รู้จัก “พระยายืนชิงช้า” ผู้แทนพระองค์ในพระราชพิธี “โล้ชิงช้า”

นายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย พระยายืนชิงช้า พระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย พิธีโล้ชิงช้า พระยายืนชิงช้า บุคคลสำคัญในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย
พระยายืนชิงช้านั่งบนเสลี่ยง (นายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย) ในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย พ.ศ. 2460 (ภาพจากหนังสือ พระยายืนชิงช้า พ.ศ. 2460)

พระยายืนชิงช้า บุคคลสำคัญในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย

“พระยายืนชิงช้า” คือผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งใน พระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย พระราชพิธีประจำพระนครมาแต่โบราณ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 7 ค่ำ ถึงวันแรม 5 ค่ำ เดือนยี่ ของทุกปี นัยของพิธีนี้คือ การรับและส่งเสด็จพระอิศวรกับพระนารายณ์ที่เสด็จมาเยี่ยมโลกมนุษย์

ตำนานของพระราชพิธีนี้คือ เมื่อพระพรหมสร้างโลกและสรรพสัตว์ ได้ทรงขอให้พระอิศวรคอยพิทักษ์รักษา แต่พระอิศวรทรงเกรงว่าโลกจะไม่แข็งแรง สัตว์โลกทั้งปวงจะเป็นอันตรายล้มตายได้ จึงเสด็จมาทดสอบความแข็งแรงของโลกด้วยการยืนพระบาทเดียวไขว่ห้างบนตัว “พญานาคนาลิวัน” ซึ่งใช้ศีรษะและหางผูกมัดภูเขาระหว่างสองฝั่งมหาสมุทร พระอิศวรจะโล้พระองค์เพื่อทดสอบ หากโลกแข็งแรงดีแล้ว บรรดาพญานาคราชทั้งหลายจะปิติยินดี และลงเล่นน้ำในมหาสมุทรเป็นการเฉลิมฉลอง

ในพระราชพิธี จะแบ่งเป็น 2 งานติดต่อกัน คือ พระราชพิธีตรียัมพวาย คือการรับและส่งเสด็จพระอิศวร และพระราชพิธีตรีปวาย คือการรับและส่งเสด็จพระนารายณ์ มีพราหมณ์ประกอบพิธีที่เทวสถานสำคัญ โดยการรับเสด็จพระอิศวรจะพิเศษกว่า เพราะมีการโล้ชิงช้าด้วย

ราษฎรจึงเรียกพระราชพิธีเหล่านี้อย่างสามัญจนติดปากว่า “งานโล้ชิงช้า”

เสาชิงช้า พิธีโล้ชิงช้า
เสาชิงช้าสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก เว็บไซต์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

พัฒนาการตำแหน่ง “พระยายืนชิงช้า”

ตามที่กล่าวไปข้างต้น ผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในพระราชพิธีและขาดไปไม่ได้คือ “พระยายืนชิงช้า” ถือเป็นผู้แทนองค์พระมหากษัตริย์ และรับบทบาทสมมติเป็นพระอิศวรที่เสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ แล้วทอดพระเนตรการโล้ชิงช้า

แต่เดิมตำแหน่งพระยายืนชิงช้าเป็นหน้าที่ประจำของ “เจ้าพระยาพลเทพ” จตุสดมภ์กรม เป็นจารีตแต่โบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา และยึดถือเรื่อยมาจนถึงปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ถึงแก่อสัญกรรม รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชสุภาวดี และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ สนธิรัตน) ครั้งยังเป็นพระยาราชนิกูล เป็นพระยายืนชิงช้าแทนเจ้าพระยาพลเทพคนละปี ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยายมราช (สุข สินสุข) ครั้งยังเป็นพระยาสุรเสนา ให้รับหน้าที่เป็นพระยายืนชิงช้าประจำทุกปีจนสิ้นรัชกาล

กระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า เจ้าพระยาพลเทพถูกเกณฑ์มาในพระราชพิธีถึงปีละ 2 ครั้ง นอกจากพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวายแล้ว ยังมีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญด้วย ต้องแจกจ่ายเบี้ยเลี้ยงผู้คนในสังกัด จนสิ้นเปลืองเงินทองมากมาย เป็นผลให้กระบวนแห่ก็ไม่ครึกครื้นยิ่งใหญ่เท่าที่ควร ขณะที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ซึ่งมีกำลังทรัพย์มาก ไม่มีโอกาสได้แห่แหนให้เป็นเกียรติยศแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล

รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ผลัดเปลี่ยนกันรับหน้าที่นี้ คือเป็นพระยายืนชิงช้ากันคนละปี โดยเลือกจากตำแหน่งหน้าที่ ความดีความชอบในราชการ และกำลังความพร้อม การผลัดเปลี่ยนพระยายืนชิงช้าในทุก ๆ ปีจึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อมา

บทบาทในพระราชพิธี “โล้ชิงช้า”

เนื่องจากพระยายืนชิงช้าเป็นผู้แทนพระองค์ในพระราชพิธี จึงได้รับพระราชทานเครื่องประกอบเกียรติยศสำหรับใช้ในกระบวนแห่ตามบรรดาศักดิ์

