ถิ่นฐาน “บ้านสมเด็จ” สมเด็จฯ องค์ไหน องค์เดียว หรือหลายองค์ ?

คำว่า “บ้านสมเด็จ” นั้นปรากฏเป็นชื่อสิ่งปลูกสร้างและสาธารณประโยชน์มากมายหลายแห่งในย่านฝั่งธนบุรี มากจนหลายคนสงสัยว่าที่พูดถึงคำว่า “บ้านสมเด็จ” นั้น เป็นบ้านของสมเด็จฯ องค์ไหน เป็นเพียงองค์เดียว หรือหลายองค์

หากเริ่มพิจารณาจากคำขึ้นต้นว่า “บ้าน” บ้านก็คือคำเรียกขานที่อยู่อาศัยของสามัญชนธรรมดาโดยทั่วไป มิใช่ที่อยู่อาศัยที่เรียกขานถึงวังของเจ้านายในชั้นสมเด็จพระบรมวงศ์ฯ หรือคำเรียกขานที่อยู่อาศัยของพระเถระผู้ใหญ่ชั้นสมเด็จพระราชาคณะหรือสูงกว่านั้น

Advertisement

เมื่อไม่ใช่เจ้านายหรือพระเถระผู้ใหญ่ จึงเหลือเพียงข้าราชบริพารที่รับสนองเบื้องยุคลบาทเท่านั้น ที่จะได้รับการสถาปนาโปรดเกล้าฯ บรรดาศักดิ์ให้สูงสุดได้ถึงชั้นสมเด็จฯ บ้านสมเด็จฯ ที่กล่าวถึงจึงน่าจะเป็นบ้านของ “สมเด็จเจ้าพระยา”

บรรดาศักดิ์ “สมเด็จเจ้าพระยา” นั้น มีครั้งแรกในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้มีการสถาปนาให้มีผู้ได้รับตำแหน่งนี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาอีกเลยนับแต่นั้นเป็นต้นมา ดังนั้นตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยาตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์จึงมีผู้ได้รับการสถาปนาเพียง 4 ท่านเท่านั้น อันได้แก่

1. สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระราชอิสริยยศสุดท้ายก่อนปราบดาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ) สถาปนาในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช

2. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (สมเด็จเจ้าพระยาองค์ ใหญ่) สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 4

3. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 4

4. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 5

ดังนั้น “บ้านสมเด็จ” จึงแน่นอนว่าต้องเป็นสมเด็จเจ้าพระยาท่านใดท่านหนึ่งใน 4 ท่านนี้ แต่เมื่อพิจารณา จากสถานที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างในถิ่นฐานย่านบ้านสมเด็จที่ดูจะเป็นที่คุ้นหูก็คือ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ก็จะพบว่าสถานที่ตั้งของทั้ง 2 แห่งนั้น อยู่ในแนวอาณาบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของคนในตระกูลบุนนาค เมื่อเป็นเช่นนั้นสมเด็จฯ ที่ถูกกล่าวถึง จึงน่าจะหมายถึงสมเด็จเจ้าพระยา 3 ท่านของตระกูลบุนนาคนี้เท่านั้น อันได้แก่

1. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ท่านเป็นบุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี กับเจ้าคุณนวล (เจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล ซึ่งเป็นน้องสาวของพระอมรินทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ) รับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 1 รับพระราชทานตำแหน่งเป็นนายสุดจินดา หุ้มแพรมหาดเล็ก ได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามลำดับ จนถึงรัชกาลที่ 4 จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่”

2. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ท่านเป็นบุตรคนที่ 10 ของเจ้าพระยาอรรคมหา เสนาบดีกับเจ้าคุณนวล และเป็นน้องของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เริ่มรับราชการในรัชกาลที่ 1 ตำแหน่งนายสนิทหุ้มแพรมหาดเล็ก ต่อมารัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นจมื่นเด็กชา หัวหมื่นมหาดเล็ก ฯลฯ จนถึงรัชกาลที่ 4 จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย”

