ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ซีรีส์ “แม่หยัว” ตอนแรกที่ออกอากาศไปเมื่อ 24 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งละครไทยที่ปลุกกระแสความสนใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมขึ้นมาอีกครั้ง อย่าง “สัญลักษณ์” บนหน้าผากพราหมณ์ในเรื่อง ทั้งพราหมณ์ “วามน” ที่ต่อมาคือขุนวรวงศาธิราช พระโลกธีป เจ้ากรมโหรหลวง และพระโหราจารย์คนอื่น ๆ ก็เป็นหนึ่งในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่น่าหยิบยกมาอธิบาย
สัญลักษณ์ดังกล่าวเรียกรวม ๆ ว่า “ติลก” (คำเดียวกับ ‘ดิลก’) หมายถึง ยอด ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมาย มิใช่สักแต่จะขีดเขียนขึ้นมาลอย ๆ
ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาอินเดีย-ฮินดู อธิบายว่า การเจิมบริเวณ “ศรี” (หน้าผาก) คือระหว่างคิ้วจรดไรผมของคนฮินดู มาจากความเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวเป็นจุดรวมประสาทการรับรู้พิเศษ เรียกว่าเป็น “จักร” หรือตาที่สาม จึงเกิดธรรมเนียมการเจิมสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์บริเวณนี้
แต่เนื่องจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีเทพเจ้าหลายองค์ นิกายต่าง ๆ นับถือเทพเจ้าเป็นใหญ่ต่างกัน การเจิมหน้าผากจึงเป็นหนึ่งในการแสดงออกหรือบอกลัทธินิกายที่ตนสังกัดด้วย
ผู้นับถือ พระศิวะ (ลัทธิไศวนิกาย) จะขีดแถบสามแถบเรียงกันในแนวนอนบนหน้าผาก เรียกว่า “ตริปุณฑระ” แบบที่พระโลกธีปและพระโหราจารย์เจิมกัน ในอดีตจะใช้ขี้เถ้าศักดิ์สิทธิ์จากการเผาศพในป่าช้า ส่วนผู้นับถือเจ้าแม่หรือพระเทวีองค์ต่าง ๆ จะเจิมจุดแดงกลม ๆ เรียกว่า “พินทุ” ไว้บนหน้าผาก
สำหรับการเจิมรูปตัวยูสีแดง มีเส้นสีขาวขีดตรงกลางของพราหมณ์วามน เป็นสัญลักษณ์ของ “พระวิษณุ” หรือพระนารายณ์ เรียกว่า “อูรธวะปุณฑระ”
อ. คมกฤช อธิบายว่า “อูรธวะ แปลว่า ตั้งขึ้น ปุณฑระ ท่านว่ามาจากปุณฑรีกะ แปลว่า กลีบบัวหรือดอกไม้ คือมีลักษณะคล้ายกลีบบัว หรือหมายถึงพระบาทบงกชก็ได้”
ทั้งนี้ รูปตัวยูหรือวีจะเรียก “โคปีจันทน์” เป็นการสมมติให้เป็นพระบาทของพระวิษณุที่ประทับอยู่บนหน้าผากพราหมณ์หรือศาสนิก โดยใช้ดินสอพองผสมเครื่องหอม มีสีขาวหรือเหลืองนวล สีประจำพัสตราภรณ์ของพระวิษณุ นัยว่าเป็นสีแห่งความสวัสดิมงคลและความบริสุทธิ์
ส่วนตรงกลางจะแตกต่างกันเล็กน้อยตามนิกายย่อย บ้างเป็นขมิ้นเหลือง บ้างเป็นจุดดำจากถ่านต้นกะเพรา หรือหากเจิมด้วยผงกุงกุมสีแดงจะนิยมในลัทธิไวษณวะฝ่ายใต้ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนหมายถึง “พระเทวี” คือ พระลักษมี ชายาพระวิษณุ นัยว่าเป็นสิริมงคลในทางโลกียะ
แม้รายละเอียดส่วนนี้จะแตกต่างจากในละครที่เลือกเขียนโคปีจันทน์ด้วยสีแดง และทาตรงกลางด้วยสีขาว ถึงอย่างนั้น จากลักษณะที่ปรากฏ พอจะอนุมานได้ว่า วามนเป็นพราหมณ์ในลัทธิ ไวษณพนิกาย (ไวษณวะ) หรือนิกายพระวิษณุเป็นใหญ่
“บางนิกายในอินเดียเรียกอูรธวะปุณฑระว่า ‘นามัม’ (นาม) คือขณะที่เขียนต้องท่องพระนามพระวิษณุต่าง ๆ ไปด้วย และไม่ได้เขียนเฉพาะหน้าผากแต่เขียนในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การเจิมนี้จึงดุจดังรักษานามของพระเป็นเจ้าไว้ยังส่วนต่าง ๆ ” อ. คมกฤชกล่าว
อ่านเพิ่มเติม :
- คนฮินดูวรรณะต่ำในอินเดีย นับถืออะไรกัน?
- ชาวฮินดูไม่กิน “วัว” เป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางส่วนกินกันปกติ!
- “พระตรีมูรติ” ภาวะรวมร่าง 3 มหาเทพ กับเทวรูปหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่คนไปขอพรความรัก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. เก็บตกละครบุพเพฯ : สัญลักษณ์อะไรบนหน้าผากคุณพี่หมื่น. คอลัมน์ ผี-พราหมณ์-พุทธ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2561.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2567