ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
แม้ทุกวันนี้ในทางกฎหมายสังคมอินเดียจะไม่มี “วรรณะ” กันแล้ว แต่ในทางปฏิบัติหรือวิถีชีวิตโดยทั่วไปของพวกเขายังข้องเกี่ยวกับวรรณะต่าง ๆ อยู่ไม่น้อย ความแตกต่างดังกล่าวฝังรากลึกลงไปทั้งในวิถีชีวิตและคติความเชื่อ การนับถือ “เทพเจ้า” ของแต่ละวรรรณะด้วย
แต่เดิมคนฮินดูในอินเดียจะประพฤติตนตามจารีตที่กำหนดไว้สำหรับวรรณะของตน แม้แต่การบูชาเทพเจ้าก็ต่างกัน นอกจากเทพเจ้าองค์สำคัญ ๆ อย่างพระศิวะ พระนารายณ์ หรือพระพรหม ศาสนาฮินดูยังมีนิกายและเทพเจ้าที่คนเคารพบูชามากมาย จึงไม่จำเป็นที่แต่ละคนต้องน้อมรับนับถือเทพทั้งหมดในคราวเดียว เพราะมีเยอะมากจริง ๆ
“คนฮินดูวรรณะต่ำ” นับถืออะไร?
ปกติแล้วคนฮินดูวรรณะสูง ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ โดยเฉพาะพราหมณ์จะบูชาพระศิวะหรือพระนารายณ์เป็นหลัก ส่วนชาวบ้าน (วรรณะสูง) กลุ่มอื่น ๆ จะนับถือพระรามกับพระกฤษณะ องค์อวตารของพระนารายณ์
สำหรับพวกวรรณะต่ำ คือตั้งแต่ศูทรลงมา แม้ส่วนหนึ่งจะนับถือพระศิวะ พระนารายณ์ เหมือนคนวรรณะสูง แต่มักจะนับถือร่วมกันกับเทพชั้นรองลงมา หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งที่เป็นเทพประจำหมู่บ้าน เทพประจำถิ่นซึ่งมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน
คนวรรณะต่ำในอินเดียคือใคร? พลเมืองอินเดียที่ถูกจัดให้เป็นตระกูลต่ำมักเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม หรือ “ทราวิฑ” ไม่ใช่พวกอารยัน ในแง่ของการรับศาสนา ชาวทราวิฑจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่อยู่ปะปนกับคนอารยัน (ฮินดู) กับพวกที่อยู่ห่างไกล อยู่ตามป่าเขา กลุ่มหลังจะถือคติเก่าแก่ ไม่เกี่ยวข้องกับเทพของฮินดูเลย
ส่วนกลุ่มแรกซึ่งรับเอาทั้งศาสนาฮินดูของชาวอารยันและการแบ่งชนชั้น จนกลายเป็นวรรณะระดับล่างของสังคมฮินดู พวกเขาเอาผีสางเทวดาที่ไม่ใช่เทพฮินดูมารับนับถือด้วย คนฮินดูวรรณะสูงจึงมักจะไม่ยอมรับว่าคนเหล่านี้เป็นฮินดู แต่เพราะมีจำนวนมมากและเป็นพลเมืองของรัฐ-อาณาจักรมาแต่สมัยโบราณจวบจนสมัยใหม่ จึงยอมรับแบบเสียมิได้
ชาวฮินดูวรรณะต่ำนั้นรับวิถีฮินดูทุกอย่างมาใช้อย่างไม่เคอะเขิน แต่เพราะการเอาผีสางซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับฮินดูมาไว้ด้วย โดยอ้างว่าเป็นตำนานอวตารของเทพเจ้าฮินดู ทำให้ความรังเกียจจากคนวรรณะสูงยังฝังลึกอยู่ไม่เสื่อมคลาย
แต่คนวรรณะสูงก็ไม่วายยอมรับนับถือเทพองค์รอง ๆ เหมือนคนวรรณะต่ำ เช่น พระคเณศ พระขันธกุมาร ซึ่งเป็นโอรสพระศิวะ บ้างนับถือพระกาลี เทวีดุร้ายกายสีดำ ปางหนึ่งของพระอุมาเทวี ชายาพระศิวะ หรือแม้แต่หนุมาน ทหารเอกพระราม ก็เป็นที่นิยมในฐานะการเป็นเทพแห่งการกสิกรรม
ยังไม่นับเรื่องการนับถือโคนนทิ พาหนะของพระศิวะ เหล่านาค ต้นไม้ใหญ่ และหินผาต่าง ๆ ที่พวกเขาเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่
เทพเจ้าอีกกลุ่มที่คนฮินดูวรรณะต่ำนับถือคือ เทพประจำหมู่บ้าน ประจำตำบล เทียบกับบ้านเราคือ “พระภูมิ” เจ้าที่ ผีเจ้าต่าง ๆ ซึ่งจะนับถือกันเฉพาะท้องถิ่นจริง ๆ นักบวชของนิกายเหล่านี้ เป็นคนวรรณะใดก็ได้ ไม่ต้องเป็นพราหมณ์ ส่วนพลังงานศักดิ์สิทธิ์มักเป็นสตรี เรียกว่าเป็น “เจ้าแม่” มีเทพบุตรหรือเทวดาเพศชายเป็นบริวาร
ที่สำคัญคือเป็นการบูชาเพราะ “ความกลัว” ไม่ใช่ความเลื่อมใสเสียทีเดียว เพราะพวกเขาเชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เป็นเพราะเจ้าแม่โกรธเคือง จึงต้องทำพิธีบูชาเพื่ออ้อนวอนให้สิ่งเลวร้ายหายไป โดยการฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
นอกจากนี้ยังเชื่อว่า ตามหมู่บ้านจะมีเทพองค์หนึ่งเรียก “ไอเยนร์” มีหน้าที่พิทักษ์รักษาชุมชน คอยขี่ม้าตรวจตระเวนรอบหมู่บ้าน เพื่อขับไล่หรือป้องกันผีร้ายไม่ให้ล่วงล้ำเข้ามาในเขตชุมชนหรือทำร้ายคนในพื้นที่ การบูชาเทพองค์นี้ คนฮินดูจะนำรูปปั้นม้าวางไว้หน้าศาล (ที่ทำอย่างหยาบ ๆ ด้วยหิน) แทนการฆ่าสัตว์บูชายัญ
จึงเป็นไปได้ว่าความเชื่อข้างต้นคือเป็นที่มาของรูปปั้นม้าตามศาลพระภูมิในไทย…
อ่านเพิ่มเติม :
- ชาวฮินดูไม่กิน “วัว” เป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางส่วนกินกันปกติ!
- “พระพิฆเนศ” มหาเทพที่เก่าแก่กว่าพระอิศวร? จากเทพพื้นเมือง ปรุงแต่งเป็นเทพฮินดู
- เพราะ “พรหมลิขิต” ชีวิตจึงวุ่น? เหตุใดชาวฮินดูนิยม “พระพรหม” น้อยกว่าพระศิวะ-นารายณ์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เสฐียรโกเศศ นาคะประทีป. (2540). ลัทธิของเพื่อน. กรุงเทพฯ : พิราบ.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2567