(ซ้าย) สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือ “สมเด็จพระองค์ใหญ่” ขุนนางผู้กุมอำนาจสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 เป็นผู้สนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งเป็นการฝังรากฐานของตระกูลบุนนาคให้มั่นคงต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5
(ขวา) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ “สมเด็จองค์น้อย” น้องชายร่วมสายเลือดของสมเด็จองค์ใหญ่ ไต่เต้าจากตำแหน่งจมื่นเด็กชาในสมัยรัชกาลที่ 3 จนกระทั่งมีอำนาจทางการเมืองไม่ด้อยกว่าพี่ชาย

และ 3. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ ได้รับการศึกษาและฝึกฝนวิชาการต่าง ๆ เป็นอย่างดี เนื่องจากบิดาของท่านเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีว่าการต่างประเทศ และว่าการปกครองหัวเมืองชายฝั่งทะเลมาก่อน เริ่มเข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เป็นนายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร ฯลฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

แต่เดิมถิ่นฐานบ้านเรือนของคนในตระกูลบุนนาคในต้นยุครัตนโกสินทร์นั้นอยู่ในฝั่งพระนคร เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแล้ว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) เป็น พระยาอุไทยธรรม พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนที่ตรงบริเวณกำแพงวังหลวงด้านใต้กับกำแพงวัดโพธิ์ (ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองชั้นใน ปัจจุบันนี้เป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนฯ) สถานที่นี้มีอ้างในหนังสือเรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์ว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ก็เกิดที่นี่

พ.ศ. 2361 ได้มีการขยายพระบรมมหาราชวังลงมาทางใต้ จึงได้รื้อบ้านทุกหลังที่ตั้งอยู่ระหว่างกำแพงวัดด้านใต้กับกำแพงวัดพระเชตุพนฯ พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) จึงได้ย้ายบ้านไปอยู่ที่สวนริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ใต้บ้านกุฎีจีน ซึ่งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งตะวันตกในปัจจุบันนี้

ตามประวัติของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ) พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงบ้านเรือนของพี่น้องสกุลบุนนาคว่าอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี สร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ กันในละแวกนั้น พื้นที่เริ่มจากคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) เลียบตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาจนถึงเขตคลองขนอน (คลองตลาดบ้านสมเด็จเจ้าพระยา)

ที่ดินเหล่านี้ได้รับพระราชทานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 อาจแบ่งได้เป็นเขตใหญ่ ๆ 2 เขต ได้แก่ เขตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับเขตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) พื้นที่ทั้ง 2 เขต นอกจากเป็นที่อยู่อาศัยของบุตรหลานแล้ว ยังได้ถวายพื้นที่สร้างวัดของตระกูลคือ วัดประยุรวงศาวาส วัดพิชยญาติการาม วัดอนงคาราม เป็นต้น วัดทั้ง 3 แห่งนี้เป็นที่บุคคลในสกุลบุนนาคบรรพชาพระภิกษุ สามเณร ประกอบศาสนกิจ และเป็นสถานที่ศึกษาอักขระเบื้องต้นอีกด้วย

จนเมื่อครั้งที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ได้เป็นสมุหพระกลา โหม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานจวนของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งพระนคร ริมคลองสะพานหันปัจจุบันนี้ตรงเวิ่งนาครเขษม (จวนนั้นได้ตกเป็นของหลวง เมื่อเจ้าของถึงแก่อสัญกรรมในปลายรัชกาลที่ 3) ให้เป็นจวนหรือบ้านพักของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และได้พำนักอยู่ 1 ปี ใน พ.ศ. 2398 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) บิดาของท่าน ถึงแก่พิราลัย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขอถวายจวนคืนเป็นที่หลวง เนื่องจากต้องกลับไปดูแลทรัพย์สินของท่านบิดา

ดังนั้นจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ฝั่งธนบุรี แต่มิได้อยู่ที่จวนของสมเด็จเจ้าพระยาฯ บิดาของท่าน โดยจวนนั้นท่านได้ยกให้แก่น้องสาวอยู่ตามเดิม และท่านไปสร้างบ้านอยู่ใหม่ที่บริเวณสวนกาแฟ ริมคลองสานหลังวัดประยุรวงศาวาส

