คติการโล้ชิงช้า กับตำนานพิธีกรรมสืบทอดใน “ชาวเขาอาข่า”

(ภาพจาก "นิตยสารศิลปวัฒนธรรม")

ความเชื่อนับเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คน ไม่ว่าที่ไหนต่างก็มีความเชื่อเป็นเอกลักษณ์ภายในกลุ่มชนเผ่าตนเอง ซึ่งความเชื่อนั้นก็มีความแตกต่างหลากลายกันออกไปตามพื้นที่

“อีก้อ” หรือ “อาข่า” เป็นชนเผาหนึ่งที่อยู่ในตระกูลภาษาธิเบโต – เบอมัน หรือธิเบต – พม่า ซึ่งมีความใกล้ชิดกับชาวเขาเผ่ามูเซอ และจัดว่าเป็นสาขาหนึ่งของพวกโล – โลซึ่งมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในมลฑลยูนานประเทศจีน

เมื่อเกิดสงครามปฏิวัติขึ้นภายในประเทสจีน อาข่าส่วนหนึ่งก็ได้อพยพหาแหล่งทำกินแห่งใหม่ด้วยการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเดิมจากไกวเจาและยูนาน ก่อนเดินทางไกลเข้าสู่ประเทศพม่าทางรัฐว้าและเชียงตุง เมื่อเวลาผ่านไปอาข่าส่วนหนึ่งจากประเทศพม่าก็รอนแรมเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วยการตั้งถิ่นฐานกระจายกันอยู่เป็นหมู่บ้านน้อยใหญ่ ตามพื้นที่ดอยสูงในท้องที่อำเภอแม่จันและอำเภอแม่สายของจังหวัดเชียงราย

ตำนานโล้ชิงช้าพิธีกรรมสืบทอดของอาข่า

อาข่าเป็นชาวเขาอีกเผ่าหนึ่งที่ยังคงความเชื่อพิธีกรรมด้านไสยศาสตร์และบูชาผีบรรพบุรุษไว้อย่างมั่งคงด้วยยึดถือว่าพิธีกรรมประจำเผ่าพันธุ์คือมรดกอันล้ำค่าที่สืบทอดกันมหลายช่วงอายุคน

ผู้หญิงอาข่าโล้ชิงช้าแบบ 4 เสา (ภาพจาก “นิตยสารสิลปวัฒนธรรม”)

โล้ชิงช้า เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวเขาเผ่าอาข่าที่ทุกหมู่บ้านต่างถือว่าเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญแห่งการรื่นเริงเทียบเท่ากับเทศกาลพิธีขึ้นปีใหม่ ส่วนใหญ่เทศกาลโล้ชิงช้าของอีกก้อจะมีขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมหรือเดือนสิบของทุกปี โดยงานเทศการรื่นเริงนี้จะมีพิธีจัดขึ้น 4 วันด้วยกัน

ตูโม่หรือหมอผีประจำหมู่บ้านแสนใจ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายได้ทบทวนถึงตำนานความเป็นมาของพิธีกรรมโล้ชิงช้านี้ว่า “เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นมาเพื่อฉลองรวงข้าว ด้วยฤดูกาลที่มีงานคือช่วงเวลาที่ข้าวไร่บนดอยสูงเริ่มชูช่อออกรวง อีก้อทุกคนในหมู่บ้านจะต้องหยุดงานหนักกลางไร่โล่ง เพื่อเข้าร่วมพิธีนี้โดยพร้อมหน้ากัน

ในตำนานที่ถ่ายทอดกันมาเนิ่นนานบ่งบอกว่า เมื่อเทพอเพรอมิแย ผู้ซึ่งเป็นเทพที่ไม่ใช่ผีและไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งถือกำเนินขึ้นมาเองในโลกได้ทำการสร้างโลกขึ้น เทพอีกสององค์คือ อึมซาและอึมแยก็ได้ถือกำเนินขึ้นมาในโลกด้วยเช่นกัน โดยเทพทั้งสององค์นี้เป็นเทพที่มีอำนาจบันดาลให้เกิดฝนตก และยังสามารถติดต่อกับพระอาทิตย์ให้ส่องแสงและหยุดส่องแสงได้

