
ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ช่วงปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เกิดข่าวลือที่สร้างความหวาดหวั่นแพร่หลายว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จะ “ก่อกบฏ” ชิงราชสมบัติ เช่นเดียวกันพระเจ้าปราสาททองในสมัยอยุธยา
สถานการณ์วุ่นวาย
ขณะที่รัชกาลที่ 4 กำลังประชวร บ้านเมืองก็เกิดความวุ่นวายพร้อมๆ กันหลายประการ
หนึ่ง คือ เรื่องกงสุลอังกฤษไม่พอใจรัฐบาลสยามที่ไม่ปฏิบัติตามหนังสือสัญญา ถึงกับ “ลดธง” เพื่อแสดงเจตนา “ตัดทางพระราชไมตรี”
หนึ่ง คือ เกิดเรื่อง “เงินปลอม” แพร่หลายในการค้าขายของพระนคร จนบรรดาร้านค้าต่างๆ เกิดความกังวลถึงกับจะปิดตลาดไม่ค้าขาย เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
หนึ่ง คือ เกิดปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุม และพวกอั้งยี่
ฯลฯ
ขณะที่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หรือ “สมเด็จช่วง” เวลานั้น เป็นสมุหกลาโหมต่อจากบิดา และมีรากฐานอำนาจตระกูล “บุนนาค” ที่ญาติพี่น้องเป็นขุนนางตำแหน่งสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง

หาก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์ “ความทรงจำ” ว่า สมเด็จช่วง หรือ “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” ในเวลานั้น เป็นผู้ระงับความวุ่นวายดังกล่าว ซึ่งสรุปบางส่วนมาเป็นตัวอย่างได้ เช่น
กงสุลอังกฤษลดธง

เหตุเกิดจากเจ้าภาษีฝิ่น ซึ่งขึ้นอยู่กับสมเด็จช่วง ไปจับฝิ่นเถื่อน “โรงก๊วนพวกงิ้ว” ย่านวัดสัมพันธวงศ์ มีการต่อสู้กันจนเกิดเพลิงไหม้โรงก๊วน เพลิงได้ลุกลามไปถึงตึกพวกแขกในบังคับอังกฤษ จนเกิดความเสียหายจำนวนมาก เฮนรี่ อาลบาสเตอร์-รักษาการกงสุลอังกฤษ เรียกร้องเจ้าภาษีฝิ่นชดใช้ค่าเสียหาย และให้มีการลงโทษ
หากฝ่ายไทยยืนยันว่าพวกงิ้วเป็นคนวางเพลิง เพื่อหลบหนีการจับกุม สมเด็จช่วงเองก็ยินยอมเพียงจ่ายเงินชดใช้เท่าทุนทรัพย์ที่เสียหายจริงเท่านั้น และพยายามถ่วงเวลารอ โทมัส น๊อกซ์-กงสุลอังกฤษ กลับมาเมืองไทย ด้วยรู้ว่าอาลบาสเตอร์และน๊อกซ์ไม่ลงรอยกัน
เมื่อน๊อกซ์กลับมาเห็นว่า ไม่ควรให้เหตุเล็กน้อยกระทบความสัมพันธ์และประโยชน์ของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย จึงถอนการฟ้องร้อง ส่วนเรื่อง “ลดธง” นั้น อาลบาสเตอร์ชี้แจงว่า “เชือกธงขาด” ไม่ใช่การลดธง จากนั้นก็ลาออกจากตำแหน่งกลับยุโรป (ก่อนที่ภายหลังจะกลับมารับราชการในไทยอีกครั้ง)
โจรผู้ร้าย-อั้งยี่
เกิดคดีอุกฉกรรจ์ขึ้นติดต่อกัน หนึ่งคือ มีโจรขึ้นปล้นกุฏิพระในวัดพระเชตุพนฯ ฆ่าพระธรรมเจดีย์ (อุ่น) ถึงแก่มรณภาพ จากนั้นก็ฆ่ากัปตันชาวอังกฤษเสียชีวิตในกรุงเทพฯ สมเด็จช่วงก็สั่งการให้กวดขันติดตาม จนสามารถจับผู้กระทำความผิดมาลงโทษประหารชีวิตได้ใน 15 วัน
ส่วนภูมิภาคที่มณฑลอยุธยาก็เกิดการปล้มสะดม ทั้งโจรผู้ร้ายมีพวกมาก ทำให้ประชาชนกลัวจนไม่กล้าฟ้องร้อง หรือรับเบิกความเป็นพยานในศาล โจรก็ยิ่งกำเริบได้ใจ แต่สุดท้ายก็สามารถจับ “อ้ายอ่วม อกโรย” หัวหน้าโจรมาประหารชีวิตที่หน้าพะเนียดคล้องช้างต่อหน้าสาธาณชน ไม่ให้คนอื่นกล้าเอาอย่าง
ส่วนพวกอั้งยี่นั้นในรัชกาลที่ 4 กลับมีขึ้นด้วยการค้าเจริญ มีเรือกั่นเข้าออก, โรงสีข้าว, โรงเลื่อยเกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ หลายแห่ง เกิดความต้องการแรงงานจำนวนมาก แต่คนไทยไม่ชอบเป็นแรงงาน คหบดีจีนในไทยจึงจัดหาแรงงานจากเมืองจีนมาขายแรงงาน และให้อยู่ในสังกัดตน มีการเอาวิธีการของสมาคมลับในจีน (อั้งยี่) มากำกับดูแลแรงงานเหล่านี้
ต่อมาพวกอั้งยี่ลุกฮือขึ้นปล้นชิงประชาชนเมืองนครปฐม แม้จับตัวได้แต่ก็เกรงจะเกิดการเอาอย่างในพื้นที่อื่นๆ สมเด็จช่วงจึงจับเอาตัวหัวหน้าอั้งยี่ที่เหลือมาปรับทัศนคติ, ติดตามพฤติกรรม ไม่ให้ก่อเหตุร้าย
ข่าวลือ “กบฏ”
ช่วงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 4 สมเด็จช่วงซึ่งเป็นทั้งแม่ทัพและเสนาธิการ มีอำนาจบารมีมาก จนเป็นเหตุให้มีข่าวลือว่า สมเด็จช่วงคิดการ “ก่อกบฏ” ซึ่งในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกว่า
“ครั้นสิ้นรัชกาลที่ 4 …ท่านเห็นจะรู้สึกลำบากใจในข้อนี้มาแต่แรก จึงได้ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ เป็นผู้สำเร็จราชการในราชสำนัก เพื่อปลดเปลื้องภาระให้พ้นตัวท่านไปส่วนหนึ่ง”
แม้จะไม่สามารถกลบข่าวลือ “ก่อกบฏ” ได้ทั้งหมด แต่ก็คงสยบไปได้หลายส่วน
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จช่วง ขุนนางผู้ “ทรงอิทธิพล” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- ถิ่นฐาน “บ้านสมเด็จ” สมเด็จฯ องค์ไหน องค์เดียว หรือหลายองค์ ?
- เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เคยปฏิเสธรัชกาลที่ 5 ไม่ยอมเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” เพราะเหตุใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ความทรงจำ, สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ. 2494.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2567