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

กำเนิดโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จ

ใน พ.ศ. 2433 พระยาสีหราชเดโชชัย (โต บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หลาน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินที่เป็นจวนสมเด็จเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้กระทรวงธรรมการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัย ต่อมาโรงเรียนได้ขยายหลักสูตรการศึกษา และมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ได้ย้ายไปรวมกับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน อยู่ที่ตำบลไม้สิงโต ประทุมวัน (เขตติดต่อกับวัดสระปทุมฯ)

หลังจากโรงเรียนราชวิทยาลัยย้ายไปแล้ว กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูบนที่ดินบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่เคยเป็นโรงเรียนราชวิทยาลัยเก่า เรียกว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา”

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2473 ทางราชการมีความจำเป็นจะต้องตัดถนนจากสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพุทธฯ) เชื่อมระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ผ่านสถานที่ตั้งของโรงเรียน ทำให้พื้นที่โรงเรียนมีขนาดเล็กลง ประกอบกับอาคารบางหลังถูกรื้อ ที่เหลืออยู่จึงไม่เพียงพอที่จะสามารถใช้เป็นโรงเรียนประจำได้อีกต่อไป โรงเรียนจึงได้มีการเจรจาขอแลกที่ดินกันกับโรงเรียนศึกษานารี ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และมีจำนวนนักเรียนน้อย กระทรวงธรรมการเห็นชอบ จึงได้ย้ายโรงเรียนศึกษานารี (บ้านท่านผู้หญิงพัน) ไปอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาส่วนที่เหลือจากการตัดถนน

ส่วนแปลงที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนศึกษานารีเดิมก็ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูฯ มาแทนที่ เมื่อภายหลังมีการแลกเปลี่ยนที่ดินกันแล้ว กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้มอบที่ดินให้โรงเรียนฝึกหัดครูฯ อีกจำนวน 2 แปลง เพื่อให้เพียงพอกับการใช้ประโยชน์เป็นโรงเรียนประจำ โดยแปลงหนึ่งมีการก่อสร้างเป็นสนามของโรงเรียน ส่วนอีกแปลงหนึ่งสร้างเป็นหอนอนนักเรียน และห้องเรียน

ดังนั้น “โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา” ซึ่งได้เจริญรุดหน้าจนเปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา” จึงมีที่มาจากการทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียน คำว่า “บ้านสมเด็จ” ในที่นี้จึงหมายถึง สมเด็จเจ้าพระยาฯ องค์นี้

กำเนิดโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ตั้งอยู่ตำบลปากคลองสาน จึงมีผู้เรียกว่าโรงพยาบาลปากคลองสาน แต่เนื่องจากหลังคาของอาคารโรงพยาบาลมุงด้วยกระเบื้องสีแดง บางครั้งคนทั่วไปจึงเรียกว่า “โรงพยาบาล หลังคาแดง”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลรักษาคนวิกลจริตขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2434 โดยใช้บ้านของพระยาภักดีภัทรากร (เจ้าสัวเกงซัว) เจ้าภาษีนายอากรผู้ซึ่งยกอาคารนี้เพื่อใช้ชำระหนี้หลวง อาคารขนาดใหญ่ 3 หลังเป็นเก๋งจีนเก่า และมีอาคารเล็ก ๆ โดยรอบอีกจำนวนหนึ่ง ใช้เป็นหอผู้ป่วยและกักกัน รักษาคนวิกลจริตด้วยวิธีโบราณที่เรียกว่า “นัดยา”