การแต่งกายของพระยายืนชิงช้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

“นุ่งผ้าเยียรบับ แต่วิธีนุ่งนั้นเรียกว่าบ่าวขุน มีชายห้อยอยู่ข้างเบื้องหน้า สวมเสื้อเยียรบับ คาดเข็มขัด สวยเสื้อครุย ลอมพอกเกี้ยวตามบรรดาศักดิ์”

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลือกพระยายืนชิงช้าแล้ว โหรหลวงจะต้องผูกดวงชะตาพระยายืนชิงช้า เพื่อคำนวนฤกษ์สำหรับพระราชพิธี และกำหนดกิริยาอาการที่พึงปฏิบัติ เพื่อบังเกิดความมงคลแก่บ้านเมือง เมื่อใกล้ถึงวันพระราชพิธี พระยายืนชิงช้าจะเข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบถวายบังคมทูลลาไปรับหน้าที่

การโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย จะกระทำ 2 วัน คือ วันขึ้น 7 ค่ำ เวลาเช้า และวันขึ้น 9 ค่ำเวลาบ่าย ราษฎรเรียกว่า “เจ็ดค่ำถีบเช้า เก้าค่ำถีบเย็น” 

เช้าวันขึ้น 7 ค่ำ พระยายืนชิงช้าจะนำตั้งกระบวนที่หน้าวัดราชบูรณะ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เมื่อได้ปฐมฤกษ์ก็ขึ้นเสลี่ยงเคลื่อนขบวนกันไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม ประกอบพิธีต่าง ๆ ภายในวัด ชมนาลิวันโล้ชิงช้าจนครบ 3 กระดาน แล้วขึ้นเสลี่ยงไปยังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เพื่อถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประทับคอยอยู่ และจะพระราชทานผลกัลปพฤกษ์ให้พระยายืนชิงช้าที่นั่น ก่อนจะเคลื่อนกลับวัดราชบูรณะ

ส่วนวันขึ้น 9 ค่ำ เริ่มกระบวนที่หน้าวัดราชบูรณะเช่นกัน แต่จะเคลื่อนไปถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนมาชมการโล้ชิงช้า

กระบวนแห่ของพระยายืนชิงช้าถือเป็นหนึ่งในจุดเด่นของพระราชพิธี เพราะกำหนดให้มีผู้ร่วมขบวนถึง 800 คน (เป็นอย่างน้อย) ยังไม่นับส่วนที่พระยายืนชิงช้าให้แต่งเติมด้วยการจัดเครื่องแห่ให้สวยงาม และสอดคล้องกับหน้าที่ราชการของตน ยกตัวอย่างพระราชพิธีเมื่อ พ.ศ. 2431 พระยายืนชิงช้าคือ “พระยาเกษตรรักษา” (นิล กมลานนท์) อธิบดีกรมนา ฝ่ายพระราชวังบวร มี “คนถือของที่เกี่ยวด้วยการนา คือ พร้าหวด คราด จอบ ฟ่อนเข้า (ข้าว) เคียว เปนต้น” 

หรือ พ.ศ. 2460 นายพลโท พระยาสีหราชเดโชไชย (แย้ม ณ นคร) ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหมเป็นพระยายืนชิงช้า ได้จัดกระบวนจตุรงคเสนาสมัยโบราณ ประกอบด้วยกอง (ทหาร) ราบ กองช้าง กองม้า กองเกวียน และกระบวนจตุรงคเสนาสมัยใหม่ ประกอบด้วยทหารจากกรมกองต่าง ๆ พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัย เป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่ราษฎรที่มาชมอย่างยิ่ง

พระยายืนชิง พิธีโล้ชิงช้า
ขบวนพระยายืนชิง พ.ศ. 2460 (นายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย) (ภาพจากหนังสือ พระยายืนชิงช้า พ.ศ. 2460)

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้เป็นพระยายืนชิงช้าถือว่าได้โอกาสอันดีที่จะมีหน้ามีตาและเกียรติยศอย่างสูงในสังคมราชการ แต่ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายสูงลิ่วที่ผู้รับภารกิจนี้ต้องรับผิดชอบเอง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางท่านที่อาจมีกำลังทรัพย์ไม่มากพอ จึงจัดแต่งกระบวนแต่เพียงครบถ้วนตามระเบียบราชการเท่านั้น มิได้เป็นที่เอิกเกริกจนสิ้นเปลือง

กระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2477 คงเหลือแต่พระราชพิธีพราหมณ์ภายในเทวสถาน เนื่องมาจากค่าใช้จ่ายอันมหาศาลที่ต้องใช้ในพิธีเหล่านี้ ซึ่งไม่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในเวลานั้น

พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) พระยายืนชิงช้า พ.ศ. 2474
พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) พระยายืนชิงช้า พ.ศ. 2474 (ภาพจากหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาค ๕๐ เรื่อง ตำนานเมืองระนอง)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ภัทรพล เปี้ยวนิ่ม. ภาพเก่า – เล่าอดีต : พระยายืนชิงช้า. ใน นิตยสาร ศิลปากร ฉบับที่ 5 ก.ย. – ต.ค. 2560.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2552). พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร.

สมิท, ซามูเอล เจ. (2549). จดหมายเหตุสยามไสมย เล่มที่ ๓ จ.ศ. ๑๒๔๖. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2567