ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่องราวการปลงพระชนม์ “พระยอดฟ้า” พระราชโอรสใน ท้าวศรีสุดาจันทร์ และ สมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นเรื่องสะเทือนใจไม่น้อย เพราะนอกจากสมเด็จพระยอดฟ้าจะสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์แล้ว ยังเชื่อกันด้วยว่า “แม่หยัว” ศรีสุดาจันทร์อยู่เบื้องหลังชะตากรรมดังกล่าวของยุวกษัตริย์ผู้เป็นโอรสของพระนางด้วย
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไรแน่?
เมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์ทำหน้าที่คล้ายผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระยอดฟ้า โอรสที่ยังทรงพระเยาว์พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกว่า “แล้วนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ผู้เป็นสมเด็จพระชนนีช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน”
หลักฐานที่บ่งชี้ว่า การดูแลราชการแผ่นดินแทนสมเด็จพระยอดฟ้าของท้าวศรีสุดาจันทร์ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คือข้อความในเอกสารฮอลันดาของ วัน วลิต ความว่า
“…พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระชัยราชา ขึ้นเสวยราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐ พรรษา… พระองค์ทรงเป็นเจ้าชายที่มีอนาคตไกล ทุกๆ คนเชื่อว่าพระองค์จะเจริญรอยตามพระราชบิดาทุกอย่าง เนื่องจากหลักฐานปรากฏแน่ชัดในบุคลิกและพระราชกรณียกิจประจำวันของพระองค์ ดังเช่น พระองค์ทรงนิยมล่าสัตว์เป็นอย่างยิ่ง ทรงม้าท่องเที่ยวไปทั่วทั้งป่า ทุ่งหญ้าและทุ่งนา การทำยุทธหัตถี และฝึกอาวุธเยี่ยงขุนพลทั้งหลาย ในรัชสมัยของพระองค์ แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ทุกหัวระแหง ไม่มีความขาดแคลนใดๆ ทั้งสิ้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีบันทึกลายลักษณ์อักษร แต่เชื่อได้ว่า “ฝ่ายตรงข้าม” หรือกลุ่มอำนาจอื่นในกรุงศรีอยุธยาไม่พอใจสถานการณ์และสถานภาพดังกล่าวของ “แม่หยัว” จึงพยายามบ่อนทำลายด้วย “ข่าวลือ” ต่าง ๆ นานา ตั้งแต่เรื่องซุบซิบว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์วางยาพิษสมเด็จพระไชยราชาธิราช จนถึงการลักลอบคบชู้กับพันบุตรศรีเทพ
ฝ่ายตรงข้ามที่ว่ามี “ขุนพิเรนทรเทพ” เชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยเป็นแกนนำ ซึ่งการยกย่อง “พระเทียรราชา” พระอนุชาสมเด็จพระไชยราชาธิราชและเชื้อพระวงศ์ผู้ใหญ่เป็นหลัก เพื่อดึงแนวร่วมการสนับสนุนจากขุนนางเก่าที่ล้วนรับราชการตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินองค์เก่า
เมื่อต่อมาท้าวศรีสุดาจันทร์ทรง “อยู่กิน” กับขุนวรวงศาธิราชอย่างเปิดเผย ยิ่งเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามโหมข่าวลือแย่ ๆ จนสมเด็จพระยอดฟ้า ที่คงไม่พอใจ “สามี” คนใหม่ของพระมารดาอยู่เป็นทุนเดิม ให้ถูกชักจูงไปเข้าข้างฝ่ายตรงข้ามท้าวศรีสุดาจันทร์ และเป็นเหตุให้ขุนวรวงศาต้องการกำจัดสมเด็จพระยอดฟ้า
พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฯ บันทึกเหตุการณ์คราวสมเด็จพระยอดฟ้าสิ้นพระชนม์ว่า ช้างต้นพระฉัททันต์ไล่ร้องเป็นเสียงสังข์และประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์ กระทั่ง “เถิงวันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเป็นเหตุ จึงขุนชินราชได้ราชสมบัติ”
ข้อความลักษณะเดียวกันนี้เคยปรากฏเมื่อครั้งสมเด็จพระไชยราชาธิราชสืบราชสมบัติต่อจากยุวกษัตริย์อีกพระองค์คือ “สมเด็จพระรัษฎาธิราช” ด้วยการสำเร็จโทษ จึงแปลความได้ว่า กรณีของสมเด็จพระยอดฟ้าน่าจะถูกขุนชินราชประทุษร้ายและจับสำเร็จโทษเช่นกัน
ทั้งนี้ ต้องพึงระลึกว่า “ข่าวลือ” ว่าท้าวศรีสุดาจันทร์วางยาพิษสมเด็จพระยอดฟ้านั้น มีต้นตอมาจากบันทึกของชาวโปรตุเกสและวัน วลิต ซึ่งอ้างจากคำบอกเล่าของชาวบ้านอีกที กระทั่งมีการเรียบเรียงพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความร้ายกาจของพระนางจึงอยู่ในบันทึกส่วนกลางโดยตรง (อย่างเป็นทางการ)
แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ยาพิษเป็นอาวุธสำคัญที่ “ฝ่ายตรงข้าม” ใช้ทำลายชื่อเสียงท้าวศรีสุดาจันทร์ และได้ผลดีดังไฟลามทุ่ง จนคนโจษจันไปทั่วว่านอกจากแม่หยัวจะวางยา “ผัว” แล้ว แม้แต่ “ลูก” ก็ไม่เว้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “ท้าวศรีสุดาจันทร์” ลอบวางยาพิษฆ่า “สมเด็จพระไชยราชาธิราช” พระสวามี จริงหรือ?
- “แม่หยัว” ฐานะของ “ท้าวศรีสุดาจันทร์” หมายถึงอะไร เกี่ยวกับ “ดาวยั่ว” ไหม?
- “ขุนวรวงศาธิราช” พระสวามี “ท้าวศรีสุดาจันทร์” ที่ชนชั้นเจ้านายไม่นับเป็น “กษัตริย์” แห่งอยุธยา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2557). ท้าวศรีสุดาจันทร์ “แม่หยัวเมือง” ใครว่าหล่อนชั่ว?. กรุงเทพฯ : พรีม แคมเซอร์.
ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์. (2567). การเมืองเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์. เอกสารประกอบการบรรยาย MATICHON HOLIDAY TRIP ‘แม่หยัว’ ศรีสุดาจันทร์ หลังม่านบัลลังก์อยุธยา, 30 มีนาคม 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2567