ต่อมามีผู้ป่วยทวีมากขึ้นและมีวิธีการรักษาแบบทันสมัย จำเป็นต้องขยายโรงพยาบาล ดังนั้นใน พ.ศ. 2455 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ซื้อที่ดินซึ่งเป็นของบุตรหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สร้างเป็นโรงพยาบาลแห่งใหม่ ห่างจากสถานที่เดิม 600 เมตร ที่ดินด้านหน้าติดคลองสมเด็จเจ้าพระยา (คลองสาน) เป็นที่ดินของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) บุตรของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ที่ที่มีกำแพงอยู่แล้วคือบ้านของพระยาราชานุประพันธ์ (เปีย บุนนาค) และที่ดินของราษฎรบริเวณใกล้เคียง รวมเนื้อที่ 44 ไร่ครึ่ง

เมื่อซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลรักษาคนวิกลจริต ในสังกัดกรมแพทย์ กระทรวงนครบาล พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลคนเสียจริต” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลโรคจิต” และเมื่อโอนเข้าสังกัดกรมสาธารณสุข ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โรงพยาบาล สมเด็จเจ้าพระยา” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าของสถานที่

ดังนั้น คำว่า “สมเด็จเจ้าพระยา” ที่เป็นเจ้าของสถานที่นั้น หากพิจารณาจากการถือกรรมสิทธิ์สุดท้ายที่ตกทอดมายังเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ที่ได้รับตกทอดมาจากเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ซึ่งเป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ คำว่า “สมเด็จเจ้าพระยา” ก็น่าจะหมายถึง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

แต่เนื่องจากที่ดินที่ก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น มีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นที่ดิน “บ้านสวน” ของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ซึ่งเป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ดังนั้นไม่ว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็ดี หรือเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีก็ดี ต่างก็ล้วนได้รับมอบที่ดินส่วนนี้มาจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ซึ่งเป็นบิดาด้วยกันทั้งสิ้น คำว่า “สมเด็จเจ้าพระยา” ก็น่าจะหมายความถึง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ได้ด้วยเช่นกัน

ภาพประกอบเนื้อหา – โรงพยาบาลคนเสียจริต (ภาพจากเพจ หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ)

คลองสานสมเด็จ

นอกจากโรงเรียนและโรงพยาบาลแล้ว สาธารณูปโภคอีกส่วนหนึ่งที่มีคำว่า “สมเด็จ” อยู่ แต่ปัจจุบันไม่ได้ถูกเรียกขานเช่นนั้นแล้ว คือ “คลองสาน” ซึ่งแต่เดิมเรียกกันว่า “คลองสานสมเด็จ”

คลองสานนี้มีมาแต่เดิมมีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ต้นคลองเริ่มจากตรงที่ต่อกับคลองบ้านสมเด็จ (คลองสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ที่หน้าวัดพิชยญาติการาม ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ป้อมป้องปัจจามิตร คลองสานนี้ตัดผ่านคลองต่าง ๆ หลายคลอง เช่น คลองจีน คลองวัดทองธรรมชาติ คลองวัดทองนพคุณ และคลองลาดหญ้า เป็นต้น เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ต่อเรือกำปั่นจักรข้างขึ้นมาลำหนึ่ง ชื่อ “อรรคราชบรรยง” โรงต่อเรืออยู่ตรงข้ามกับหน้าวัดพิชยญาติการาม สมเด็จเจ้าพระยาฯ ขุดคลองสานเดิม ขยายให้กว้างและลึกเพื่อจะนำเรือลงน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยา

การเรียกชื่อคลองสานนั้นจะมีต่าง ๆ กัน บ้างเรียกคลองสานสมเด็จ บางทีเรียกคลองลัดวัดอนงค์ ส่วนบริเวณฝั่งใต้ย่านคลองวัดทองนั้น มีคลองที่ขุดใหม่ในสมัยเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เรียกว่า คลองสานเจ้าคุณกรมท่า

