คนไทยกินขนม หรือของหวานตั้งแต่เมื่อไหร่ ย่านขนมดังในอดีตของ กทม. อยู่ที่ไหน

ของหวาน
ขนม/ของหวานในงานบุญเลี้ยงพระ (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง)

“ขนม” คือ ของกิน หรืออาหารชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่กับข้าว ส่วนใหญ่มักมี “รสหวาน” นำ บางที่จึงเรียกว่า “ของหวาน” หรือ “อาหารหวาน”  

ขนมกินกันแต่เมื่อใด

แม้ “อาหาร” จะเป็น 1 ใน 4 ปัจจัยการดำรงชีวิต แต่นั่นคงเป็น “อาหารคาว” ที่กินเพื่อยังชีพและบรรเทาความหิว ไม่ใช่ “อาหารหวาน” หรือขนมที่กินแก้อยาก กินเพราะโหยหาของหวานๆ กระนั้นเราก็กินขนมกันมานาน ดังเห็นได้จากบันทึกต่างๆ

Advertisement

สมัยสุโขทัย หนังสือ “ไตรภูมิพระร่วง” ตอนหนึ่งบันทึกถึงขนมว่า “กาลวันหนึ่ง พระองค์จึงให้หาขนมต้มได้ 16,000 ลูก พระองค์จึงถอดแหวน พระธำรงค์วง 1 ออกจากพระกรแห่งพระองค์ จึงใส่เข้าในขนมนั้นแล้ว พระองค์จึงเอาขนมอันที่ใส่แหวนนั้นวางไว้เหนือขนมทั้งหลาย” [สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

ขนมต้ม (ภาพจาก www.sentangsedtee.com)

ขณะที่ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ว่าด้วยภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา ตอนหนึ่งกล่าวถึง “ป่าขนม” ชุมชนที่ขายขนมต่างๆ ว่า

“ถนนย่านป่าขนม ชาวบ้านย่านนั้นทำขนมขายแลนั่งร้านขายขนม ชะมด กงเกวียน สามเกลอ หินฝนทอง ขนมกรุบ ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสำปะนี และขนมแห้งต่างๆ ชื่อตลาดป่าขนม 1” [สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

และ “ตลาดขนมจีน” ในชุมชนของชาวจีนที่มาตั้งร้านขายขนม ในกรุงศรีอยุธยา ว่า

“ถนนย่านขนมจีน มีร้านโรงจีนทำขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋ เครื่องจันอับ ขนมจีนแห้ง ขายเป็นร้านชำ ชื่อตลาดขนมจีน 1” [สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

ขนมจันอับ
ขนมจันอับ ทั้ง 5 ชนิด (ภาพ วิภา จิรภาไพศาล)

แหล่งขนมขึ้นชื่อใน กทม. อยู่ที่ไหน

ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในกรุงเทพฯ ย่านชุมชนที่ทำขนมขายทั้งยามปกติ และช่วงงานเทศกาลต่างๆ ที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จัก (ปัจจุบันบางแห่งก็เลิกราไปแล้ว) มีตัวอย่างเช่น

บ้านตรอกข้าวหลาม อยู่หลังวัดระฆังฯ ชุมชนนี้ทำข้าวหลาม (จะเผาขายเฉพาะฤดูหนาว), ข้าวหมาก, ข้าวหลามตัด

บ้านกุฎีจีน อยู่ในซอยวัดกัลยาณ์ มีวัดซางตาครูสเป็นศูนย์กลางของชุมชน ขนมขึ้นชื่อของที่นี่คือ “ขนมฝรั่งกุฎีจีน”

ขนมฝรั่งกุฎีจีน (ภาพจากwww.matichonweekly.com)

บ้านตลาดน้อย อยู่ถนนสำเพ็งตอนล่าง คนจีนตั้งโรงทำขนมจันอับ, ข้าวพอง, ขนมเปี๊ยะ, ขนมโก๋ ฯลฯ

บ้านตรอกขี้เถ้า อยู่ถนนดำรงรักษ์ มหานาค มีร้านทำขนมผิง, ขนมกลีบสละ ขนมเกล็ดปลากระโห้, ขนมหูช้าง, ทองม้วน, ทองพับ ฯลฯ

บ้านตรอกข้าวโพด ริมถนนกรุงเกษม ย่านตลาดนางเลิ้ง ทำข้าวโพดคั่วขายทั้งปี

บ้านโรงขนมปัง ริมถนนเสือป่า เยื้องโรงพยาบาลกลางในปัจจุบัน มีชาวจีนทำโรงขนมปัง ทำขนมปังปอนด์, ขนมปังบุหรี่, ขนมปังกรอบ ฯลฯ ภายหลังย้ายออกไปอยู่นอกเมือง

ขณะที่ส่วนภูมิภาคก็มีของขึ้นชื่อประจำจังหวัด เช่น อ. บางกระทุ่ม จ. พิษณุโลก มีกล้วยตาก, ต. ท่าเรือ จ. พระนครศรีอยุธยา มีขนมบ้าบิ่น, อ. เมือง จ. สมุทรปราการ มีขนมจาก, อ. วิเศษชัยชาญ จ. อ่างทอง มีขนมเกสรลำเจียก ฯลฯ

ขนมกับแต่ละวันในชีวิต

นอกจากกินเพื่อความอร่อย ขนมหรือของหวานยังแสดงถึงความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนอีกด้วย การกินขนมแต่ละอย่างจึงขึ้นกับโอกาสต่างๆ เช่น

กินตามเทศกาล ซึ่งเกี่ยวกับประเพณีทางศาสนา หรืองานบุญตามท้องถิ่น เช่น กระยาสารท, กะละแม, ข้าวทิพย์, ข้าวเหนียวแดง, ขนมเข่ง ฯลฯ

กินในงานพิธีเฉพาะ เช่น งานศพ ขนมที่เจ้าภาพใช้เลี้ยงแขกก็จะเป็น สาคูถั่วดำน้ำกะทิ, ข้าวเหนียวเปียกถั่วดำน้ำกะทิ, ข้าวเหนียวแดกงา ฯลฯ งานแต่งงานหมั้น ก็จะเป็น ขนมกง, ขนมสามเกลอ, ขนมใส่ไส้, ขนมชั้น ฯลฯ

กินระหว่างเดินทาง ต้องเป็นขนมแห้งๆ พกพาสะดวก เก็บได้นาน เสียหายยาก เช่น ข้าวตู, ข้าวตอกตั้ง,ขนมโก๋, ผลไม้กวน ฯลฯ

ฯลฯ

แต่ทุกวันนี้ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า, การค้าแข่งขันกันสูง, ความต้องการของผู้บริโภค, การกินขนมหรือของหวานจึงเปิดกว้างมากขึ้น สะดวกมากขึ้น ขนมเกือบทุกอย่างจึงแทบจะไม่ยึดติดกับพิธีกรรม, เทศกาล, ฤดูกาล ฯลฯ อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. “ขนมในภาคกลาง” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2552.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2567