เทพทั้งสององค์นี้มีบุตรธิดาสององค์ คืออึมซายิ เทพบุตรซึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีโล้ชิงช้า อาข่าทุกคนต่างยึดถือว่าอึมซาแยะคือบรรพบุรุษของพวกเขา ด้วยมีลูกหลานมีชื่อเสียงเรียงนามสืบช่วงกันมาได้ประมาณหกสิบรุ่น จนถึงนายทูแซหรือนายแสนใจแห่งหมู่บ้านแสนใจ

พิธีโล้ชิงช้าจึงจัดขึ้นเพื่อบูชาอึมซาแยะ เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ให้กับข้าวและเพื่อบูชาผีบรรพบุรุษอาข่าทุกหมู่บ้านยึดถือพิธีโล้ชิงช้าเป็นพิธีสำคัญสำหรับผู้หญิงอาข่าทุกคน ฉะนั้นในพิธีนี้ผู้หญิงอาข่าทุกคนทั้งเด็กหญิงสาวและผู้เฒ่าต่างก็แต่งกายอย่างปราณีตสวยงาม ก่อนจะเข้าร่วมชุมนุมกันพร้อมหน้าในบริเวณลานดินโล่งปากทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมนี้

ชิงช้าอาข่ามีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ มีเพียง 2 แบบ ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม นั่นคือ

ชิงช้าแบบ 4 เสา เป็นรูปลักษณ์ชิงช้าที่ทำพิธีโล้กันมาตั้งแต่สมัยเทพอึมซาแยะ ชิงช้าแบบนี้ทำด้วยเสาไม้ 4 ต้น ปักอยู่บนลานดิน โดยปลายยอดไม้ผูกมัดรวบเข้าหากัน มีเชือกที่ทำจากเถาวัลย์ทิ้งห้อยลงมาตรงกึ่งกลางเสา ปลายเชือกเส้นนี้ทำเป็นบ่วง

เด็กอาข่าเล่นชิงช้าหน้าบ้าน (ภาพจาก “นิตยสารศิลปวัฒนธรรม”)

ชิงช้าอีกแบบหนึ่งใช้เสาไม้ 2 ต้น ปักไว้บนลานดินโดยปลายยอดมีง่ามบากสำหรับรองรับแกนกลางและมีแขนยื่นออกไปทั้ง 4 ด้าน ตรงกันข้ามปลายแขนซึ่งเป็นไม้สองอันคู่กันจะผูกยึดปลายด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะคล้ายชิงช้าสวรรค์หรือระหัสวิดน้ำ โดยทั้ง 4 แขนจะมีเชือกผูกห้อยลงมาเป็นเปล ชิงช้าแบบนี้โล้ได้ครั้งละ 4 คน

ชิงช้าอีกแบบหนึ่งคือชิงช้าสำหรับเด็ก สร้างขึ้นคล้ายกับแบบแรก แต่สร้างไว้หน้าบ้านทุกหลัง เพื่อให้เด็กอาข่าได้โล้เล่นกัน ชิงช้าแบบนี้ต่างกับชิงช้าใหญ่ของหมู่บ้านตรงเชือกห้อยตรงกลางสำหรับโล้นั้นทำด้วยเชือกสองเส้น ตรงปลายเชือกที่เด็กขึ้นไปนั่งโล้วางพาดด้วยไม้ไผ่หรือท่อนไม้ จึงมีลักษณะคล้ายเปล

แม้กลุ่มชนเผ่าอาข่าจะมีวิถีชิีวิตห่างไกลจากสังคมอาศัยอยู่ตามดอยสูง แต่อาข่าก็ยังเป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งที่ยังคงรื่นเริงกับประเพณีความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ พิธีกรรมโล้ชิงช้าเป็นข้อบ่งชี้ชัดว่า มรดกหลายช่วงอายุบรรพบุรุษอาข่ายังไม่ได้เลือนหายไปไหน

 


อ้างอิง

บทความ “โล้ชิงช้าบูชาอึมซาแยะ พิธีกรรมของอีก้อ”. โดย นายไหม. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2528

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561