ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย หรือที่หลายคนคุ้นหูกันว่า “พิธีโล้ชิงช้า” เป็นพระราชพิธีประจำปีในราชสำนัก ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
โดยพิธีตรียัมปวาย จะเป็นส่วนที่เรารู้จักว่าพิธี “โล้ชิงช้า” ปฏิบัติขึ้นเพื่อต้อนรับพระอิศวร ในวันขึ้น 7 ค่ำ ตอนเช้า และขึ้น 9 ค่ำ ตอนเย็น ของเดือนยี่ ส่วนพิธีตรีปวาย เป็นพิธีพราหมณ์ มีไว้เพื่อต้อนรับพระนารายณ์ เกิดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 5 ค่ำ เดือนยี่
ปัจจุบัน พิธีโล้ชิงช้าไม่ปรากฏอยู่แล้ว เหลือแค่เพียงการประกอบพระพิธีหลวงในพระบรมราชานุเคราะห์เท่านั้น
เหตุผลที่ยกเลิกพิธีนี้ เป็นเพราะว่าสมัยก่อนเกิดภัยสงคราม รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สูง แต่หลายคนกลับคาดว่าเหตุที่ทำให้พิธีนี้ไม่ปรากฏในสังคมไทยอีกต่อไป เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากตกลงมาจากการทำพิธี
“พิธีโล้ชิงช้า” มีคนตกลงมาเสียชีวิตจริงหรือ?
ในบทความ “ค้นวลี “ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” พราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตายมีจริงหรือ?” ของสันต์ สุวรรณประทีป ที่เขียนลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2525 กล่าวว่า “ได้พยายามอ่านจดหมายเหตุเก่าๆ ก็ไม่เคยพบกล่าวถึงว่าเคยมีพราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตาย”
ด้านเพจเฟซบุ๊ก “เทวสถาน สำหรับพระนคร โบสถ์พราหมณ์” ก็ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า การโล้ชิงช้าในอดีตจะมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร เนื่องจากไม้ไผ่ที่ผูกเงินรางวัลนั้นยาวประมาณ 9-10 เมตร ส่วนพื้นที่ด้านล่างก็ไม่ใช่ปูนอย่างที่เราเคยเห็น แต่เป็นพื้นดินผสมทราย
ด้านผู้คนที่เข้าร่วมทำพิธี ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวสวนมะพร้าวและชาวสวนหมาก ในบริเวณฝั่งธน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญในการโล้ รวมถึงยังมีเชือกไว้สำหรับจับ จึงทำให้ทราบได้ว่ามีความปลอดภัยระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในการทำพิธีอาจจะมีผู้คนตกลงมาจนเกิดอุบัติเหตุได้บ้าง เช่น ขาเคล็ดหรือรอยถลอก
ส่วนคำกล่าวขานที่บอกว่ามีการฝังศพผู้เสียชีวิตใต้เสาชิงช้านั้น เพจ “เทวสถาน สำหรับพระนคร โบสถ์พราหมณ์” เล่าเรื่องนี้ไว้ว่า…
“ส่วนคำที่ว่ามีการฝังศพผู้เสียชีวิตไว้บริเวณใต้เสาชิงช้านั้น น่าจะมาจากเหตุของผู้โล้ชิงช้าไม่สามารถนำถุงเงินรางวัลมาเป็นของตนได้ ก็จะถูกทำโทษโดยกลุ่มคนที่มาด้วย โดยการฝังผู้โล้ชิงช้าครึ่งท่อนล่างไว้ใต้ดินทรายเพื่อให้อายอยู่สักพักใหญ่แล้วนำขึ้นมา
เนื่องจากว่าเงินในถุงรางวัลนั้นมีเงินจำนวน 12 บาท (ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ทองหล่อที่ดินตารางวาละ ๐.๗๕ สตางค์) ซึ่งก็เป็นจำนวนที่มากอยู่
ดังนั้นการอ่านและฟังต่อๆ กันมา ก็ควรจะใช้วิจารญาณไตร่ตรองทั้งเหตุและผล”
อ่านเพิ่มเติม :
- ค้นวลี “ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” พราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตายมีจริงหรือ?
- คติการโล้ชิงช้า กับตำนานพิธีกรรมสืบทอดใน “ชาวเขาอาข่า”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.facebook.com/share/p/umAfVZN86v8WBQBV/
https://www.silpa-mag.com/culture/article_30355
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 สิงหาคม 2567