หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ชาวบ้านอยุธยาเป็นอยู่อย่างไร?

สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ประกอบ ชาวบ้านอยุธยา หลังเสียกรุงครั้งที่ 2
สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ภาพจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 บ้านเมืองก็ระส่ำระสาย ผู้คนหนีเอาตัวรอด เคยมีบันทึกที่พูดถึงชะตากรรมของเหล่าเจ้าหญิง-เจ้าชายอยุธยาไว้อยู่บ้าง (อ่านได้ที่นี่) แต่น้อยนักที่จะพูดถึงชีวิตของชาวสยามหรือชาวบ้านอยุธยา หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ในบทความนี้จึงจะมาเผยชีวิตของคนทั่วไปว่าหลังจากกรุงฯ แตกครั้งที่ 2 ชีวิตพวกเขาเป็นอย่างไร

สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองถึงคราววิบัติ “ล่มสลาย” บ้านแตกสาแหรกขาด ภาพนี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

ชาวบ้านอยุธยา หลังเสียกรุงครั้งที่ 2

ในหนังสือ “SHUT DOWN กรุงศรี” (สำนักพิมพ์มติชน) ของ “ปรามินทร์ เครือทอง” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เล่าไว้ว่า ชีวิตของชาวกรุงศรีขณะนั้นเต็มไปด้วย ความอดอยาก การปล้นชิง กวาดต้อน และการสังหารหมู่ 

Advertisement

ภาพที่ปรากฏในบ้านเมืองช่วงเวลานั้น ผู้เขียนคาดว่าน่าจะคล้ายคลึงกับสมัยศึกอลองพญา ที่ชาวเรือถูกสังหาร บรรดาครอบครัวชายหญิงที่อยู่บนบกก็ถูกจับมัดฆ่าตายเป็นกอง ๆ รวมถึงมีซากศพไหลมาตามแม่น้ำจนน้ำดื่มและใช้ไม่ได้

หากอ้างอิงตามพงศาวดารก็จะพบว่ากองทัพพม่าต่างบุกเข้าไปในหัวเมืองต่าง ๆ เผาทำลายเมืองชุมพร ริบเอาเงินของราษฎรไปมากมาย จับผู้คนไปเป็นเชลยศึก ให้ช่วยรบและทำงานด้านโยธา ไม่ว่าจะเป็นขุดคลอง สร้างป้อมค่าย ใครที่หนีกลับมากรุงศรีฯ ไม่ได้ ก็ต้องอยู่ที่พม่าต่อไป

หลังจากที่พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาได้เรียบร้อยแล้ว ความอดอยากก็ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ผู้คนมากมายต่างหาทางหลบหนีจากภัยสงคราม ที่พร้อมจะมีลูกระเบิดลงในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา

เจ้านายและชาวบ้านหลายคนต่างยกครัวหนีเข้าป่า บางคนรวมกันเป็นชุมนุม กองโจร หรือซ่องโจรตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วทั้งราชอาณาจักร อย่างที่เราเห็นในบ้านบางระจัน หรือชาวบ้านบางกลุ่มก็ร่วมกับเหล่าเจ้านายอื่น ๆ เพื่อปกป้องรักษาบ้านเมือง

พื้นที่ที่คนไทยรวมกลุ่มและหนีออกจากพระนครมากที่สุดคือฟากตะวันออก เนื่องจากพม่าอยู่เบาบางกว่าทิศอื่น

สิ่งที่น่าสนใจและหลายคนน่าจะไม่เคยทราบคือเหตุการณ์ “ไทยมุง” ที่เกิดขึ้นในสงครามครั้งนี้ เนื่องจากคนไทยสมัยนั้นหลายคนไม่เคยเห็นเขารบกัน จึงมีคนจำนวนไม่น้อยต่างตามกองทัพไปดูการรบพม่า ผลที่ตามมาคือผู้คนเหล่านั้นต่างถูกสังหารและล้มตายเกลื่อนไปหมด

ภาพทั้งหมดนี้ที่เล่ามาจึงสะท้อนความยากลำบากที่เกิดขึ้นในภาวะกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายครั้งที่ 2 ก่อนที่ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะสามารถรวมก๊กกลุ่มอำนาจ แล้วเถลิงขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกแห่งกรุงธนบุรี

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ปรามินทร์ เครือทอง. SHUTDOWN กรุงศรี. กรุงเทพฯ: มติชน, 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2567