาวกษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ถูกสำเร็จโทษ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการชิงบัลลังก์ ปรามินทร์ เครือทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ได้อธิบายไว้ในบทความ “กรุงศรีปฏิวัติ : ๑๐๐ ปีแห่งความเงียบ ไร้ ‘ปฏิวัติ’ ในราชวงศ์สุพรรณภูมิ” ว่า เป็นเพราะสมเด็จพระไชยราชาธิราชถูกบุคคลอื่นข้ามตำแหน่ง

สมเด็จพระไชยราชาธิราช

สมเด็จพระไชยราชาธิราช จากละครแม่หยัว ช่อง one31 (ภาพจาก : www.one31.net)

พระราชประวัติของพระองค์ไม่เป็นที่แน่ชัด ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุไว้ว่าอยู่ใน “ราชวงศ์สมเด็จพระรามาธิบดี” เชื่อมโยงกับ พงศาวดารฉบับ วัน วลิต ที่กล่าวว่า “เป็นญาติห่างๆ และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

รวมถึง สังคีติยวงศ์ พงศาวดารพระพุทธศาสนาและพงศาวดารบ้านเมือง ก็ปรากฏข้อมูลว่าเป็น “ภาคิไนยของสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี”

แม้ว่าจะมีข้อสันนิษฐานของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ว่าพระองค์เป็นพระราชกุมารในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 

ทว่าอย่างไรแล้วเมื่อเทียบกับเอกสารและหลักฐานอื่น ๆ เจ้าของบทความก็ลงความเห็นว่า พระองค์น่าจะเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมหน่อพุทธางกูร และเป็น “หลาน” ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เสียมากกว่า

2 สาเหตุ การรัฐประหารบัลลังก์ “สมเด็จพระรัฏฐาธิราช” 

ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อย่างปรามินทร์ ยังเล่าต่อถึงวิธีที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงใช้โค่นราชบัลลังก์เก่าไว้ว่า เว้นระยะเวลานานถึง 5 เดือน เนื่องจาก “รองานศพหรือหากเวลานั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงอยู่เมืองพิษณุโลก ทำให้จะต้องใช้เวลาเตรียมระยะหนึ่งจึงลงมือ”

แต่หลักฐานของวัน วลิต บอกไว้ว่า ขณะนั้นพระองค์ประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในฐานะผู้สำเร็จราชการอยู่แล้ว 

ดังนั้นที่รอเวลา 5 เดือนเป็นเพียงรอจังหวะและโอกาส รวมถึงสำรวจกำลังภายในเท่านั้น

รัฐประหารของพระองค์ผ่านไปโดยไม่มีการต่อต้านใด ๆ ถึงแม้ว่าขณะนั้นเยาวกษัตริย์จะได้รับการสนับสนุนจากขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระราชบิดาของพระองค์อยู่บ้าง แต่ด้วยอำนาจและบารมีที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงสะสมไว้ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะโค่นล้มเยาวกษัตริย์ที่มีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา

แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้สมเด็จพระไชยราชาธิราชโค่นอำนาจเก่า…

เรื่องนี้อย่างที่บอกไปแล้วในต้นบทความว่าเป็นเพราะถูกบุคคลอื่นข้ามตำแหน่ง ซึ่งปรามินทร์ให้ข้อมูลไว้ว่า… 

“หากพิจารณาอีกด้านหนึ่ง ถ้าสมเด็จพระไชยราชาธิราชเป็น ‘พระราชโอรส’ ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เท่ากับว่า ทรงถูก ‘ข้าม’ ในตำแหน่งอุปราชเมืองพิษณุโลก เมื่อพระชนมายุ 27 พรรษา ทั้งที่พระองค์จะมีสิทธิเหนือกว่าในฐานะพระราชโอรส

แต่พระราชบิดาทรงยกตำแหน่งสำคัญนี้ให้กับสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทรงใกล้ชิดกับขุนนางหัวเมืองเหนือมากกว่า เนื่องจากประทับและผนวชอยู่ที่เมืองพิษณุโลกตั้งแต่พระเยาว์ ทำให้การระงับเหตุแรงกระเพื่อมของขุนนาง เป็นไปอย่างเรียบร้อย

และทรงถูก ‘ข้าม’ อีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรทรงยกสมบัติให้กับสมเด็จพระรัฏฐาธิราชที่มีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา”

จึงทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นในรัชสมัยนี้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ปรามินทร์ เครือทอง. “กรุงศรีปฏิวัติ : ๑๐๐ ปีแห่งความเงียบ ไร้ ‘ปฏิวัติ’ ในราชวงศ์สุพรรณภูมิ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2567