ส่วนคลองบ้านสมเด็จนั้นอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดอนงคาราม ด้านปากคลองเป็นที่ตั้งบ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ต่อมาท่านได้บูรณะวัดร้างใกล้กับวัดอนงคารามเมื่อ พ.ศ. 2394 โดยสร้างขึ้นใหม่ ต้องใช้วัสดุก่อสร้างจำนวนมาก และขนมาทางคลอง บริเวณนั้นเป็นป่าช้าไม่มีบ้านเรือนมาก คลองนี้จึงก่อสร้างขุดกว้างพอที่เรือบรรทุกวัสดุก่อสร้างและหินสลักจากเมืองจีน เพื่อมาประดับตกแต่งอารามผ่านเข้ามาได้ ในตอนแรกเรียกว่าคลองตลาดสมเด็จ ต่อมาเป็นคลองสมเด็จเจ้าพระยา ในปัจจุบันเรียกว่า คลองวัดอนงคาราม

คลองในเขตคลองสานส่วนใหญ่จะเป็นคลองที่คนในตระกูลบุนนาคเป็นผู้ขุดเกือบทั้งสิ้น นาวาเอกพระยาชลธารวินิจฉัย (มุ้ย ชลานุเคราะห์) ได้เล่าประวัติคลองเขตบ้านสมเด็จเจ้าพระยาว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ขุดขยายคลองในการสร้างบ้านและวัด สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยกับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ขุดขยายคลองในการสร้างเรือกำปั่นหลวง และเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ขุดคลองในการสร้างสวนสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

บริเวณคลองสาน-บ้านสมเด็จ (ภาพจาก แผนที่กรุงเทพฯ และธนบุรี จ.ศ.1249 (พ.ศ.2430))

จากแผนที่กรุงเทพฯ (Plan of Bangkok) ปี ค.ศ. 1888 จัดทำโดย McCarthy พิมพ์ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2431 แสดงถึงถิ่นฐานบ้านของบุคคลในตระกูลบุนนาค เริ่มแต่คลองบางหลวงเลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นบ้านของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้แบ่งที่ดินของบ้านพระยาอภัยสงคราม (นกยูง บุนนาค) ให้ ถัดมาจะเป็นบ้านของพระยาจันทบูรณ์ (พระยาอรรคราชนารถภักดี – หวาด บุนนาค) ถัดลงมาเป็นบ้านของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค)

เรื่อยลงมาจนถึงคลองขนอน คลองตลาดบ้านสมเด็จ จะเป็นเขตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย จวนของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยอยู่บริเวณวัดอนงคาราม ใกล้กับวัดร้างที่ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งอารามแล้วน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นพระอารามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2384 ได้พระราชทานนามว่า วัดพระยาญาติการาม ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามใหม่ว่า วัดพิชยญาติการาม ในการสร้างวัดนี้ท่านได้ให้ขุดคลองสมเด็จหรือคลองวัดอนงคาราม ส่วนท่านผู้หญิงน้อย ภรรยาสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ได้สร้างวัดอนงคารามขึ้น และได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงเมื่อ พ.ศ. 2393

ดังนั้นในส่วนของ “คลองสานสมเด็จ” หรือ “คลองสานบ้านสมเด็จ” นั้น น่าจะได้มาจากการที่คลองบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งจวนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ประกอบกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้ขุดและขยายคลองในบริเวณนั้นให้มีการเชื่อมถึงกัน แม้ในภายหลังสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะก่อสร้างอู่ต่อเรือและมีการขุดขยายคลองสานให้กว้างและลึกขึ้น แต่ชื่อนี้ก็ถูกเรียกมาแต่เดิมอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นสมเด็จฯ ในที่นี้จึงน่าจะหมายถึง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ

ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้นดังที่กล่าวมาแล้ว คำว่า “บ้านสมเด็จ” ที่ถูกเรียกขานถึงสถานที่ต่าง ๆ กันใน ย่านฝั่งธนบุรี จึงไม่สามารถสรุปชี้ชัดได้ว่า จะเป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใดบ้าง แต่ที่สามารถสรุปได้ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใด ก็ล้วนแต่เป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใดองค์หนึ่งในสามองค์ของตระกูล “บุนนาค” ทั้งสิ้น

 


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งมาจากบทความ ถิ่นฐาน “บ้านสมเด็จ” สมเด็จฯ องค์ไหน? เขียนโดย รศ. ยุวดี ศิริ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2555

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2564